‘อังกฤษ’ ทุ่ม 1.63 ล้านล้านบาท แก้ปัญหาค่าครองชีพแพง | กันต์ เอี่ยมอินทรา
วิกฤติน้ำมันและราคาเชื้อเพลิงแพงถือเป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาต้นน้ำที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งเงินเฟ้อ ปัญหาค่าครองชีพสูง ตลอดจนปัญหาการเมือง
รัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้หรือแก้ไขได้ไม่ดีไม่เข้าตาประชาชน ก็มีแนวโน้มเจอศึกหนักจากประชาชนผู้อดอยากในประเทศ ปัญหาปากท้อง จึงเสมือนเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลที่ไร้ความสามารถ อย่างเช่นกรณี ศรีลังกา เป็นต้น
อังกฤษเองก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก วานนี้ (20 ก.ค.) สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษประกาศว่า อัตราเงินเฟ้อในประเทศพุ่งแตะ 9.4% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งถือเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 40 ปี และเหตุผลที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงเช่นนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอังกฤษและการเลือกออกจากประชาคมยุโรปที่คนอังกฤษเป็นคนโหวตเอง
เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ประชาชนในอังกฤษจับจ่ายใช้สอยกันทุกวันนั้น ไม่ได้ผลิตในประเทศเสียหมด การนำเข้าสินค้าจากยุโรปเพื่อมากินมาใช้ในอังกฤษนั้นจึงมีความจำเป็น และเมื่อการออกจากประชาคมยุโรปเสร็จสิ้นสมบูรณ์ จึงทำให้สินค้าบางประเภทนั้นมีราคาที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากเขตการค้าเสรีที่ถูกยกเลิกไปด้วยการโหวตของคนอังกฤษเอง
อีกปัจจัยหนึ่งคือ การดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของอังกฤษที่สนับสนุนยูเครน การสู้รบที่มีมาอย่างต่อเนื่องหลายเดือนส่งผลให้เกิดวิกฤติพลังงานทำให้ราคาน้ำมันและพลังงานสูงขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจหากธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะประกาศถึงคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้อีกและอาจแตะระดับ 11% ในช่วงก่อนฤดูหนาวเนื่องจากอัตราการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นตามวัฏจักรการใช้พลังงาน
หากอธิบายด้วยตัวอย่างและภาษาที่เข้าใจง่ายที่สุด อัตราเงินเฟ้อที่ 9.4% หมายความว่า ของทุกอย่างในประเทศจะแพงขึ้น 9.4% เช่น หากปีที่แล้วเคยซื้อนมหรือเนื้อไก่ที่หน่วยละ 1.00 ปอนด์ ในปัจจุบันจะต้องเสียเงินถึง 1.094 ปอนด์เพื่อให้ได้ปริมาณนมหรือเนื้อไก่เท่าปริมาณปีที่แล้ว
ถึงแม้รัฐบาลอังกฤษจะไม่ได้เพิกเฉยและออกนโยบายช่วยเหลือประชาชนมูลค่าสูงถึง 37,000 ล้านปอนด์ (ราว 1.63 ล้านล้านบาท) แต่ด้วยภาวะข้าวยากหมากแพงนี้เองประกอบกับประเด็นทางจริยธรรมและการจัดการวิกฤติโควิดของผู้นำรัฐบาลอังกฤษ จึงก่อให้เกิดกระแสกดดันให้ผู้นำอังกฤษลาออกจนเป็นผลสำเร็จ
แพ็กเกจช่วยเหลือประชาชนมูลค่ารวม 37,000 ล้านปอนด์นี้ โดยประมาณการว่าประชาชนผู้มีรายได้น้อยจำนวนกว่า 8 ล้านครัวเรือนจะได้รับเงินช่วยเหลือมูลค่า 1,200 ปอนด์ (ประมาณ 53,000 บาท) ซึ่งทยอยแบ่งจ่ายโดยเงินก้อนแรกกว่า 326 ปอนด์จะถึงมือ 8 ล้านครอบครัว ซึ่งคิดเป็นจำนวน 1 ใน 4 ของจำนวนครอบครัวทั้งหมดในประเทศภายในสิ้นเดือนนี้
กฎเกณฑ์คุณสมบัติการได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพนี้ก็ง่ายดาย โดยรัฐอาศัยข้อมูลที่ถูกจัดเก็บอยู่ในระบบเดิมทั้งระบบการเสียภาษี ระบบการลงทะเบียนผู้พิการและคนชรา ไม่ต้องมาลงทะเบียนใหม่หรือแย่งชิงสิทธิให้วุ่นวายเหมือนในบางประเทศที่เลือกใช้นโยบายช่วยเหลือแบบจำกัด ในระบบใครเร็วใครได้
แพ็กเกจช่วยเหลือประชาชน 37,000 ล้านปอนด์นี้ ยังรวมถึงบุคคลทุพพลภาพที่จะได้รับเพิ่มเติมอีก 150 ปอนด์และในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุอยู่บ้านก็จะได้รับเพิ่มเติมอีกครอบครัวละ 250-600 ปอนด์ ตามแต่เงื่อนไขสภาพที่ต่างกันไปในแต่ละครอบครัว
ถึงแม้จะออกนโยบายช่วยเหลือประชาชนขนาดนี้ รวมถึงมีผลงานในการนำอังกฤษออกจากประชาคมยุโรปอย่างสมบูรณ์ ประกอบกับฉันทามติจากการชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้นำอังกฤษบริหารประเทศต่อไปได้ หากไร้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมในการปกครอง