‘WHO’การันตีระบบกำกับดูแลวัคซีนจีน ระบุมีทั้งความปลอดภัยและประสิทธิภาพ

‘WHO’การันตีระบบกำกับดูแลวัคซีนจีน ระบุมีทั้งความปลอดภัยและประสิทธิภาพ

ระบบกำกับดูแลวัคซีนของจีนที่หลายประเทศตั้งข้อสงสัย ผ่านการประเมินโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยยอมรับความสามารถในการกำกับดูแลของจีนในด้านความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพของวัคซีน

ทั้งนี้ การประเมินระบบกำกับดูแลวัคซีนแห่งชาติของ WHO นั้น เป็นการประเมินระดับนานาชาติที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งสามารถประเมินระดับกฎระเบียบด้านวัคซีนภายในประเทศได้อย่างครอบคลุมและเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีน ได้เคยผ่านการประเมินในลักษณะนี้มาแล้วในปี 2554 และ 2557

“เกาเดน กาเลีย” ตัวแทนของ WHO ประจำประเทศจีนกล่าวว่า การที่ระบบกำกับดูแลวัคซีนของจีนผ่านการประเมินได้แสดงให้เห็นว่า จีนมีระบบกำกับดูแลวัคซีนที่มีเสถียรภาพ ซึ่งสามารถรับรองการผลิต นำเข้า และแจกจ่ายวัคซีนในประเทศได้อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ
 

 ด้าน“หวง เกา” รองหัวหน้าสำนักงานผลิตภัณฑ์การแพทย์แห่งชาติ กล่าวว่า ความสำเร็จจากการประเมินครั้งล่าสุด ส่งผลดีต่อการส่งออกวัคซีนของจีน และทำให้จีนสามารถมีส่วนในการส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา

 ขณะที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (เอ็นเอชซี) รายงานเมื่อวันจันทร์(20ส.ค.)ว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในประเทศเพิ่มอีก 308 ราย ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในมณฑลไห่หนาน หรือไหหลำ 205 ราย

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนแผ่นดินใหญ่ ยังตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ติดเชื้อในท้องถิ่นแบบไม่แสดงอาการรวม 1,440 ราย ซึ่งอยู่ในไห่หนาน 520 ราย และเขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) 518 ราย

ขณะเดียวกัน  จีนแผ่นดินใหญ่มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ออกจากโรงพยาบาลหลังหายดีรวม 574 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยหายดีสะสมอยู่ที่ 226,616 ราย เมื่อนับถึงวันจันทร์ (22 ส.ค.) ซึ่งเป็นวันที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตรวมอยู่ที่ 5,226 ราย

ความเคลื่อนไหวด้านวัคซีนของจีนมีขึ้นในช่วงเดียวกับที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า ชาวอเมริกัน ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป สามารถเริ่มเข้ารับการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้หลังวันแรงงานของสหรัฐซึ่งตรงกับวันที่ 5 ก.ย.นี้

สื่อชั้นนำของสหรัฐระบุว่า ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องการที่จะอนุมัติวัคซีนเข็มกระตุ้นดังกล่าวโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ด้านโมเดอร์นา อิงค์ บริษัทยาชั้นนำสัญชาติอเมริกัน เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (23 ส.ค.) ว่า บริษัทได้ยื่นขออนุมัติต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดไบวาเลนต์ (bivalent vaccine) กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปในกรณีฉุกเฉิน

ส่วนเมื่อวันจันทร์ (22 ส.ค.) บริษัทไฟเซอร์/ไบออนเทค เปิดเผยว่า ได้เสร็จสิ้นขั้นตอนการทดลองใช้วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดไบวาเลนต์กับกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปแล้ว

ทั้งนี้ วัคซีนชนิดใหม่นี้ไม่เพียงแต่ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบในปี 2563 เท่านั้น แต่ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ซึ่งได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐได้อีกด้วย

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐบาลกลางสหรัฐคาดหวังว่า การเปิดตัววัคซีนใหม่อย่างรวดเร็วจะสามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวได้ แม้จะยังมีความกังวลว่า ประชาชนจะให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนครั้งนี้มากน้อยเพียงใด 

ข้อมูลจากนิวยอร์ก ไทมส์ ระบุว่า ขณะนี้มีชาวอเมริกัน 67% ที่ได้รับวัคซีนดั้งเดิมครบถ้วน และมีเพียง 33% เท่านั้นที่เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

ขณะที่หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล  รายงานว่าคณะบริหารภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีไบเดน กำลังวางแผนยุติการจ่ายเงินค่าวัคซีนและการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยปรับเปลี่ยนให้บริษัทประกันและผู้ป่วยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

กระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ของสหรัฐ เตรียมจัดการประชุมวางแผนในวันที่ 30 ส.ค. ซึ่งจะรวบรวมตัวแทนจากกลุ่มผู้ผลิตยา ร้านขายยา และหน่วยงานด้านสุขภาพของประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการรักษาโรคโควิด-19 โดยคาดการณ์ว่าผู้เข้าร่วมการประชุมฯ จะหารือเกี่ยวกับการชำระเงินคืนและความคุ้มครอง ประเด็นด้านข้อบังคับ รวมถึงการเข้าถึงวัคซีนและการรักษาของกลุ่มผู้ไม่มีประกัน