‘อุตสาหกรรมชิปจีน’เหยื่อกีดกันการค้าสหรัฐ
‘อุตสาหกรรมชิปจีน’เหยื่อกีดกันการค้าสหรัฐ ขณะที่ทำเนียบขาวห้ามบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ขยายการลงทุนในจีน หากได้รับเงินช่วยเหลือก้อนใหม่เพื่อสร้างโรงงานในสหรัฐ
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงใน4 คนว่า สหรัฐกำลังปราบปรามผู้ผลิตชิปความจำในจีนที่ถือเป็นคู่แข่งสำคัญด้วยการจำกัดการจัดส่งอุปกรณ์ในการผลิตชิปของบริษัทอเมริกันให้แก่บรรดาผู้ผลิตชิปความจำในจีน ที่รวมถึงบริษัทหยางซี เมมโมรี เทคโนโลยีส์ โต จำกัด (วายเอ็มทีซี) เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสกัดกั้นการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีนและปกป้องบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติอเมริกัน
หากว่าฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐดำเนินการเรื่องนี้จริงๆ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้ ซึ่งรวมถึงสองผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่างซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด และเอสเค ไฮนิกซ์ อิงค์
โดยซัมซุงมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่สองแห่งในจีน ส่วนเอสเค ไฮนิกซ์ อิงค์ กำลังอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อซื้อธุรกิจผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีแฟลช NAND ในจีน
หากมาตรการปราบปรามนี้ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ จะครอบคลุมถึงคำสั่งห้ามการจัดส่งอุปกรณ์ในการผลิตชิปในสหรัฐไปยังโรงงานผลิตในจีนที่ผลิตชิป NAND ก้าวหน้า และถือเป็นการดำเนินการในลักษณะควบคุมการส่งออกไปจีนเป็นครั้งแรกของทางการสหรัฐ นอกเหนือจากการควบคุมการส่งออกอุปกรณ์หรือเครื่องมือด้านการทหาร ที่สหรัฐอ้างว่าควบคุมด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ
การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปกป้องผลประโยชน์ของบรรดาผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติสหรัฐ รวมถึง เวสต์เทิร์น ดิจิทัล คอร์ป (ดับเบิลยูดีซีโอ)และไมครอน เทคโนโลยี อิงค์ (เอ็มยูโอ) ที่มีผลผลิตประมาณหนึ่งในสี่ของตลาดชิปNAND
ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวสนับสนุนแผนห้ามบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ไม่ให้ขยายการลงทุนในจีน หากบริษัทเหล่านั้นได้รับเงินช่วยเหลือก้อนใหม่เพื่อสร้างโรงงานในสหรัฐ
"แครีน ฌอง-ปิแอร์" โฆษกทำเนียบขาวระบุเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ว่า “เราสนับสนุนมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด” ในร่างกฎหมายสนับสนุนการผลิตชิป โดยอ้างอิงถึงเงื่อนไขของร่างกฎหมายส่งเสริมการผลิตชิป ซึ่งจะห้ามบริษัทที่รับการช่วยเหลือจากมาตรการวงเงิน 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์จากการเข้าลงทุนในจีน เพราะมาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐ
"มาตรการสร้างแรงจูงใจดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐ ไม่ใช่ในจีน และมาตรการป้องกันจะช่วยชะลอการขยายการลงทุนในจีน จึงถือเป็นส่วนสำคัญของร่างกฎหมายสนับสนุนการผลิตชิป” ฌอง-ปิแอร์ กล่าว
เว็บไซต์บลูมเบิร์ก รายงานว่า การจำกัดการลงทุนในจีนยังอยู่ในระหว่างการเจรจาและเป็นเป้าหมายของการล็อบบี้อย่างหนักจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ร่างกฎหมายฉบับนี้จะห้ามบริษัทต่าง ๆ จากการขยายการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในจีนเป็นเวลา 10 ปี หลังรับเงินช่วยเหลือเพื่อสร้างโรงงานในสหรัฐ โดยบริษัทต่าง ๆ สามารถเดินหน้าลงทุนในการผลิตชิปที่มีอยู่ก่อนแล้วในจีน แต่ยังไม่สามารถแก้ไขเกี่ยวกับนิยามของเงื่อนไขดังกล่าว
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ดีลอยท์เผยแพร่รายงานคาดการณ์ว่า หลาย ๆ บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ แม้จะเผชิญปัญหาด้านการขาดแคลนชิปและประเด็นเรื่องห่วงโซ่อุปทาน โดยคาดว่า อุตสาหกรรมนี้สร้างรายได้มากกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ทั่วโลก และอาจเติบโตได้ถึง 10% ในปี 2565 เทียบกับการเติบโต 25% เมื่อปี 2564
รายงานของดีลอยท์ ระบุว่ามีปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่คาดว่าจะกำหนดทิศทางต่ออุตสาหกรรมนี้ในปีข้างหน้า คือ ชิปมีความจำเป็นใช้งานมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบสำคัญในหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่ยานยนต์ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและโรงงาน นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ทั่วไปอย่างคอมพิวเตอร์ ศูนย์ข้อมูล
และสมาร์ทโฟน
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ภาวะการขาดแคลนและห่วงโซ่อุปทานจะยังคงเป็นปัญหาอยู่ แต่คาดว่าจะบรรเทาลงในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็อาจยืดเยื้อไปถึงปี 2567 ได้
อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในอุตสาหกรรมดังกล่าวยังคงไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ว ๆ นี้ ฐานการผลิตที่มีเพิ่มมากขึ้นในประเทศต่าง ๆ อย่างสหรัฐ จีน สิงคโปร์ อิสราเอล และประเทศอื่น ๆ ยิ่งต้องการผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้มากขึ้นตามไปด้วย ระหว่างนี้พนักงานจำต้องพัฒนาทักษะและขยายความสามารถทางด้านวิศวกรรมและการผลิตให้มากขึ้น
ภายในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยังคงเร่งปรับตัว โดยบริษัทผู้ผลิตชิปประมาณ 3 ใน 5 ได้เริ่มต้นทำการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลแล้ว แต่มากกว่าครึ่งในกลุ่มนี้กำลังค่อย ๆ ทยอยปรับเปลี่ยนกระบวนการในขณะเดียวกันก็ต้องตั้งรับความกดดันด้านต่าง ๆ
โดยรวมแล้ว รายงานของดีลอยท์สรุปว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ด้วยการจัดการปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิป บริหารจัดการเวลา ให้เหมาะสมเมื่อต้องผลิตให้ซัพพลายเออร์และลูกค้า เพิ่มกำลังผลิตในท้องที่ใกล้เคียง จ้างผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะทางด้านวิศวกรรมและการออกแบบ รวมทั้งสนับสนุนให้ใช้โซลูชันดิจิทัลขั้นสูงเข้ามาช่วยดำเนินธุรกิจ