รู้จักนายกฯ อังกฤษรัชสมัยควีนเอลิซาเบธที่ 2 ‘ลิซ ทรัสส์’ คนที่ 15

รู้จักนายกฯ อังกฤษรัชสมัยควีนเอลิซาเบธที่ 2 ‘ลิซ ทรัสส์’ คนที่ 15

หลังจากบอริส จอห์นสัน เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ณ พระตำหนักบัลมอรัลในสกอตแลนด์ เพื่อกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระองค์โปรดเกล้าให้ลิซ ทรัสส์ หัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่สุดจัดตั้งรัฐบาล และเธอคือนายกฯ คนที่ 15 ในรัชสมัยของควีน ซึ่งทรัสส์ได้เปลี่ยนจุดยืนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จากหน้ามือเป็นหลังมือ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ครองราชย์มาแล้ว 70 ปี ระหว่างนี้พระองค์ให้นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ทุกสัปดาห์ เว็บไซต์วอชิงตันโพสต์รวบรวมเหตุการณ์สำคัญระหว่างควีนเอลิซาเบธกับเหล่านายกฯ กรุงเทพธุรกิจขอสรุปเฉพาะบางคน

นายกฯ คนแรกในรัชสมัยคือวินสตัน เชอร์ชิลล์ วันที่ “เอลิซาเบธ” เจ้าหญิงรัชทายาทผู้กลายเป็นสมเด็จพระราชินี เสด็จลงจากเครื่องบินกลับจากประพาสเคนยาหลังพระเจ้าจอร์จที่ 6 สมเด็จพระราชบิดาสวรรคตในปี 2495 นายกฯ เชอร์ชิลล์มาคอยรับเสด็จ นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า เชอร์ชิลล์ผู้ยกย่องพระเจ้าจอร์จที่ 6 อย่างมาก ตอนแรกๆ มองว่าควีนเอลิซาเบธทรงด้อยประสบการณ์ แต่ภายหลังต่างชื่นชมซึ่งกันและกัน 

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ควีนทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเชอร์ชิลล์ ระบุว่า พระองค์ทรงคิดถึงเขามากแค่ไหน และจะไม่มีนายกฯ คนใดมาแทนที่นายกฯ คนแรกของพระองค์ได้ 

นายกฯ คนที่ 2 แอนโธนี อีเดน การเข้าเฝ้าช่วงแรกๆ เน้นไปที่การอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระกนิษฐา กับนาวาอากาศเอกปีเตอร์ ทาวน์เซนด์ ผู้หย่าร้าง เรื่องราวเต็มไปด้วยความซับซ้อนจนสุดท้ายเจ้าหญิงตัดสินพระทัยไม่อภิเษกกับเขา 

นายกฯ คนที่ 5 แฮโรลด์ วิลสัน เป็นนายกฯ จากพรรคแรงงานคนแรกในรัชสมัยของพระองค์ หนังสือชื่อ The Queen: Elizabeth II and the Monarchy เขียนโดย Ben Pimlott ระบุ “วิลสันปฏิบัติต่อพระองค์อย่างคาดไม่ถึง เท่าเทียมและกราบบังคมทูลราวกับว่าพระองค์คือรัฐมนตรีคนหนึ่ง” 

นายกฯ คนที่ 8 มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ มีรายงานถึงความเย็นชาระหว่างกันด้วยความเป็นผู้หญิงทั้งคู่ และอายุห่างกันเพียงหกเดือน แต่ก็มีความเคารพซึ่งกันและกัน ประเด็นที่ขัดแย้งกันมากที่สุดคือการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ เมื่อแทตเชอร์พ้นจากตำแหน่ง ควีนพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดชั้นหนึ่งแห่งสหราชอาณาจักร 

นายกฯ คนที่ 9 จอห์น เมเจอร์ เป็นนายกฯ คนแรกที่อายุน้อยกว่าควีน เป็นคนประกาศต่อรัฐสภาว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลสและเจ้าหญิงไดอานาจะทรงแยกกันอยู่ 

นายกฯ คนที่ 13 เทเรซา เมย์ นายกฯ หญิงคนที่ 2 แห่งรัชสมัย ว่ากันว่าทั้งคู่ไปกันได้ดี 

นายกฯ คนที่ 14 บอริส จอห์นสัน แหกขนบด้วยการนำสิ่งที่ควีนตรัสเป็นการส่วนพระองค์ในการเข้าเฝ้าครั้งแรกมาเผย  “เราไม่รู้ว่าทำไมใครๆ ถึงอยากทำงานนี้กันนัก” 

ลิซ ทรัสส์ คือนายกฯ คนที่ 15 ในรัชสมัย เธอเปลี่ยนจุดยืนหลายครั้งรวมทั้งเรื่องสถาบันกษัตริย์ สมัยเป็นวัยรุ่นอยู่พรรคลิเบอรัลเดโมแครต เธอเคยอภิปรายล้มล้างสถาบันกษัตริย์ 

“เราไม่เชื่อเรื่องคนที่เกิดมาเพื่อปกครอง” แต่พอมาอยู่พรรคอนุรักษนิยมทรัสส์บอกว่า “ราชวงศ์” มีความจำเป็นต่อสหราชอาณาจักร