นักวิชาการมองต่างมุม 'ช่องแคบไต้หวันยังไม่วิกฤติ'
การเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐกระตุ้นให้จีนตอบโต้อย่างเกรี้ยวกราด รวมถึงการซ้อมรบขนาดใหญ่และยิงขีปนาวุธข้ามเกาะหลายลูกเป็นครั้งแรก
ความเคลื่อนไหวนี้กระตุ้นให้นักวิชาการและนักวิเคราะห์หลายคนประกาศว่า นี่คือ “วิกฤติช่องแคบไต้หวัน” ครั้งที่ 4 ถัดจากวิกฤติครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2538-2539 เหตุจากลี เตงฮุย ประธานาธิบดีไต้หวัน ณ ขณะนั้นไปสหรัฐ
เลฟ แนชแมน (Lev Nachman) นักรัฐศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อในไทเปของไต้หวัน เขียนบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์ foreignpolicy.com เมื่อวันศุกร์ (5 ส.ค.) ชี้ว่า มีหลายปัจจัยที่กระตุ้นให้เราควรอยู่ในความสงบเกี่ยวกับการซ้อมรบของจีน ประการแรกคือ การกระทำในสัปดาห์ที่ผ่านมาสามารถคาดการณ์ได้ แม้ผู้ตัดสินยังคงชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์ของการที่เพโลซีมาเยือนไต้หวันกับต้นทุนที่ต้องเสีย ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดว่าจีนจะตอบโต้ด้วยการเพิ่มภัยคุกคามทางทหารบางอย่าง โดยส่วนใหญ่มองว่าไม่ง่ายแค่ใช้เครื่องบินรบธรรมดาของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) บินเข้าไปในเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (เอดีไอแซด) ของไต้หวัน แต่น่าจะเป็นการทดสอบอาวุธบางชนิด หรือแสดงความแข็งแกร่งทางทหารอย่างจริงจัง ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แม้การซ้อมรบเป็นการยกระดับจากสิ่งที่จีนเคยทำบ่อยๆ แต่ยังอยู่ในขีดความสามารถของจีนที่รับรู้กันอยู่แล้ว
นอกจากนี้จีนยังประกาศซ้อมรบล่วงหน้า เพียง 48 ชั่วโมงหรือราวนั้น การประกาศล่วงหน้าว่าจะซ้อมรบเป็นการให้เวลาไต้หวันเตรียมทั้งกายและใจ
เมื่อการซ้อมรบเริ่มขึ้นไม่มีใครประหลาดใจเพราะรู้กันอยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น จึงเป็นการตอกย้ำว่านี่เป็นการซ้อมรบไม่ใช่การทำสงคราม จีนไม่ได้พยายามซุ่มโจมตีไต้หวัน แต่พยายามข่มขู่ การซ้อมรบไม่ได้ทำด้วยเจตนาเข้าร่วมสู้รบแต่ทำเพื่อให้ไต้หวันรู้สึกว่าการรุกรานทหารเป็นไปได้
การฝึกซ้อมทางทหาร เหล่านี้ไม่นานเกินหนึ่งสัปดาห์และไม่ใช่กิจการไม่จบไม่สิ้น แม้แต่ระหว่างการทดสอบอาวุธวันแรกรายงานข่าวบอกให้ทราบว่าการซ้อมจบเร็วแค่ไหน แม้จีนจะอ้างว่าทดสอบทั้งวันก็ตาม
ถ้าจีนต้องการให้วิกฤติบานปลายที่สร้างแรงกดดันให้ไต้หวันอย่างต่อเนื่อง คนที่อยู่ในไต้หวันคงไม่มีสิทธิได้รู้ว่าเหตุการณ์จะจบเมื่อใด หรือจะจบลงในเร็วๆ นี้
ไต้หวันเองก็ยังใจเย็นอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับชาวไต้หวันจำนวนมาก ปฏิกริยาที่คนในไต้หวันมีต่อการซ้อมรบกับที่คนอื่นๆ ทั่วโลกมีแตกต่างกัน
ประชาชนในไต้หวันไม่ได้หงุดหงิดกับรัฐบาลหรือกับเพโลซี ไม่มีการตอบโต้จากประชาชนหรือความตื่นตระหนกใดๆ วันพฤหัสบดี (4 ส.ค.) ก็ยังใช้ชีวิตปกติและจะใช้ชีวิตแบบนี้ในวันอื่นๆ ด้วย ถ้านี่คือวิกฤติชาวไต้หวันจะไม่รู้สึกแบบนี้ เพราะพวกเขาเป็นผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบทันที
การซ้อมรบยังไม่ถูกยกระดับจากทั้งรัฐบาลไทเปและวอชิงตัน ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ประกาศว่า ไต้หวันจะดำเนินการเพื่อป้องกันตนเองแต่จะไม่ทำให้เหตุการณ์ยิ่งรุนแรงหรือตอบโต้
สหรัฐเองก็ไม่ส่งสัญญาณการตอบโต้ใดๆ รับมือการฝึกซ้อมทางทหารของจีน
ในทางกลับกัน ทั้งไต้หวันและสหรัฐปล่อยให้จีนมีช่วงเวลาของความพยายามข่มขู่และปล่อยให้ทำไป ทั้งไต้หวันและสหรัฐไม่ปรารถนายั่วยุหรือทำให้สถานการณ์บานปลาย
แทนที่จะเปรียบเทียบกับวิกฤติช่องแคบไต้หวันครั้งที่ 3 เมื่อ 25 ปีก่อน แนชแมนเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่ร่วมสมัยมากกว่า นั่นคือวิกฤติขีปนาวุธเกาหลีเหนือเมื่อปี 2560 ส่วนหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นช่วงเวลาอันน่าสะพึงกลัวคือ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ การสื่อสารจากเกาหลีเหนือไม่ชัดเจน และการกระทำอันเป็นปรปักษ์ระหว่างคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขีปนาวุธทำให้เกิดคำถามรวมถึงโอกาสเกิดสงครามนิวเคลียร์ วิกฤติครั้งนั้นจะสิ้นสุดเมื่อใดก็ยังไม่ทราบ
ส่วนครั้งนี้ยังไม่มีอะไรทำให้สถานการณ์เสี่ยงเกิดสงครามอย่างวิกฤติครั้งก่อนๆ พีแอลเออยากให้ไต้หวันและสหรัฐประกาศว่านี่คือวิกฤติช่องแคบไต้หวันครั้งที่ 4 เพื่อสะท้อนว่าเป้าหมายในการข่มขู่ให้เกิดความกลัวนั้นได้ผล