สัมพันธ์ราชวงศ์ 'ไทย-อังกฤษ'ผูกพันใกล้ชิดสองแผ่นดิน
ราชวงศ์อังกฤษ เป็นราชวงศ์ที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับราชวงศ์ไทยมาเป็นเวลานาน เนื่องจากทั้งสองประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
หากย้อนสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ระหว่างราชวงศ์ไทย และ อังกฤษ มีความร่วมมือในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้าการลงทุน และการศึกษา โดยรัฐบาลไทย เริ่มส่งนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง (King's Scholarship)ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มาศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกและยังคงสานต่อความร่วมมือเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
บันทึกการเยือนของราชวงศ์ไทย-ราชวงศ์อังกฤษ ในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของราชวงศ์ไทย และราชวงศ์อังกฤษอย่างต่อเนื่อง
โดยเจ้าหญิงอเล็กซานดรา ได้เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ 27 ส.ค. ปี 2502 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในวันที่ 19 ก.ค. ปี 2503 ต่อมาทั้งสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินเยือนอังกฤษอีกครั้งเป็นการส่วนพระองค์ในอีก 6 ปีต่อมา
เดือนก.พ. ปี 2515 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินเบอระ พระสวามี และเจ้าหญิงแอนน์ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทย เป็นครั้งที่ 2 ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนอีกครั้ง ในเดือนพ.ย.ปี 2539 โดยการเสด็จพระราชดำเนินเยือนในแต่ละครั้งมีพสกนิกรชาวไทยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จเป็นจำนวนมาก
หลังจากนั้นทั้งสองราชวงศ์ ต่างมีการแลกเปลี่ยนการเยือนต่อกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะโดยการส่วนพระองค์ เพื่อกิจการด้านเศรษฐกิจการค้า หรือแม้กระทั่งด้านวิชาการ พระราชกรณียกิจเจ้าชายแอนดรูว์ เนื่องจาก เจ้าชายแอนดรูว์ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนพิเศษในด้านการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร จึงต้องเสด็จเยือนนานาประเทศเพื่อดูแลทางด้านการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 9 มิ.ย.ปี 2549 ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก แห่งสหราชอาณาจักร ได้เสด็จแทน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ผู้เป็นพระราชมารดา เพื่อร่วมพระราชพิธี
วันที่ 6 ต.ค.ปี 2552 เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก เสด็จเยือนประเทศไทย ในฐานะผู้แทนทางการค้า และการลงทุน ระหว่างประเทศของอังกฤษ เพื่อส่งเสริม และกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ
ครั้นเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ ได้ทรงทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้ส่งพระราชสาส์น แสดงความเสียพระราชหฤทัย ต่อ การเสด็จสวรรคต
นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษยังลดธงครึ่งเสาเหนือพระราชวังบักกิงแฮม อาคารรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ และสถานที่ราชการหลายแห่ง เพื่อร่วมแสดงความอาลัยต่อการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของพสกนิกรชาวไทย
ต่อมาวันที่ 24 ต.ค.ปี 2560 เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก ราชวงศ์อังกฤษ ได้เสด็จมายังประเทศไทย เพื่อร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของ 2 ประเทศที่มีให้แก่กัน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครองราชย์เป็นเวลา 70 ปี ก่อนจะเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ต.ค. ปี2559 ขณะที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์ครบ 70 ปี ในปี 2565 และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565 พระชนมายุ 96 ปี