อียูเตรียมยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ | EU watch
สหภาพยุโรป (อียู) ให้ความสำคัญในการส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล และพยายามผลักดันให้ภาคธุรกิจเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน
สหภาพยุโรป (อียู) ให้ความสำคัญในการส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance (ESG)) และพยายามผลักดันให้ภาคธุรกิจเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (Sustainability Reporting) มากขึ้น
เพื่อช่วยให้ตลาดการเงินและสถาบันการเงินสามารถจัดสรรเงินทุนไปยังกิจกรรมที่สร้างคุณค่าในระยะยาวได้อย่างแม่นยำ ขณะที่ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนกับบริษัทที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ สังคม และชุมชนโดยรวม
การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัท
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎหมาย “EU Corporate Sustainability Reporting Directive” เพื่อแก้ไขกฎหมาย “EU Non-Financial Reporting Directive” (Directive 2014/95/EU) ที่ออกมาเมื่อปี 2556 เพื่อกำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน เช่น นโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสังคม ตลอดจนการต่อต้านการให้สินบนและคอร์รัปชั่น เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้าน ESG
ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอให้ขยายขอบเขตของกฎหมายครอบคลุมบริษัทขนาดใหญ่และบริษัททั้งหมดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงบริษัท SMEs ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ยกเว้น micro enterprises) จะต้องเปิดเผยและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน
เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบ ควบคู่ไปกับการให้ข้อมูลด้านการเงินอย่างเป็นระบบ และยกเลิกหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดว่าบริษัทที่อยู่ภายใต้กรอบบังคับของร่างกฎหมาย คือ บริษัทที่มีลูกจ้าง 500 คนขึ้นไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันร่างกฎหมายอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติของอียู และคาดว่าจะมีการผ่านกฎหมายฉบับนี้ภายในสิ้นปี 2565 โดยอียูคาดหวังว่าจะมีบริษัทจำนวนเกือบ 49,000 บริษัทต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับใหม่
แนวทางปฏิบัติในการเปิดเผยและรายงานข้อมูล
- เปิดเผยและรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของภาคธุรกิจ โดยแสดงรายละเอียดไว้ในรายงานผลการดำเนินงานธุรกิจ ซึ่งแยกต่างหากจากงบการเงิน เพื่อให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และสาธารณชน รับทราบและง่ายต่อการตรวจสอบ
- การรายงานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ ต้องครอบคลุมทั้งผลกระทบของการดำเนินการธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อธุรกิจ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งในฐานะผู้สร้างผลกระทบ (‘inside-out’ perspective) และผู้ที่ได้รับผลกระทบ (‘outside-in’ perspective) ซึ่งร่างกฎหมายอียูฯ จะบังคับให้มีการรายงานข้อมูลในทั้งสองมิตินี้ หรือเรียกว่า “double materiality”
- การตรวจสอบคุณภาพการรายงานด้านความยั่งยืนโดยบุคคลที่สาม (ต้องเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสีย) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของการวัดผลและการรายงานด้านความยั่งยืนของบริษัท
- การนําเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ โดยกำหนดให้มีการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล และสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลต่อสาธารณะ
ทั้งนี้ คณะกรรมการที่ปรึกษาการจัดทำรายงานทางการเงินของสหภาพยุโรป (EFRAG) อยู่ระหว่างพัฒนามาตรฐานการรายงานความยั่งยืน เพื่อให้บริษัทสามารถใช้เป็นแนวทางการรายงานความยั่งยืนต่อไป โดยคาดว่าน่าจะครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ ทรัพยากรทางน้ำและทะเล ความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งประเด็นด้านสังคมและธรรมาภิบาลด้วย
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภายุโรป คณะมนตรียุโรป และคณะกรรมาธิการยุโรปได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยอียูตั้งเป้าผ่านร่างกฎหมายในสิ้นปี 2565 นี้ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับทั้งกับบริษัทอียู และบริษัทต่างชาติซึ่งตั้งอยู่ในอียู ซึ่งเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า
แนวทางที่แตกต่างกันระหว่างอียูกับประเทศอื่น ๆ
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า มาตรฐาน “double materiality” ที่อียูกำลังกำหนดขึ้นนั้นจะแตกต่างไปจากมาตรฐานของประเทศอื่นๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะกำหนดให้บริษัทที่ขึ้นทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการดำเนินธุรกิจเท่านั้น (แต่ไม่รวมถึงผลกระทบของธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม)
นอกจากนี้ องค์กร International Sustainability Standards Board (ISSB) ซึ่งมุ่งพัฒนามาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนระดับสากล ก็ดูจะมีท่าทีในทำนองเดียวกับ ก.ล.ต. ของสหรัฐฯ และจำกัดขอบเขตของรายงานความยั่งยืนของธุรกิจเพียงเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ไม่รวมประเด็นสิ่งแวดล้อมและสังคมอื่น ๆ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ และสิทธิมนุษยชน
หากประเทศต่าง ๆ กำหนดมาตรฐานของการจัดทำรายงานความยั่งยืนของธุรกิจที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้ยากต่อนักลงทุนที่จะเปรียบเทียบข้อมูล และไม่น่าจะส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนทั่วโลก ดังนั้น การกำหนดมาตรฐานสากลของรายงานความยั่งยืนของธุรกิจจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นท้าทายที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องพยายามเจรจาหาจุดร่วมกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
คอลัมน์ : EU watch
ทีมงาน ThaiEurope.net
facebook @thaieurope.net
www.thaieurope.net