'ไทย-มาเลเซีย' ต่อจิ๊กซอว์เชื่อมชายแดน ตั้งเป้าการค้า 3 หมื่นล้านดอลล์
“มาเลเซีย” เพื่อนบ้านติดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ขานรับความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งเชื่อมโยงประชาชน การค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวให้มากขึ้น หวังเพิ่มแรงส่งช่วยฟื้นเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
“ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ “ไซฟุดดิน อับดุลละฮ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย เป็นประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ครั้งที่ 14และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (JDS) ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ระหว่างไทย - มาเลเซีย ที่กรุงเทพมหานคร
ดอน กล่าวว่า การประชุม JC ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ส่วนการประชุม JDS ได้หารือในเรื่องต่างๆ ครอบคุลมการพัฒนาตามแนวชายแดนหลายด้าน ตั้งแต่การเมือง การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยปีนี้มุ่งเน้นไปที่รับกับความท้าทายที่ส่งผลต่อแผนดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสำรวจพื้นที่ใหม่สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และความมั่นคงทางไซเบอร์
การประชุมทั้งสองกรอบ เป็นโอกาสดีที่ไทยและมาเลเซียจะได้ติดตามพัฒนาการความร่วมมือ เพื่อร่วมกันผลักดันประเด็นที่ยังคั่งค้าง และเสนอแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศและประชาชน
ไทยและมาเลเซียมีความมุ่งมั่นกระชับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแนวชายแดน เพื่อพยามกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน ขณะเดียวกันทั้งสองได้ตกลงได้วางเป้าหมายการค้าร่วมกันใหม่ที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2568
ไซฟุดดิน กล่าวว่า สองประเทศมีแผนก่อสร้างถนนที่เชื่อมด่านตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร กักกันและรักษาความปลอดภัย (
Immigration, Customs, Quarantine & Security Complex : ICQS) ที่เมืองบูกิตกายูฮีตัม รัฐเกอดะฮ์ กับด่านตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร และกักกัน(Immigration,Customs & Quarantine Complex ICQ) เมืองสะเดา จ.สงขลา และสะพานมิตรภาพแห่งที่สอง ระหว่างมาเลเซีย-ไทย เพื่อเชื่อมรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน กับสุไหงโกลก จ.นราธิวาส
"การจัดตั้งด่าน การปรับปรุงถนน และสร้างสะพานเชื่อมมาเลเซียกับไทยมีความสำคัญมาก ในเชิงการส่งเสริมกิจกรรมด้านการค้าและเศรษฐกิจตามแนวชายแดนของ 2 ประเทศ" รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียระบุ
ที่ประชุมเห็นชอบที่จะเร่งขับเคลื่อนแผนโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพรันเตาปันจังกับสุไหงโกลก และสะพานเปงกาลันกูบอร์กับตากใบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินพื้นที่และสำรวจภูมิประเทศ โดยทางมาเลเซียกล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยสำหรับความเต็มใจแบกรับค่าใช้จ่าย ในการดำเนินงานศึกษาดังกล่าว เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ตอนบนของมาเลเซียและภาคใต้ของไทย สามารถขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือแนวทางความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ให้กับชาวสวนยางรายย่อยที่ป้อนผลผลิตไปยังนิคมอุตสาหกรรมยางพารารัฐเกดะห์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมยางแบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศมาเลเซียกับนิคมอุตสาหกรรมยางพาราที่จ.สงขลา ให้ได้ประโยชน์จากการรักษาเสถียรภาพราคาในตลาด และทำประโยชน์ให้กับซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยางพารา
ไซฟุดดิน กล่าวด้วยว่า มาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพการประชุม JDS และ JC ครั้งต่อไปที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก นอกจากนี้จะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่มาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพการประชุมปรึกษาหารือประจำปีระดับผู้นำ ครั้งที่ 7 ด้วย
ในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของไซฟุดดิน ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นโอกาสได้ตอกย้ำความร่วมมือระหว่างไทย-มาเลเซียว่ามีพลวัตมากขึ้น ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้หารือกันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งมีหลายประเด็นได้นำไปสู่การปฏิบัติแล้ว พร้อมหวังว่าความร่วมมือระหว่างกันในด้านอื่น ๆ จะได้รับการขับเคลื่อน เห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการประชุม JC และ JDS สามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และมีความคืบหน้า เพื่อที่เมื่อนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศพบกันจะได้ร่วมกันปรึกษาหารือ เพื่อจะได้ขยายความร่วมมือได้อีก
ส่วนการหารือทวิภาคีระหว่างดอนและไซฟุดดินได้สนทนากันในหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นพูดถึงสถานะของกระบวนการสันติภาพในภาคใต้ของไทย ซึ่งทางมาเลเซียพร้อมอำนวยความสะดวก เพื่อสร้างการพัฒนาและเชื่อมโยงโครงการต่างๆ ในพื้นที่ตามแนวชายแดน สู่เป้าหมายมูลค่าการค้าให้เพิ่มสูงขึ้นภายใน 3 ปีข้างหน้า
ไซฟุดดิน กล่าวในตอนท้ายย้ำความมุ่งมั่น ในการเสริมสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อประโยชน์ของประชาชนไทยและมาเลเซีย