'เด็กจบใหม่'หางานทำยากยุคเศรษฐกิจจีนช่วงขาลง
'เด็กจบใหม่'หางานทำยากยุคเศรษฐกิจจีนช่วงขาลง โดยปีนี้มีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดหางานเพิ่มอีก 11 ล้านคน ขณะที่เศรษฐกิจจีนโตขึ้นแค่ 0.4% ในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี
เศรษฐกิจจีน ที่ชลอตัวลงทำให้นักศึกษาจบใหม่เจอปัญหาในการหางานทำมากขึ้่นขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนตอกย้ำว่าตลาดแรงงานจีนยังคงเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงยิ่งกว่าเดิมไปอีกอย่างน้อยก็หลายปี
ผลสำรวจของรัฐบาลจีนบ่งชี้ว่าหนุ่มสาวในเมืองมากถึง 1 ใน 5 ไม่มีงานทำ ท่ามกล่างการแข่งขันหางานที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิมจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
เศรษฐกิจจีน ที่เติบโตช้าลงกว่าเดิมทำให้คนรุ่นใหม่ อย่างนักศึกษาจบใหม่ต้องเจอกับอนาคตที่ไม่แน่นอน เพราะต้องแข่งขันกันอย่างรุนแรงเพื่อหางานทำ โดยข้อมูลของทางการระบุว่า ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
คนหนุ่มสาวจีนที่อยู่ในเมืองมากถึง 1 ใน 5 ไม่มีงานทำ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ เมื่อปี 2018 มากถึง 3 เท่า
การแข่งขันเพื่อหางานทำของคนหนุ่มสาวในจีนจะยังคงรุนแรงขึ้นไปอีก เนื่องจากปีนี้ มีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดหางานเพิ่มอีก 11 ล้านคน ขณะที่เศรษฐกิจจีนโตขึ้นแค่ 0.4% ในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้นักศึกษาจบใหม่หางานทำยากคือการที่คนทำงานที่มีประสบการณ์แล้ว ยอมลดเงินเดือนตัวเองลงมาเท่ากับนักศึกษาจบใหม่ จึงทำให้บริษัทต่างๆ หันไปเลือกคนที่มีประสบการณ์ทำงานแล้วมากกว่าที่จะเลือกนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน ขณะที่อัตราเงินเดือนของนักศึกษาจบใหม่ก็ลดลงมาจากปีที่แล้วอีก 12%
นักศึกษาจบใหม่บางส่วนที่ยังหางานทำไม่ได้ ตัดสินใจไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท เพื่อเพิ่มโอกาสในการหางานทำ และได้เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเป็นห่วงว่าอาจจะทำให้เกิด ภาวะวุฒิการศึกษาเฟ้อ ซึ่งหมายถึงการที่คนหางานมีวุฒิการศึกษาสูงเกินความจำเป็นกว่าที่ตลาดต้องการ ท้ายที่สุด คนหางานอาจจะได้งานและเงินเดือนที่ต่ำกว่าคุณสมบัติของตัวเอง
ทั้งนี้ คาดว่าตัวเลขคนหนุ่มสาวที่ว่างงานที่แท้จริงของจีนอาจจะสูงมากกว่านี้ถึง 1 เท่า เนื่องจากการเก็บข้อมูลของรัฐบาลจีนไม่ได้ครอบคลุมเขตเมืองห่างไกลอย่างทั่วถึง และหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว อาจจะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่มากกว่านี้ในอนาคต เช่นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หรือการก่ออาชญากรรมที่สูงขึ้น
ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจจีนนั้น บรรดานักวิเคราะห์ต่างมีมุมมองเชิงลบมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน โดยพร้อมใจกันลดคาดการณ์การเติบโตสำหรับปี 2565 และมองว่า ความเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจะยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากภาวะปั่นป่วนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุดลง
ผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์รายไตรมาสฉบับล่าสุดของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตเพียง 3.5% ในปีนี้ ลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 3.9% ขณะที่ การคาดการณ์การขยายตัวสำหรับช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีหน้าลดลง 0.1% -0.4% แม้การคาดการณ์เฉลี่ยสำหรับตลอดทั้งปี 2566 ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไปที่ 5.2%
การลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนสะท้อนให้เห็นว่า นักเศรษฐศาสตร์ไม่เชื่อว่าการบังคับใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนจะช่วยยับยั้งภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ โดยเมื่อไม่นานมานี้ จีนเพิ่งอัดฉีดเม็ดเงิน 1 ล้านล้านหยวนในกองทุนเพื่อโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR)
ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคจีนชะลอตัวลงอย่างมากในปีนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่น เซี่ยงไฮ้ต้องล็อกดาวน์และปิดธุรกิจต่อเนื่องยาวนาน นอกจากนั้น วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในประเทศยังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในปีนี้
แต่“หยาง หยินข่าย” รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (เอ็นดีอาร์ซี) แสดงความมั่นใจว่าจีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ประมาณ 3% ในปีนี้ได้
หยาง กล่าวว่า ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการผลิต อุปทาน การจัดเก็บ และการตลาดของสินค้าหลัก ๆ ทำให้จีนยังคงสามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาโดยรวมเอาไว้ได้
หยางกล่าวเสริมว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อหลัก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบรายปีในเดือนก.ค. ซึ่งต่ำกว่าดัชนี CPI ของประเทศเศรษฐกิจใหญ่และประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่
หยางบอกด้วยว่า เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากการนำเข้า และราคาเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ดัชนี CPI อาจปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในช่วงหลายเดือนที่เหลือของปีนี้ รวมถึงในไตรมาสแรกของปีหน้า เมื่อเทียบกับหลายเดือนก่อนหน้านี้
ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (เอ็นบีเอส) เปิดเผยว่า กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีนปรับตัวลง 1.1% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ แตะที่ระดับ 4.89 ล้านล้านหยวน โดยตัวเลขดังกล่าวได้จากการสำรวจบริษัทขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมที่มีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 20 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.92 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ดี รายได้รวมของบริษัทขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น8.8% ในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ แตะ 76.57 ล้านล้านหยวน
"จู ฮง" นักสถิติอาวุโสของเอ็นบีเอส ให้ความเห็นว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีนยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และรถยนต์ เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานและการผลิตเริ่มกลับมาดำเนินการปกติ และจากการที่รัฐบาลออกนโยบายส่งเสริมการบริโภค เช่น การลดภาษีซื้อรถยนต์ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว