ศรีลังกาส่อเค้าวุ่นต่อหลัง‘วิกรมสิงเห’นั่งปธน.
ความวุ่นวายทางการเมืองในศรีลังกาที่มีต้นตอมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศ จนทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วง บุกหน่วยงานรัฐ เผาทำลายข้าวของที่เป็นของทางการ ยังไม่จบลงง่ายๆ แม้รัฐสภาศรีลังกาได้ลงคะแนนเสียงเลือก“รานิล วิกรมสิงเห” นั่งเก้าอี้ปธน. ของประเทศ
วิกรมสิงเห ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ หลังจากรัฐสภาศรีลังกาได้จัดการลงคะแนนเพื่อสรรหาประธานาธิบดีคนใหม่ในวันนี้ และเทคะแนนให้กับวิกรมสิงเหในท้ายที่สุด แม้จะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนทั่วประเทศก็ตาม
วิกรมสิงเหได้รับคะแนนเสียงในรัฐสภาจำนวนมากถึง 134 เสียงจากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 219 คน แซงหน้าคู่แข่งคนอื่น ๆ อย่างขาดลอย
ด้านนักศึกษาและประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ของศรีลังกาวางแผนที่จะออกมาประท้วงเพื่อต่อต้านวิกรมสิงเห หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มวลชนชาวศรีลังกาได้ก่อเหตุประท้วงเพื่อบีบให้วิกรมสิงเหลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังได้จุดไฟเผาบ้านพักของเขาในกรุงโคลัมโบเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมาด้วย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เศรษฐกิจศรีลังกาเผชิญกับวิกฤตครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 2491 เพราะผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และการที่รัฐบาลของปธน.โกตาพญา ราชปักษา ใช้มาตรการปรับลดภาษี
นอกจากนี้ ศรีลังกายังเผชิญวิกฤตเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นกว่า 50% และภาวะขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิง และยารักษาโรค ซึ่งส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากพากันออกมาประท้วงบนท้องถนนเป็นเวลานานหลายเดือน เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีราชปักษาออกจากตำแหน่ง
ด้าน"คริสตาลินา จอร์เจียวา"ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)เตือนประเทศที่มีระดับหนี้สูงและเครื่องมือนโยบายการเงินจำกัดว่าอาจเผชิญชะตากรรมที่คล้ายกันกับศรีลังกา
ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวในการประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มจี 20 และผู้ว่าการแบงก์ชาติของประเทศต่างๆ ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกหม่นหมองลง และมีความไม่แน่นอนสูงมาก ขณะที่ความเสี่ยงด้านลบที่ไอเอ็มเอฟเคยเตือนไว้ก่อนหน้านี้ หลายๆ อย่างได้ปรากฏเป็นรูปธรรมแล้ว
ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ยังบอกด้วยว่า ประเทศที่มีระดับหนี้สูง และขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่จำกัดจะเจอกับแรงกดดันเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออก 4 เดือนติดต่อกัน ทำให้ความฝันที่จะไล่ตามประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ในความเสี่ยง
จอร์เจียวา ไม่ได้ยกตัวอย่างประเทศใดเฉพาะเจาะจัง แต่สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า หลายประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับศรีลังกากำลังได้รับผลกระทบจากแรงต้านที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินที่อ่อนลง ระดับหนี้ที่สูง และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ร่อยหรอลง
ขณะที่นักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่า ศรีลังกาไม่เพียงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการเศรษฐกิจและการเมืองในกลุ่มประเทศเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนภัยที่ดังไปทั่วโลกในเวลานี้
“โจช ลิปสกี้” ผู้อำนวยการสถาบันภูมิเศรษฐศาสตร์ของแอตแลนติก เคาน์ซิล เชื่อว่า สถานการณ์ในศรีลังกามีส่วนเชื่อมโยงและผูกพันกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด เพราะรูปแบบของปัญหาและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับมหภาคของประเทศเหล่านี้ในภาวะวิกฤตโลกมีความคล้ายคลึงกัน