ยุโรปคลายคว่ำบาตรรัสเซีย -ส่งออกน้ำมันประเทศที่ 3
ยุโรปพยายามจำกัดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาค ด้วยการหันมาแก้ไขมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันและพลังงานจากรัสเซีย ที่เปิดทางให้รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซียอย่าง"รอสเนฟต์" และ"ก๊าซพรอม" สามารถส่งออกน้ำมันไปประเทศที่สามได้
ที่ผ่านมา บริษัทพลังงานรายใหญ่อย่าง ไวทอล เกลนคอร์ ,ทราฟิกูระ,เชลล์, และโททาล หยุดขายค้าน้ำมันรัสเซียให้แก่บุคคลที่ 3 โดยอ้างมาตรการคว่ำบาตรของอียู ซึ่งครอบคลุมถึงข้อจำกัดด้านประกันภัย
แต่ล่าสุด บริษัทต่างๆ ของอียูได้รับอนุญาตให้ซื้อน้ำมันดิบขนส่งทางทะเลของรัสเซียและส่งออกมันไปยังประเทศที่สามได้แล้ว ภายใต้การปรับแก้มาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดเล่นงานรัสเซีย ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ (22 ก.ค.) ซึ่งระบุว่าจะไม่ห้ามการชำระเงินที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าลักษณะดังกล่าวอีกต่อไป
“เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ที่จะสร้างผลกระทบทางลบในรูปแบบต่างๆต่อความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานทั่วโลก อียูตัดสินใจปรับแก้ข้อยกเว้น ไม่ห้ามทำธุรกิจกับบางบริษัทที่มีรัฐเป็นเจ้าของ ในเรื่องการทำธุรกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและการขนส่งน้ำมันไปยังประเทศที่สาม” แถลงการณ์ของอียูเมื่อวันพฤหัสบดี (21 ก.ค.) ระบุ
อียูกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเกี่ยวกับสงคราม โดยตั้งเป้าไปที่ผู้คนมากกว่า 1,000 คน รวมถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล รวมถึงผู้มีอำนาจที่สนับสนุนรัสเซีย ธนาคาร ภาคถ่านหิน และอื่นๆ
เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ผู้นำสหภาพยุโรปตกลงที่จะห้ามการนำเข้าน้ำมันของรัสเซียส่วนใหญ่เข้าในกลุ่มภายในสิ้นปี เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อรัสเซียในการประชุมสุดยอดที่เน้นการช่วยเหลือยูเครนด้วยแพ็คเกจการสนับสนุนทางการเงินใหม่
การคว่ำบาตรครอบคลุมน้ำมันของรัสเซียที่นำเข้าทางทะเล แต่ได้รับการยกเว้นชั่วคราวสำหรับการนำเข้าที่จัดส่งทางท่อ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญอย่างมาก
การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซียของอียู มีขึ้นหลังจาก"วิคเตอร์ ออร์บัน" นายกรัฐมนตรีฮังการี กล่าวระหว่างปราศรัยในโรมาเนียเมื่อวันเสาร์(23ก.ค.)ว่า อียู จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ใหม่เกี่ยวกับการทำสงคราของรัสเซียในมยูเครน เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรลงโทษรัสเซียไม่ได้ผล พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลรัสเซียและรัฐบาลยูเครน เปิดเจรจากันโดยตรงเพื่อหาทางยุติสงคราม
“มีความจำเป็นต้องดำเนินยุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งควรมุ่งเน้นไปที่การเจรจาสันติภาพและร่างข้อเสนอสันติภาพที่ดี แทนที่จะมุ่งเน้นการเอาชนะกันในสงคราม” ออร์บัน กล่าว
ออร์บัน ซึ่งได้รับเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฮังการีเป็นสมัยที่ 4 เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เน้นย้ำว่า ฮังการี ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต้) จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามในประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครน
การแสดงความเห็นของออร์บันมีขึ้นในช่วงที่เขากำลังเผชิญกับความท้าทายหนักหน่วงที่สุดนับตั้งแต่ก้าวสู่อำนาจในปี 2564 ทั้งปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานสู่เลข 2 หลัก สกุลเงินโฟรินต์อ่อนค่า และยังคงรอเงินทุนจากอียู ท่ามกลางประเด็นพิพาทกับบรัสเซลส์เกี่ยวกับมาตรฐานความเป็นประชาธิปไตย
ที่ผ่านมา ออร์บัน เน้นย้ำมาตลอดว่าฮังการีไม่สนับสนุนมาตรการคว่ำบาตร หรือจำกัดการนำเข้าก๊าซรัสเซียของอียู โดยมองว่าจะบ่อนทำลายเศรษฐกิจของอียูโดยรวม ซึ่งต้องพึ่งพิงก๊าซนำเข้าจากรัสเซียเป็นอย่างมาก
ออร์บัน ระบุด้วยว่า ยุทธศาสตร์ของตะวันตกในเรื่องยูเครน โดยเฉพาะมาตรการคว่ำบาตรต่างๆจะประสบความล้มเหลว รัฐบาลประเทศต่างๆ ในยุโรปกำลังล้มครืนเหมือนโดมิโน และราคาพลังงานจะพุ่งสูงกว่านี้
ไม่กี่สัปดาห์ก่อน เจพี มอร์แกน ธนาคารชั้นนำของสหรัฐ ออกมาเตือนว่าหากรัสเซียระงับการส่งออกน้ำมันโดยสิ้นเชิง เศรษฐกิจโลกอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจนทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 4 เท่า เป็นเกือบ 400 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทันทีแต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบร่วงลงมาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะความหวาดหวั่นเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยระดับโลก ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกลดน้อยลง
นี่น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไป เพราะการขึ้นลงของราคาน้ำมันและก๊าซมีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องจนไม่สามารถพิจารณาจากแค่“อุปสงค์-อุปทาน ”ได้อีกต่อไป