อาลัย “ควีนเอลิซาเบธที่ 2” | บัณฑิต นิจถาวร
ขอเเสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (ควีนเอลิซาเบธที่ 2) แห่งสหราชอาณาจักร พระชนมายุ 96 พรรษา เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของประชาคมโลก
ตลอดเวลาการครองราชย์เกือบ 70 ปี พระองค์เป็นหลักยึดสำคัญของเสถียรภาพ ความสงบสุข และความต่อเนื่องในสังคมโลก ทรงเป็นสัญลักษณ์ของความอบอุ่นและความดีงามที่ให้ความหวังกับประชาชน ว่าสิ่งที่ดีจะเกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก
สะท้อนการทำหน้าที่ของพระองค์ในฐานะประมุขของประเทศอย่างเข้มแข็ง ที่คนทั่วโลกให้ความเคารพ จนมีคําถามว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรหรือไม่หลังรัชสมัยควีนเอลิซาเบธที่ 2 นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ประสูติในตระกูลกษัตริย์ มีศักดิ์เป็นรัชทายาทตามลําดับชั้นตั้งแต่เด็ก แต่มีโอกาสน้อยเพราะเป็นผู้หญิงและเป็นพระธิดาของเจ้าชายที่มีพี่ชายอีกคนเป็นรัชทายาทสายตรง
เมื่อพี่ชายบิดาสละตําแหน่งและผู้เป็นบิดาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ คือ พระเจ้าจอร์จที่ 6 เอลิซาเบธก็มีศักดิ์เป็นรัชทายาทสายตรง เพราะผู้เป็นบิดาไม่มีบุตรชาย และได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 6 สวรรคตในปี 1952 ได้ราชาภิเษกเป็นควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1953 ขณะนั้นพระชนมายุ 27 พรรษา
โลกในยุคเริ่มต้นของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เป็นโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่การเปลี่ยนแปลงมีมากทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ การเมืองโลกแบ่งเป็นสองขั้วระหว่างกลุ่มประชาธิปไตยและสังคมนิยม เกิดสงครามเย็นระหว่างสองขั้วที่นำไปสู่ความขัดแย้งและการสู้รบในหลายพื้นที่
ในทางเศรษฐกิจสหรัฐ ในฐานะประเทศมหาอำนาจใหม่ก็ผลักดันการจัดระเบียบโลกใหม่ภายใต้ระบบพหุภาคี เพื่อลดอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจเดิม ผลักดันระบบเศรษฐกิจเสรีควบคู่ไปกับการเมืองในระบบประชาธิปไตยเพื่อหยุดการขยายอิทธิพลของกลุ่มประเทศสังคมนิยม
การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลให้ประเทศที่เป็นอาณานิคมของประเทศมหาอํานาจเดิมคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เรียกร้องอิสรภาพที่จะปกครองตนเอง กระทบการคงอยู่ของจักรวรรดิอังกฤษ หรือ British Empire
ดังนั้น โจทย์สำคัญช่วงต้นรัชสมัยควีนเอลิซาเบธที่ 2 คือรักษาสถานะความยิ่งใหญ่ของอังกฤษให้คงอยู่ โดยยอมรับการถดถอยของจักรวรรดิอังกฤษ ให้ความเป็นอิสระประเทศในอาณานิคมให้ปกครองตนเอง
และแปลงความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับประเทศเหล่านี้เป็นการรวมกลุ่มทางการเมืองแทนในรูปเครือจักรภพอังกฤษ หรือ Commonwealth เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างกันที่มีมานานและความสมานฉันท์ของประชาชนในประเทศเหล่านี้กับจักรภพอังกฤษ
การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนความตั้งใจอย่างแรงกล้าของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ว่า เป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลประชาชนของพระองค์ไม่ว่าชีวิตพระองค์จะสั้นหรือยาว เป็นความมุ่งมั่นที่พระองค์ทําต่อเนื่องตลอด 70 ปีที่ครองราชย์ ซึ่งประสบความสำเร็จมาก
ปัจจุบัน เครือจักรภพอังกฤษมี 56 ประเทศเป็นสมาชิก มีประชากรรวมกันกว่า 2.5 พันล้านคน โดย 15 ประเทศมีพระมหากษัตริย์อังกฤษเป็นประมุข และพระองค์ทรงเป็นที่รักของประชาชนในเครือจักรภพอังกฤษและทั่วโลก
ภายในอังกฤษความสำเร็จในยุคสมัยพระองค์ก็มีมาก แม้ปัญหาและความท้าทายจะมีตลอดจากที่อังกฤษเองก็เปลี่ยนมากทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
อีกทั้งพระองค์ต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีถึง 15 คนที่มีความคิดด้านนโยบายของตนเอง และไม่สามารถแทรกแซงการทำงานของฝ่ายการเมืองได้ ทรงทําได้เเต่ติดตามห่างๆ และช่วยเท่าที่จะทําได้ภายใต้ข้อจำกัดของการเป็นประมุขของประเทศ
เศรษฐกิจอังกฤษในยุคสมัยพระองค์เติบโตต่อเนื่องและรักษาความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในระดับต้นๆ ของโลก ความกินอยู่ของประชาชนสูงขึ้นมาก ระบบการเมืองมีเสถียรภาพและเป็นต้นแบบของการปกครองในระบบประชาธิปไตย
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาและความท้าทายในประเทศที่มีมากทั้งในเรื่องความมั่นคงของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะกรณีไอร์แลนด์ และปัญหาเชื้อชาติ ที่อังกฤษเติบโตเป็นสังคมที่รวมความหลากหลายของผู้คนที่มาจากทั้งนอกและในเครือจักรภพ แต่สังคมก็พัฒนาได้ดีขึ้น มีพระองค์ทรงเป็นจุดรวมของสังคม
เมื่อเกิดวิกฤติใหญ่ เช่น กรณีโควิด-19 ทรงให้ความมั่นใจว่าสังคมจะผ่านวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ ทําให้ความเคารพที่คนอังกฤษมีต่อควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะประมุขของประเทศเข้มแข็งไม่เสื่อมคลาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จนี้เกิดจากความมุ่งมั่นของพระองค์ตลอด 70 ปีที่จะทำหน้าที่เพื่อประชาชนของพระองค์ตามที่ทรงให้คํามั่นสัญญาไว้
แต่ที่สำคัญคือความรู้และพระปรีชาสามารถของพระองค์ ที่ได้จากการมีข้อมูลและการพบปะพูดคุยกับผู้นำประเทศและบุคคลสำคัญต่างๆ
ตลอดรัชสมัยที่พระองค์เป็นประมุขประเทศที่เดินทางมากสุด ทั้งในและนอกเครือจักรภพอังกฤษ เคยเสด็จมาประเทศไทยถึงสองครั้ง ทําให้พระองค์มีความรู้และเข้าใจเรื่องต่างๆ เป็นอย่างดี ทรงสามารถตั้งคำถามที่ตรงประเด็น และใช้การตั้งคำถามเป็นเครื่องมือสร้างอิทธิพลต่อความคิดเห็นของคนอื่น
ตัวอย่างที่ดีคือหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกปี 2008 ใหม่ๆ พระองค์เสด็จเยี่ยม London School of Economics และทรงรับทราบจากการสนทนากับกลุ่มศาสตราจารย์ที่มาต้อนรับว่า วิกฤติคราวนี้ใหญ่มาก พระองค์จึงถามว่า ถ้าใหญ่อย่างนี้ ทำไมไม่มีใครมองเห็น (ว่าวิกฤติจะเกิด) ซึ่งไม่มีใครตอบได้ ต้องถวายคําตอบเป็นรายงานเอกสารหลายเดือนต่อมา
อีกประเด็นที่เป็นลักษณะเด่นคือ การเคารพในกติกาและกระบวนการทางการเมืองที่มากับการตัดสินใจของประชาชน ที่พระองค์จะไม่แทรกแซง ทรงยอมรับผลที่เกิดขึ้น แต่จะพยายามสื่อสารความห่วงใยของพระองค์ในวิธีของท่าน
เช่น กรณีประชามติคนในสกอตแลนด์ที่จะแยกตัวจากสหราชอาณาจักร ที่อยากให้คนสกอตคิดเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง เป็นความห่วงใยของประมุขของประเทศต่ออนาคตของชาติและประชาชน
ขอให้ดวงพระวิญญาณพระองค์ไปสู่สุคติ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล