'ยูเอ็น'เห็นชอบตั้งผู้ตรวจสอบละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัสเซีย
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ลงมติเมื่อวันศุกร์ (7ต.ค.)เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญอิสระเพื่อตรวจสอบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัสเซีย
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นที่ประกอบด้วยชาติสมาชิก 47 ชาติ ลงมติด้วยเสียงสนับสนุน 17 เสียงให้มีการแต่งตั้งผู้เสนอรายงานพิเศษกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัสเซียตามข้อเสนอของชาติสมาชิกสหภาพยุโรปเกือบทั้งหมด ยกเว้น ฮังการี ขณะที่มีเสียงคัดค้าน 6 เสียงและการงดออกเสียง 24 เสียง
การเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากมีการจับกุมตามอำเภอใจ การปราบปรามฝ่ายเห็นต่าง และจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นในรัสเซียช่วงที่มีการทำสงครามในยูเครน นอกจากนี้รัสเซียยังออกกฎหมายที่เพิ่มบทลงโทษหนักขึ้นสำหรับการทำลายความน่าเชื่อถือของกองทัพ หรือ เผยแพร่ข้อมูลเท็จ รวมถึงบังคับปิดองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน
ผู้เสนอรายงานพิเศษจะรวบรวมข้อมูลจากการได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มและนักเคลื่อนไหวชาวรัสเซีย ที่ยังคงอยู่ในรัสเซียและในต่างประเทศ แต่เชื่อว่า ไม่มีทางที่รัสเซียจะอนุญาตให้ผู้เสนอรายงานพิเศษเข้าประเทศเพื่อรวบรวบข้อมูล
ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนตั้งผู้เสนอรายงานพิเศษตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิกถาวร 1 ใน 5 ชาติของคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็น ที่ประกอบด้วย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐฯ
"เกนนาดี กาติลอฟ" เอกอัครราชทูตรัสเซีย เรียกข้อเสนอแต่งตั้งผู้เสนอรายงานพิเศษว่า เป็นเอกสารน่ารังเกียจ ที่มีเจตนาเพียงเพื่อสร้างแรงกดดันต่อรัสเซีย และเป็นเพียงความพยายามของอียูและพันธมิตรเพื่อลงโทษรัสเซียสำหรับการดำเนินนโยบายในประเทศและต่างประเทศอย่างอิสระ รวมถึงเป็นการใช้เวทีนี้เพื่อเผยแพร่ข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จต่อรัสเซีย
เมื่อไม่นานมานี้ รัสเซียระงับการเป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนก่อนที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจะเพิกถอนสมาชิกภาพของรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสืบเนื่องจากการทำสงครามในยูเครน
การลงมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนในวันนี้มีขึ้นเพียงไม่กี่นาทีหลังจาก อาเลส เบียเลียตสกี นักสิทธิมนุษยชนชาวเบลารุส และองค์กรสิทธิมนุษยชน “เมมโมเรียล” ของรัสเซีย รวมถึง องค์กรสิทธิมนุษยชน “ศูนย์เพื่อเสรีภาพพลเมือง” ของยูเครนได้รับการประกาศว่า ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2565 ร่วมกัน