‘ลดใช้ก๊าซธรรมชาติ’ทางเลือกเพื่อความอยู่รอดของยุโรป
‘ลดใช้ก๊าซธรรมชาติ’ทางเลือกเพื่อความอยู่รอดของอียู ด้านหัวหน้าฝ่ายนโยบายพลังงานของสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า การที่ก๊าซพรอมจะปรับลดการส่งก๊าซไปยังยุโรปเพิ่มอีกในสัปดาห์นี้ เป็นผลมาจากแรงจูงใจทางการเมือง
ตอนนี้ หลายประเทศในยุโรปเห็นชอบข้อตกลงลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ 15% เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมพร้อมรับมือหากรัสเซียหยุดส่งก๊าซแก่ทวีปยุโรปเป็นการถาวร
สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศแผน ประหยัดก๊าซเพื่อฤดูหนาวที่ปลอดภัย ซึ่งภายใต้แผนนี้จะบังคับให้ 27 ประเทศสมาชิกลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลง 15% ระหว่างเดือน ส.ค. ปีนี้ ถึง มี.ค. ปีหน้า แต่เกิดข้อถกเถียงจากประเทศที่ยังคงต้องพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย หรือประเทศที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับท่อส่งก๊าซรัสเซียมากมายนัก
หลังจากถกเถียงกันมานานเกือบสัปดาห์ ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของ 27 ประเทศสมาชิกอียู ยกเว้นฮังการี เห็นพ้องสนับสนุนลดการใช้ก๊าซโดยสมัครใจ 15% ในช่วงฤดูหนาวแต่บรรดารัฐมนตรีต่างตกลงที่จะไม่บังคับใช้นโยบายนี้กับประเทศที่เป็นเกาะ คือ ไอร์แลนด์ มอลตา และไซปรัส และอาจมีข้อยกเว้นสำหรับประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายก๊าซของยุโรปเพียงเล็กน้อยหรือไม่ใช้เลย อย่างเช่น สเปน โปรตุเกส และกรีซ ซึ่งจะทำให้ผลกระทบโดยรวมลดลงในกรณีที่เกิดวิกฤตก๊าซธรรมชาติเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ ประเทศกลุ่มรัฐบอลติกอย่างเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ยังสามารถยื่นขอยกเว้นได้ เนื่องจากโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศเหล่านี้เชื่อมโยงกับรัสเซีย ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าดับ ซึ่งการยกเว้นนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อปกป้องทั้งสามประเทศให้สามารถพึ่งพาก๊าซเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของตัวเองได้
ข้อตกลงลดการใช้ก๊าซธรรมชาติเกิดขึ้นไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจาก ก๊าซพรอม บริษัทพลังงานที่ควบคุมโดยรัฐของรัสเซีย ประกาศลดปริมาณการส่งมอบก๊าซธรรมชาติผ่านท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 1 ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.เป็นต้นไป ซึ่งความเคลื่อนไหวของรัสเซียมีขึ้นท่ามกลางความหวังว่าแรงกดดันทางเศรษฐกิจจะคลี่คลาย หลังจากรัสเซียได้ทำข้อตกลงส่งออกธัญพืชทางท่าเรือทะเลดำ
“คาดรี ซิมสัน” หัวหน้าฝ่ายนโยบายพลังงานของสหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยว่า การที่ก๊าซพรอมจะปรับลดการส่งก๊าซไปยังยุโรปเพิ่มอีกในสัปดาห์นี้ เป็นผลมาจากแรงจูงใจทางการเมือง แม้ทางก๊าซพรอมระบุว่า การปรับลดปริมาณการส่งก๊าซ เป็นผลจากความจำเป็นที่จะต้องหยุดการทำงานของระบบกังหันก๊าซชั่วคราว
ก๊าซพรอม บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซีย ระบุว่า ก๊าซที่จัดส่งไปยังเยอรมนีผ่านท่อส่งนอร์ดสตรีม1 จะลดลงเหลือ 33 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันตั้งแต่วันพุธ ซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของการจัดส่งที่เป็นปกติ โดยก่อนเกิดสงครามในยูเครน ยุโรปนำเข้าก๊าซ 40% และน้ำมัน 30% จากรัสเซีย
ทางเครมลินให้เหตุผลการหยุดจ่ายก๊าซให้แก่ยุโรปว่าเพราะต้องซ่อมแซมท่อส่งก๊าซเร่งด่วน และการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ขณะที่อียูมองว่า รัสเซียกำลังหักหลังด้วยการหยุดส่งก๊าซตามที่เคยตกลงไว้
ด้าน“เออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน” หัวหน้าคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวหาว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน พยายามแบล็กเมล์ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่ให้การสนับสนุนยูเครน
“ก๊าซพรอมประกาศว่า กำลังลดการส่งมอบก๊าซไปยังยุโรปผ่านท่อนอร์ดสตรีม 1 โดยไม่มีเหตุผลทางเทคนิคที่สมเหตุสมผล แสดงให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือของรัสเซียในฐานะผู้จัดหาพลังงาน ต้องขอบคุณการตัดสินใจในวันนี้ ตอนนี้เราพร้อมที่จะจัดการกับความมั่นคงด้านพลังงานของเราในระดับยุโรปในฐานะสหภาพแรงงาน” ฟอน แดร์ ไลเอิน กล่าว
ด้าน“โจเซฟ ซิเคลา” รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของสาธารณรัฐเช็ก ยอมรับว่า การตัดสินใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คิดว่าในท้ายที่สุด ทุกคนจะเข้าใจว่าการเสียสละนี้ป็นสิ่งจำเป็น
คณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า หากสมาชิกสหภาพยุโรปประหยัดการใช้ก๊าซธรรมชาติ 15% จะสามารถลดการใช้ก๊าซลงได้รวม 4.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรแต่ถึงแม้ประเทศส่วนใหญ่จะเห็นชอบกับข้อตกลงนี้ ฮังการี เป็นประเทศเดียวที่คัดค้านข้อตกลง เหตุเพราะฮังการีพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียสูงมากถึง 95% ของก๊าซที่ทั้งประเทศมีอยู่
ภายใต้แผนประหยัดพลังงานครั้งนี้ ในกรณีที่เกิดกรณีเลวร้ายที่สุด คือรัสเซียหยุดส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดหรือความต้องการใช้ก๊าซสูงเกินทรัพยากรที่มี รัฐในอียูสามารถประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน และสามารถสั่งบังคับการประหยัดก๊าซได้ทันที
ในส่วนของเยอรมนี ที่เมืองเอาส์บวร์ก ร่วมปิดไฟถนนและปิดน้ำพุส่วนใหญ่เพื่อร่วมรณรงค์ประหยัดก๊าซธรรมชาติให้มีสำรองเพียงพอสำหรับฤดูหนาว และรับมือวิกฤตหากรัสเซียยุติการส่งก๊าซให้
เมืองเอาส์บวร์ก เป็นหนึ่งในหลายเมืองของเยอรมนีที่เริ่มใช้มาตรการประหยัดพลังงานเพื่อลดรายจ่าย และเป็นตัวอย่างให้สังคมและสนับสนุนการรณรงค์ของประเทศเพื่อประหยัดก๊าซธรรมชาติให้มีปริมาณสำรองเพียงพอสำหรับฤดูหนาว
เยอรมนี เป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอย่างมาก และมีปริมาณสำรองลดลงในระดับน่ากังวลจนถึงขั้นรัฐบาลประกาศเมื่อเดือนที่แล้วเข้าสู่ระยะที่ 2 จากทั้งหมด 3 ระยะของแผนฉุกเฉินรับมือวิกฤตก๊าซ
ขณะนี้หลายประเทศทั่วยุโรปกำลังหาทางประหยัดพลังงานและแสวงหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นเพื่อให้มีในคลังสำรองเพียงพอสำหรับความต้องการโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวท่ามกลางความวิตกว่ารัสเซียอาจหยุดจ่ายก๊าซทั้งหมดแก่ชาติยุโรป