ฟังจากปากทูตรัสเซีย! ปูตินมาเอเปคหรือไม่
ตามที่มีรายงานข่าวอ้างแหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงเมื่อวันอังคาร (11 ต.ค.) ระบุ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียจะเข้าร่วมประชุมผู้นำเอเปคที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. ล่าสุดนายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย ตอบคำถามกรุงเทพธุรกิจทางอีเมล ถึงประเด็นที่ผู้คนยังสงสัย
ยืนยันได้หรือไม่ว่าประธานาธิบดีปูตินจะเข้าร่วมเอเปคซัมมิต
ก่อนอื่นเลย ในนามของสหพันธรัฐรัสเซีย ผมขออวยพรให้ไทย ประธานเอเปคในปัจจุบัน และเพื่อนๆ ของเราในไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเอเปค 2022 ครั้งนี้ การเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำถือเป็นความท้าทายแต่ก็เป็นโอกาสด้วย เราทราบดีจากประสบการณ์ตอนเป็นประธานเอเปคในปี 2555
ปีนี้เราได้รับการเชิญอย่างเป็นทางการจากไทย เราจะพิจารณาอย่างดีที่สุด การตัดสินใจว่าจะส่งผู้มีส่วนร่วมของเราจะมีขึ้นตอนใกล้ๆ วันประชุม
ประเด็นอะไรที่รัสเซียให้ความสำคัญในการประชุมผู้นำเอเปค
เครื่องหมายการค้าของเอเปคมักเป็นเรื่องจิตวิญญาณของความร่วมมือ เราหวังว่าภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน เอเปคจะสามารถมีอิทธิพลเหนือกระแสลบทั้งหมดได้ ฝ่ายรัสเซียเชื่อว่า การประชุมผู้นำในกรุงเทพฯ ที่กำลังจะมาถึงจะช่วยลดความตึงเครียดในประชาคมโลก
รัสเซียกระตือรือร้นจะร่วมมือในเอเปคด้านการทำให้เป็นดิจิทัล เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับส่งเสริมการเชื่อมต่อในเอเชียแปซิฟิก เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง ระเบียงโลจิสติกส์ เราจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับภาคส่วนเศรษฐกิจแบบเดิม ฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง มีกรอบการกำกับดูแลสภาพแวดล้อมด้านข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์ พัฒนาระบบและสายสื่อสาร ใช้ปัญญาประดิษฐ์
เมื่อคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้จึงสำคัญมากด้วยที่จะเดินหน้าปฏิบัติตามโร้ดแมพด้านอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเปคอย่างต่อเนื่อง งานด้านนี้จำเป็นต้องให้ชุมชนธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของผลประโยชน์ที่สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปคบอกมาตลอด
จริงๆ แล้วในการหารือประเด็นความร่วมมือในหมู่เขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อแก้ไขความกดดันของโลกและปัญหาในภูมิภาค เราต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายร้ายแรงมาก ครั้งหนึ่ง เอเปคตามการริเริ่มของรัสเซียเคยรับรองบัญชีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อมและช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
เขตเศรษฐกิจต่างๆ ในเวทีต่างมุ่งมั่นให้สิทธิพิเศษทางการค้าและผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ไทยเองก็สนับสนุนกระแสแบบเดียวกันแต่ในระดับใหม่ อย่างที่คุณทราบดีว่าเรื่องหนึ่งที่ไทยให้ความสำคัญในเอเปคครั้งนี้คือ “ตัวแบบเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน สีเขียว” หรือบีซีจี ประเด็นนี้สำคัญกับสหพันธรัฐรัสเซียมากด้วย เราสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ในด้านนี้
ประเด็นฉุกเฉินอื่นที่สำคัญมากคือเส้นทางปลอดภัย (the “Safe passage”) ของผู้คนในยุคโควิด มีการตั้งคณะทำงานพิเศษภายในเอเปคดูแลเรื่องการเดินทางอย่างปลอดภัยของผู้คน เราหวังว่าข้อตกลงที่ปฏิบัติได้จริงระหว่างผู้เกี่ยวข้องในกลไกนี้จะช่วยเหลือการเดินทางเสรีในเขตเศรษฐกิจเอเปคเนื่องจากแต่ละปีมีพลเมืองรัสเซียมาไทยจำนวนมหาศาล เราเชื่อว่าผลการทำงานของคณะทำงานชุดนี้จะช่วยผ่อนคลายการเดินทางของนักท่องเที่ยวให้คล่องตัว
ในระหว่างสงคราม รัสเซียจะมีส่วนสนับสนุนเอเปคอย่างไร
อย่างที่ผมย้ำว่าสหพันธรัฐรัสเซียมีส่วนร่วมในกระบวนการเอเปคมายาวนาน เรากำลังร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจเอเปคหลายที่ รัสเซียให้ความสนใจมากอย่างที่ผมบอกไปแล้วในด้านการทำให้เป็นดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โมเดลบีซีจี การเปิดเสรีทางการค้าและประเด็นอื่นๆ อีกหลายประเด็น
เรากำลังพัฒนาปฏิสัมพันธ์กับเขตเศรษฐกิจเอเปคสร้างเขตการค้าเสรี รัฐบาลมอสโกมีส่วนร่วมในประเด็นนี้ผ่านคณะกรรมาธิการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคยูเรเซีย (อีอีซี) ซึ่งเวียดนามและสิงคโปร์ได้ลงนามข้อตกลงกับอีอีซีว่าด้วยการค้าเสรี ส่วนอีกหลายข้อตกลงกับประเทศอื่นอยู่ระหว่างการพิจารณา
ในฐานะสมาชิกเอเปค เรายังส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีระยะยาวกับไทย ในสาขาอย่างเกษตรกรรม พลังงานปรมาณู อุตสาหกรรม อุปกรณ์การแพทย์ รัสเซียยังทำโครงการใหญ่แบบเดียวกันนี้กับเขตเศรษฐกิจเอเปคอื่นๆ
สหพันธรัฐรัสเซียพร้อมแล้วที่จะใช้ความพยายามอย่างสูงสุดในการประชุมผู้นำเอเปค หวังว่าผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ จะทำงานด้วยวิธีสร้างสรรค์เช่นกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เราเปิดกว้างสนทนากับทุกคน
แนะ! อย่าพึ่งพาข้อมูลตะวันตกอย่างเดียว
ส่วนคำถามของคุณ คุณย้ำว่ารัสเซียอยู่ในภาวะสงคราม หากพูดในแง่นี้ผมอยากบอกแบบนี้ครับในเงื่อนไขภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบัน ข้อมูลที่มีที่มาหลากหลายสำคัญอย่างยิ่ง ในทัศนะของผมนี่เป็นความผิดพลาด ซึ่งอาจสร้างความเสียหายรุนแรงในระยะยาวถ้าพึ่งพาสื่อตะวันตกแต่เพียงอย่างเดียว องค์กรข่าวสารตะวันตกดูเหมือนกลไกโฆษณาชวนเชื่อมากขึ้นทุกที มีเป้าหมายตอกย้ำความคิดด้านเดียวให้กับผู้ฟัง และล้างสมองผู้อ่านด้วยคำตอบและสูตรง่ายๆ ต่อปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อันซับซ้อนที่ซึ่งผลประโยชน์ของผู้เล่นทุกฝ่ายควรได้รับการพิจารณาและคำนึงถึงอย่างระมัดระวัง ผมหวังว่าเพื่อนชาวไทยคงให้ความสนใจกับสื่อรัสเซีย เอเชีย และตะวันออกกลางมากขึ้น นี่เป็นหนทางเดียวที่สามารถสร้างความคิดเห็นไร้อคติได้