เหตุใดยุโรปจึงไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในทุกวันนี้ | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์
ตอนปี 2543 ในบรรดา 100 บริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกมีบริษัทที่มาจากทวีปยุโรปประมาณ 41 บริษัทแต่ในปี 2564 ที่ผ่านมาเหลือเพียงแค่ 15 บริษัทเท่านั้น และทุกปีที่ผ่านไปเหมือนกับว่าบริษัทจากยุโรปได้มีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ
เพราะในบรรดา 15 บริษัทที่ยังอยู่ในลิสต์ ก็จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโตน้อยลงอย่างธุรกิจปิโตรเคมีและก๊าสธรรมชาติ หรือ อุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างธุรกิจยานยนต์ บริษัทเทคโนโลยีในทวีปยุโรปนั้นเล็กมากและเทียบไม่ได้เลยเมื่อเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีอย่าง อเมซอน แอปเปิ้ล กูเกิ้ล หรือ เมต้า (เฟซบุ๊ค)
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ยุโรปจากเดิมที่เป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของโลก กลับกลายมาเป็นทวีปที่โบราณและล้าสมัย ที่อยู่โดยความสำเร็จเก่าๆ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตามโลกทุกวันนี้ได้
แล้วคำถามคือยุโรปเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ยุโรปเริ่มเสียศักยภาพทางเศรษฐกิจตั้งแต่ตอนไหน ทำไมถึงยุโรปไม่สามารถแข่งขันกับทางสหรัฐอเมริกาหรือประเทศทางแอบเอเชียอย่างจีน และ เกาหลี ได้
แต่ก่อนที่เราจะไปถึงตรงนั้น เราต้องมาดูกันก่อนว่ายุโรปกลายมาเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจอันใหญ่ของโลกนี้ได้อย่างไร ในช่วงศตวรรษที่ 18 เศรษฐกิจในทุกๆประเทศนั้นค่อนข้างเล็กมากเมื่อเทียบทุกประเทศทั่วโลก ความจริงแล้วเศรษฐกิจในทวีป เอเชีย แอฟริกา และ อเมริกาใต้ อยู่ในระดับเดียวกันกับ ยุโรป และ อเมริกาเหนือเลย
แต่สิ่งที่ทำให้ยุโรปก้าวมาเป็นมหาอำนาจของโลกได้คือสิ่งที่เรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม พอเกิดสิ่งนี้ขึ้นมามันเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆให้กับโลก เปลี่ยนวิสัยทัศน์ของคนทั่วโลกให้เข้ามาสนใจในทวีปยุโรป
และเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจของคนยุโรป ในไม่กี่ทศวรรษต่อมา โรงงานเล็กๆในการผลิต ได้กลายมาเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ทำให้ทุกอย่าง รวดเร็ว ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ซึ่งทำให้เศรษฐกิจในยุโรปล้ำหน้ากว่าทวีปไหนๆทั่วโลก พอมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆเกิดขึ้นมา นั่นหมายถึงมีเงินใหม่ๆเข้ามาในทวีปยุโรป ทำให้กองกำลังทหารของทวีปยุโรปนั้นมีศักยภาพมากกว่าประเทศไหนๆ และนั่นก่อให้เกิดช่วงยุคล่าอาณานิคม ทำให้ในช่วงนั้นยุโรปสามารถยึดอาณานิคมจากทั่วโลกในตลอดช่วงยุคศตวรรษที่ 19
ยุโรปไม่ได้ร่ำรวยจากการยึดครองอาณานิคมทั่วโลก แต่เพราะยุโรปร่ำรวยตั้งแต่แรกจึงทำให้ยึดครองอาณานิคมส่วนใหญ่จากทวีปแอฟริกา และ เอเชียมาได้ จนกระทั่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ทุกๆอย่างของยุโรปกำลังจะเปลี่ยนไป
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลายๆประเทศทั่วโลกได้ประกาศอิสรภาพจากประเทศในยุโรป และสัดส่วนของยุโรปในจีดีพีของโลกเริ่มค่อยๆตกลง ในช่วงปี 2503 ทวีปยุโรปมีสัดส่วนของจีดีพีโลกถึงร้อยละ 36.3 ในปี 2563 ตัวเลขนั้นเหลือเพียงแค่ร้อยละ 15
ทุกวันนี้เศรษฐกิจของยุโรปเหมือนกำลังติดหล่มอยู่ และไม่สามารถหลุดออกจากหล่มนี้ได้ มีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ 3 ตัวที่บ่งบอกว่าทำไมทุกวันนี้ยุโรปจึงมีสภาพเช่นนี้
1.บริษัทใหญ่ๆในยุโรปไม่สามารถตามทันบริษัทใหญ่ๆในโลก ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมาช่วงระหว่างปี 2553 ถึง 2564 รายได้ของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาอย่าง เจพี มอร์แกน ได้เติบโตประมาณร้อยละ 10
ในขณะเดียวกันธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปอย่าง บีเอ็นพี พาริบาส์ติดลบถึงร้อยละ 8 แต่ก็ยังดีกว่าธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมันอย่าง ดอยช์แบงค์ ที่ลดลงถึงร้อยละ 40 ในช่วงเวลาเดียวกัน
เราสามารถดูได้ในทุกอุตสาหกรรมเลย โดยเปรียบเทียบบริษัทยักษ์ใหญ่ในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งจะค้นพบได้ว่าบริษัทในฝั่งอเมริกา และ จีน นั้นต่างเติบโตสูงกว่ามากและแซงหน้าบริษัทในยุโรปไปหมดแล้ว
2.บริษัทต่างๆในยุโรปนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่ผิดหรือไม่เติบโตแล้ว 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา วอลมาร์ท อเมซอน แอปเปิ้ล กูเกิ้ล และ เฟสบุ๊ค นั่นอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หรือ ค้าปลีก
5 บริษัทยักษ์ใหญ่ของยุโรป โฟล์คสวาเก้น บีพี เชลล์ เดมเลอร์ และ เกล็นคอร์ ต่างอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และ พลังงาน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่จะถูกปรับเปลี่ยนเพราะการเข้ามาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และ ธุรกิจ ESG
ตัวชี้วัดอย่างที่สามคือ ยุโรปไม่มีบริษัททางด้านเทคโนโลยี ที่จะแข่งขันกับจีนและอเมริกาได้เลย บริษัทเทคที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปอย่าง เอสเอพี ที่เป็นบริษัทเทคแห่งเดียวในยุโรปที่อยู่ในลิสต์ฟอร์จูน 500 มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ
ดังนั้น เขาไม่ได้มองกันว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ ในขณะที่บริษัทเทคในด้านสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตอนนี้อย่าง สปอทติฟาย (Spotify) ที่สามารถเป็นหนึ่งในบริษัทเทคที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก ก็อยู่ในคนละลีคกับบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ของอเมริกา
ทำไมถึงยุโรปถึงสูญเสียศักยภาพในการค้นพบอะไรใหม่ๆ และ ไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ใหม่ๆของโลกได้ เป็นมาจากสองปัจจัยครับ
ปัจจัยแรก เทคโนโลยีใหม่ๆจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีกฎและข้อบังคับเยอะเกินไป ยุโรปถือว่าเป็นทวีปหนึ่งที่มีข้อบังคับเยอะที่สุดในโลก ทำให้เทคโนโลยีใหม่ๆต้องผ่านกฏเกณฑ์และข้อบังคับก่อน เทคโนโลยีเหล่านั้นจึงจะเกิดขึ้นได้
กฏเกณฑ์และข้อบังคับถือเป็นสิ่งดี เพราะจะทำให้มันปกป้องสิ่งแวดล้อมและประชาชนได้ แต่ถ้ากฏข้อบังคับเยอะเกินไป ก็จะทำให้การลงทุน การแข่งขันต่างๆ และ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงตามไปด้วย นอกจากที่บริษัทต้องทำตามกฏของอียู แต่บริษัทยังต้องทำตามกฏของแต่ละประเทศที่ตนอยู่ด้วย และถ้าเทียบกับอเมริกา ที่ผ่านเพียงแค่ที่เดียวก็สามารถทำได้ทั่วโลกแล้ว
ปัจจัยที่สอง บริษัทในยุโรปก็แข่งขันเพียงแค่ในประเทศตนเองก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นที่ต้องขยายใหญ่เหมือนกับประเทศจีนและอเมริกาที่แค่แข่งขันในประเทศตัวเองก็เหนื่อยพอสมควร เพราะประเทศเหล่านั้นใหญ่กว่ายุโรปเยอะและคู่แข่งหินกว่ามาก
ถึงตอนนี้ยุโรปยังสามารถพึ่งพาความสำเร็จเก่าๆ ปกครองแบบรัฐสวัสดิการ และ ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี โดยที่ไม่จำเป็นต้องปรับตัวเยอะ แต่การที่ไม่สามารถแข่งขันในโลก และด้วยประชากรที่มีอายุเยอะ และ สัดส่วนที่น้อยลงในจีดีพีโลก โมเดลของยุโรปนั่นดูไม่ค่อยจะยั่งยืนเลย
ไม่นานหลังจากนี้ยุโรปต้องปรับตัว ไม่เช่นนั้นอาจจะถึงวันที่ยุโรปล้าหลังกว่าทั้งโลกก็เป็นได้.
คอลัมน์ คุยให้... “คิด”
ทิวัตถ์ ชุติภัทร์
ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ (มหาชน) จำกัด
[email protected]