แบงก์ชาติ “เมียนมา” สั่งระงับจ่ายหนี้ต่างประเทศ พยุงวิกฤติได้แค่ไหน ต้องแลกกับอะไร?
แบงก์ชาติ “เมียนมา” ออกคำสั่งให้ธุรกิจและผู้กู้รายย่อยระงับการจ่ายคืนหนี้ต่างประเทศ ซึ่งจะมีส่วนให้ธุรกิจในเมียนมาถูกลดความน่าเชื่อถือ ชวนพิจารณาเหตุผลของคำสั่งดังกล่าวนี้ว่า เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร?
เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ธนาคารกลางเมียนมา หรือแบงก์ชาติเมียนมาได้ออกประกาศให้ธุรกิจ และผู้กู้รายย่อย ระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งก่อนหน้านี้ หรือช่วงเดือนเม.ย. ทางการเมียนมาได้สั่งห้ามนำเข้ารถยนต์ และสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ พร้อมกับสั่งให้ทุกบริษัทแลกเงินต่างประเทศที่มีอยู่ให้เป็นเงินจ๊าด ภายใน 24 ชั่วโมง
คำสั่งทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากความต้องการควบคุมการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ หวังสกัดการอ่อนค่าลงของเงินจ๊าด เพื่อป้องกันไม่ให้เงินสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ลดลงไป
การป้องกันเงินสำรองฯ ในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากอะไร?
นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในเดือนก.พ. ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจและการเงินของเมียนมาก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการคว่ำบาตรของนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐที่ใช้มาตรการตอบโต้การรัฐประหารของเมียนมา ด้วยการแช่แข็งเงินสำรองฯ เมียนมาที่ฝากไว้ในสหรัฐ เป็นผลให้เงินสำรองฯ ที่ใช้ได้จริงของเมียนมาลดลง
นอกจากนี้ ภาวะความขัดแย้งที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหาร จนก่อตัวเป็นสงครามกลางเมืองนั้น มีผลต่อการลงทุนและการท่องเที่ยวของต่างชาติ ทำให้รายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศส่วนนี้หายไป และเกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดตามมา
ขณะเดียวกัน เมียนมายังคงมีหนี้ต่างประเทศคงค้างอยู่ราว 16% ของจีดีพี หรือประมาณ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่เงินสำรองฯ ที่ถูกบันทึกล่าสุดในเดือนก.พ. ปี 2564 อยู่ที่ราว 7,705 ล้านดอลลาร์ หรือเพียง 0.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศคงค้าง และหากพิจารณาในปัจจุบันที่ค่าเงินจ๊าดอ่อนตัวลงไปแล้วกว่า 33% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ จากปีที่ผ่านมา รวมไปถึงผลของการขาดดุล จึงคาดการณ์ได้ว่า ระดับเงินสำรองฯ ของเมียนมาในปัจจุบัน ต่ำกว่าที่มีการบันทึกล่าสุด
ทั้งหมดที่กล่าวไป จึงเป็นที่มาให้ทางการเมียนมาพยายามจัดการกับการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ ผ่านการจำกัดสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ แม้กระทั่งสินค้าจำเป็นอย่าง น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันปรุงอาหารก็ถูกควบคุมให้มีการนำเข้ามาเท่าที่จำเป็น รวมไปถึงการให้บริษัทในประเทศถือสินทรัพย์เป็นเงินท้องถิ่น และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา แบงก์ชาติเมียนมาก็สั่งการให้บริษัท รวมถึงผู้กู้รายย่อย ที่มีการก่อหนี้ต่างประเทศ ระงับการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นทั้งที่อยู่ในรูปแบบเงินสดและอื่นๆ
นโยบายข้างต้นของทางการเมียนมา เกิดขึ้นเพื่อรักษาระดับเงินสำรองฯ ไม่ให้ลดลงไปอีก มิเช่นนั้นอาจเป็นการซ้ำเติมสถานะทางการเงินของเมียนมาให้ย่ำแย่ลงกว่าที่เป็นอยู่
ระงับจ่ายหนี้ต่างประเทศช่วยรักษาเงินสำรองฯ อย่างไร?
หากพิจารณาจากหลักการ พบว่า การระงับจ่ายคืนหนี้ต่างประเทศ จะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินจ๊าด และช่วยให้แบงก์ชาติสามารถคงระดับเงินตราต่างประเทศในคลังเงินสำรองฯ ไว้ได้
หนี้ต่างประเทศ คือ หนี้ที่ผู้กู้ กู้ยืมมากจากเจ้าหนี้ในต่างประเทศ ทำให้การชำระเงินคืนไม่ว่าจะเป็นเงินต้นหรือดอกเบี้ย มักต้องคืนในรูปของเงินตราต่างประเทศ ทำให้เมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายคืนหนี้ต่างประเทศ ผู้กู้จำเป็นจะต้องหาเงินตราต่างประเทศไปคืนเจ้าหนี้ ตรงนี้เองที่จะทำให้เกิดแรงซื้อเงินตราต่างประเทศในตลาด และหากแรงซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นผลให้ค่าเงินตราต่างประเทศแพงขึ้น หรือแข็งค่าขึ้น
ในทางตรงกันข้าม ค่าเงินจ๊าดจะอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศที่มีความต้องการสูง และหากอ่อนค่าลงไปมากๆ แบงก์ชาติอาจมีความจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงเพื่อไม่ให้ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าลงมากจนเกินไป โดยการแทรกแซงที่เกิดขึ้นคือการใช้เงินตราต่างประเทศที่มีอยู่ในคลัง ประกอบกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้ระดับเงินสำรองฯ ที่มีอยู่ลดลง
ฉะนั้น การระงับการจ่ายคืนหนี้ต่างประเทศ จึงเป็นดึงเอาความต้องการในเงินตราต่างประเทศบางส่วนออกจากตลาด ซึ่งแบงก์ชาติเมียนมาคงเล็งเห็นว่า อาจจะช่วยพยุงระดับเงินสำรองฯ ที่มีอยู่นี้ต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเช่นนี้ จะทำให้ธุรกิจในประเทศถูกลดเครดิตความน่าเชื่อถือลง การกู้ยืมเงินกับต่างประเทศรอบหน้าก็จะทำได้ยากขึ้น หรือมีต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้นไปด้วย ซึ่งนับเป็นผลกระทบในระยะยาวที่เศรษฐกิจเมียนมาต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้
--------------------------------------------
อ้างอิง
ผู้จัดการออนไลน์ (1) / (2) , CEIC Data