เด็กปากีสถานเสียชีวิตกว่า400รายจากเหตุน้ำท่วมใหญ่

เด็กปากีสถานเสียชีวิตกว่า400รายจากเหตุน้ำท่วมใหญ่

วิกฤตด้านมนุษยธรรมจากน้ำท่วมปากีสถานเลวร้ายยิ่งขึ้น มีเด็กเสียชีวิตมากถึง 1 ใน 3 จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกือบ 1,300 ราย รัฐบาลขอความช่วยเหลือครั้งมโหฬารจากประชาคมโลก

สำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติปากีสถาน รายงานว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยในช่วงฤดูมรสุมตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. จนถึงวันเสาร์เพิ่มเป็น 1,282 ราย และ 1 ใน 3 เป็นเด็กหรือราว  470 ราย โดยเฉพาะวันเสาร์วันเดียวมีผู้เสียชีวิต 57 ราย เป็นเด็กถึง 25 ราย

นอกจากนี้ องค์กรยูนิเซฟ เปิดเผยว่า ในบรรดาผู้ประสบภัยมากถึง 33 ล้านคนทั่วประเทศ มีเด็กมากกว่า 3 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน สืบเนื่องจากมีการระบาดของโรคที่มากับน้ำท่วม การจมน้ำ และการขาดสารอาหาร และน้ำท่วมทำให้โรงเรียนได้รับความเสียหายหรือพังย่อยยับ 17,566 หลังทั่วประเทศ ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตด้านการศึกษาที่โรงเรียนต้องปิดเรียนมานาน 2 ปีเนื่องจากการระบาดของโควิด-19

น้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ทั่วประเทศ และแม้บางแห่งมีระดับน้ำลดลง ชาวบ้านเริ่มเก็บกวาดความเสียหายของบ้านเรือน แต่คาดว่ารัฐบาลต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการฟื้นฟูประเทศ จึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในระยะยาว  รัฐบาลูชิสถาน และรัฐสินธ์ในภาคใต้ได้รับความเสียหายหนักที่สุด

โดยโครงสร้างพื้นฐานและระบบประปาเสียหายอย่างมาก และอาห์ซาน อิกบัล รัฐมนตรีวางแผนนโยบาย กล่าวเรียกร้องเมื่อวันเสาร์ว่า ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมครั้งมโหฬาร

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ปรับตัวเลขประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากอุทกภัยครั้งเลวร้ายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจาก 10,000 ล้านดอลลาร์เป็น 12,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่สหประชาชาติ(ยูเอ็น)เปิดระดมเงินบริจาคเร่งด่วนจากนานาชาติเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น 160 ล้านดอลลาร์ และองค์การอนามัยโลก(ดับเบิลยูเอชโอ)ได้จัดสรร 10 ล้านดอลลาร์เพื่อให้การรักษาผู้บาดเจ็บ จัดหาเวชภัณฑ์ให้กับหน่วยงานสาธารณสุข และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ
 

ขณะที่ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้บ้านเรือนมากกว่า 1 ล้านหลังได้รับความเสียหายหรือพังราบ และถนนรวมระยะทางอย่างน้อย 5,000 กม. ได้รับความเสียหาย

กองทัพได้จัดส่งเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยในจังหวัดบาลูชิสถาน และหลายคนพยายามวิ่งกรูเข้าไปขณะเฮลิคอปเตอร์กำลังจะลงจอดจนทหารต้องกันไว้เพื่อความปลอดภัย และอีกหลายคนพยายามฝ่าน้ำท่วมไปยังบริเวณที่โล่งเพื่อรับสิ่งของช่วยเหลือที่ถูกหย่อนลงมา

นอกจากนี้ ในเมืองโยฮี ในรัฐสินธ์ ที่น้ำท่วมเกือบทั้งเมืองทำให้การสัญจรทางถนนถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง ทำให้สถานีรถโดยสารถูกเปลี่ยนเป็นท่าเรือ ที่ชาวบ้านต้องล่องเรือเพื่อไปซื้ออาหารจากเมืองใกล้เคียง และค่าบริการสูงถึง 200 รูปีต่อหนึ่งเที่ยว ซึ่งชาวบ้านบอกว่าทำให้ชีวิตยากลำบากยิ่งขึ้น