'WHO' เผยกำลังศึกษาฝีดาษลิงกลายพันธุ์
อนามัยโลกเผย กำลังมีการศึกษาว่าไวรัสฝีดาษลิงที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วกลายพันธุ์หรือไม่ ส่วนการเปลี่ยนชื่อต้องใช้เวลาหลายเดือน
ปัจจุบัน ไวรัสฝีดาษลิงมีสองสายพันธุ์คือสายพันธุ์ลุ่มน้ำคองโก (แอฟริกากลาง) และสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ตามภูมิภาคที่ฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเมื่อวันศุกร์ (12 ส.ค.) ที่ผ่านมา WHO ตั้งชื่อใหม่เป็นสายพันธุ์1 และสายพันธุ์2 ตามลำดับเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างตราบาปให้กับพื้นที่ โดยสายพันธุ์สองยังแบ่งออกเป็นสองสายพันธุ์ย่อย ได้แก่ สายพันธุ์ย่อย2a และ2b ซึี่งตัวหลังถูกพบว่าเป็นสาเหตุการระบาดทั่วโลกในปัจจุบัน
เมื่อวันพุธ (17 ส.ค.) WHO ระบุว่า สายพันธุ์ย่อย2a และ 2b เกี่ยวข้องกันและมีบรรพบุรุษเมื่อเร็วๆ นี้ร่วมกัน ดังนั้น2b จึงไม่ใช่ลูกหลานของ2a โดยสายพันธุ์ย่อย 2b ประกอบด้วยไวรัสที่เก็บได้ในทศวรรษ 1970 และจากปี 2560 เป็นต้นไป
WHO กล่าวกับเอเอฟพีว่า เมื่อพิจารณาจีโนม แท้จริงแล้วมีความแตกต่างพันธุกรรมอยู่บ้างระหว่างไวรัสระลอกปัจจุบันและสายพันธุ์ย่อย2b รุ่นเก่ากว่า
"อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบเกี่ยวกับความแตกต่างสำคัญทางพันธุกรรม การวิจัยยังดำเนินอยู่เพื่อระบุผลกระทบ (ถ้ามี) ของการกลายพันธุ์เหล่านี้ต่อการแพร่กระจายและความรุนแรงของโรค ยังเร็วเกินไปทั้งการระบาดและการศึกษาในห้องทดลองที่จะบอกว่า การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่พบ หรือผลจากปัจจัยด้านมนุษย์" ทั้งยังไม่มีข้อมูลว่าการกลายพันธุ์มีความหมายอย่างไรในแง่ของปฏิกิริยาของไวรัสกับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันมนุษย์
การติดเชื้อฝีดาษลิงที่เพิ่มขึ้นมากนอกประเทศแอฟริกาที่เป็นโรคประจำถิ่นเริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. WHO ประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 23 ก.ค. มีผู้ติดเชื้อกว่า 35,000 คนใน 92 ประเทศ เสียชีวิต 12 คน ผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบทั้งหมดเกิดในยุโรปและทวีปอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญกำลังศึกษาตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อเหล่านี้
WHO ระบุ “ความหลากหลายระหว่างไวรัสที่ทำให้เกิดการระบาดระลอกปัจจุบันมีน้อย และไม่มีความแตกต่างทางพันธุกรรมที่เด่นชัดระหว่างไวรัสจากประเทศที่ฝีดาษลิงไม่ใช่โรคประจำถิ่น”
ขณะเดียวกัน WHO กล่าวว่า การผลักดันเปลี่ยนชื่อฝีดาษลิงอาจใช้เวลาหลายเดือน หลังจาก WHO แสดงความกังวลเรื่องชื่อมาหลายสัปดาห์ เมื่อผู้เชี่ยวชาญกังวลว่ากำลังทำให้เกิดความเข้าใจผิด
ชื่อฝีดาษลิงได้มาเพราะตอนแรกพบไวรัสนี้ในลิงที่เลี้ยงไว้เพื่อทำวิจัยในเดนมาร์ก พ.ศ.2491 แต่โรคนี้พบบ่อยในสัตว์ฟันแทะ การระบาดตอนนี้เผยแพร่จากคนสู่คนที่สัมผัสใกล้ชิด
WHO ขอความช่วยเหลือจากสาธารณชนให้ช่วยกันตั้งชื่อใหม่ โดยเปิดเว็บไซต์เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ซึ่ง WHO จะแจ้งชื่อใหม่ให้ทราบภายในสิ้นปีนี้