แผลใหญ่ทาง "เศรษฐกิจจีน" ที่รอคอยการแก้ หลังการประชุมสมัชชาใหญ่

แผลใหญ่ทาง "เศรษฐกิจจีน" ที่รอคอยการแก้ หลังการประชุมสมัชชาใหญ่

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 สี จิ้นผิง ได้รายงานการทำงาน โดยระบุถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ แต่หากมองตามจริง "ไม่โลกสวย" สถานการณ์พญามังกร มีแผลใหญ่ทางเศรษฐกิจที่ต้องเร่งรักษา แผลใหญ่ที่ว่าจะมีอะไรบ้างติดตามได้จากบทความนี้

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน กลุ่มผู้นำของพรรคฯ ได้รายงานการทำงาน โดยระบุถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ ตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปี และในรอบทศวรรษที่จีนอยู่ใต้การนำของเขา  

คำว่า "พัฒนา" ปรากฏในการกล่าวรายงานของ สี จิ้นผิง มากกว่า 100 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจที่ สี จิ้นผิง ระบุว่า ผลงานสำคัญทางเศรษฐกิจของจีนในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โดย GDP จีน เติบโตจาก 54 ล้านล้านหยวน เป็น 114 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 18.5% ของเศรษฐกิจโลก เพิ่ม 7.2% และจีนจะพัฒนาเศรษฐกิจจีนต่อไปแบบแท้จริง ไม่ฉาบฉวย โดยอยู่บนรากฐานของการพัฒนานวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงอวกาศ และพลังงาน ที่จีนพยายามนำเสนอความสำเร็จในด้านเหล่านี้อยู่ตลอด

หากมองด้วยความจริง "ไม่โลกสวย" สถานการณ์พญามังกร ณ ขณะนี้ มีแผลใหญ่ทางเศรษฐกิจที่รอการรักษา มิเช่นนั้น จีนอาจไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้ง "อ้ายจง" ขอสรุป 5 แผลใหญ่บนตัวพญามังกร ดังนี้

1. โควิด-19 เป็นศูนย์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ขยายตัวเหลือระดับใกล้ศูนย์

สิ่งที่ผู้คนทั่วโลกต่างจับตามอง "เศรษฐกิจจีน" คือ จีนจะเอาอย่างไรกับมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด นี่ถือเป็นสิ่งที่กระทบต่อเศรษฐกิจจีนโดยตรง 

นับตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา "จีน" บังคับใช้มาตรการ โควิดเป็นศูนย์ อย่างเข้มงวด แม้จะปรับเปลี่ยนเป็น โควิดเป็นศูนย์แบบไดนามิก สื่อถึงการปรับเปลี่ยนเข้ากับสถานการณ์และยืดหยุ่นมากขึ้น แต่โดยรวมก็ยังเข้มงวด (กว่าประเทศอื่นๆ) นำมาตรการล็อกดาวน์มาใช้อยู่เป็นระยะ จนทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นได้จากตัวเลขการขยายตัว GDP ของจีน ไตรมาสล่าสุด ไตรมาสที่สองของปี 2565 ลดเหลือ 0.4% ทำให้ความหวังที่จีนจะมีการขยายตัวของ GDP ตลอดทั้งปี 2565 ทะลุ 5% แทบจะเป็นไปไม่ได้ และประเด็นที่จีนเลื่อนประกาศตัวเลข GDP และสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนประจำไตรมาสที่สามของ 2565 ซึ่งมีกำหนดเดิมในวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ช่วงเวลาเดียวกันกับการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งที่ 20 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด และไม่ได้บอกเหตุผลใดๆ ยิ่งทำให้เกิดการคาดการณ์กันว่า “ตัวเลขน่าจะต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้”

ขณะที่บางฝ่ายก็สันนิษฐานว่า เพราะอยู่ในช่วงการประชุมใหญ่ ทางการจีนจึงไม่อยากให้ข้อมูลที่อาจสร้างความสั่นคลอนและสับสนออกไปในช่วงเวลาสำคัญนี้ จึงรอให้จบการประชุมก่อน 

ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ทำให้จีนเลื่อนประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจ ก็ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจจีน มีสัญญาณอ่อนตัวจริงๆ และอาจเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค แน่นอนว่าจีนไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

2. "อสังหาริมทรัพย์จีน" ยังคงวิกฤติ

ปัจจุบันราคา "อสังหาริมทรัพย์" ในจีน ยังคงลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการผิดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายสิบบริษัท ประกอบกับการประท้วงหยุดชำระหนี้ของผู้กู้เงินที่ทำสัญญาซื้อไปแล้ว แต่บริษัทพัฒนาหยุดการสร้าง เพราะไม่มีเงินเพียงพอ (ในจีนการขายอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นไปในลักษณะของ Pre-sale เป็นหลัก โดยจะเป็นการกู้เป็นทอดทอด คือ นักพัฒนาก็ไปกู้เงินจากธนาคาร หน่วยการเงินมาทำ ขณะที่ผู้ซื้อก็กู้มาซื้อ และนำเงินมาให้ทางผู้พัฒนาหมุนเงิน ซึ่งตอนนี้อสังหาริมทรัพย์จีนเกิดภาวะขาดสภาพคล่อง)

ช่วงท้ายไตรมาสที่สอง และก้าวสู่ไตรมาสที่สามของ 2565 ทางจีนทุ่มเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรวม โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นเงินอย่างน้อย 1.3 ล้านล้านหยวน ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนที่ไม่น้อยเลย แต่ผู้เชี่ยวชาญและสื่อต่างประเทศ ให้ความคิดเห็นว่า "ไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจจีนและแก้ไขวิกฤติอสังหาริมทรัพย์จีนได้"

  • ทำไมถึงไม่น่าจะเพียงพอต่อการแก้ปัญหา?

ปัญหาวิกฤติ อสังหาริมทรัพย์จีน เกี่ยวเนื่องกับ เศรษฐกิจจีน อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะเม็ดเงินในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จีน ครองสัดส่วนราว 20-30% ของ GDP จีนทั้งหมด ดังนั้น หากอสังหาริมทรัพย์จีนสะดุด นั่นจึงส่งผลต่อ GDP และเศรษฐกิจจีนโดยรวม 

ปกติแล้วเม็ดเงินจากภาคอสังหาริมทรัพย์จะเป็นรายได้สำคัญของรัฐบาลท้องถิ่นจีน ซึ่งถือเป็นหน่วยงานด่านหน้าลำดับแรกๆ ที่ต้องแก้ปัญหาเมื่ออสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ของตนเกิดสะดุด โดยปี 2564 รายได้จากที่ดินในพื้นที่ของรัฐบาลท้องถิ่นทั่วจีน อยู่ที่ราวเกือบ 9 ล้านล้านหยวน คิดเป็นมากกว่า 40% ของงบประมาณที่รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละแห่งได้รับ เมื่อไม่นับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง ตั้งแต่ มกราคม - กันยายน ของปี 2565 รายได้ส่วนนี้กลับลดลง 60% ลดเหลือราว 2 ล้านล้านหยวนเท่านั้น เนื่องจากผู้พัฒนาและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในจีน ต่างมีปัญหาหนี้สิน นั่นคือ ลำพังจะหาเงินไปชำระหนี้เงินกู้ก็ลำบากแล้ว จะมีเงินที่ไหนไปซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ๆ อีก

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาย้อนไปในช่วงก่อนเกิดปัญหาโควิด-19  ปัญหาฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน ก็ส่อแววจะรุนแรงขึ้นมาโดยตลอด ทางการจีนจึงเริ่มควบคุมการปล่อยเงินกู้ และกำหนดคุณสมบัติคนที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์เข้มงวดขึ้น เพื่อไม่ให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไรมากเกินไป แต่เน้นอยู่อาศัย และมาเน้นหนักเรื่องนี้ในนโยบาย "รุ่งเรืองร่วมกัน" ที่ริเริ่มโดย สี จิ้นผิง  ยิ่งส่งผลให้สภาพคล่องการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จีน เริ่มค่อยๆ เจออุปสรรคเพิ่มขึ้น

3. ความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการต่างชาติและในจีน

กลยุทธ์เศรษฐกิจแบบ Dual Circulation พัฒนาวงจรภายใน - ตลาดในประเทศ คู่ไปกับวงจรภายนอก - ตลาดนอกประเทศ คือกลยุทธ์ที่จีนมุ่งเน้นตั้งแต่เกิดภาวะวิกฤติโรคระบาด และถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ควบคู่ไปกับการใช้นโยบาย โควิดเป็นศูนย์ และโควิดเป็นศูนย์แบบไดนามิก เวอร์ชันปัจจุบัน เพราะเป็นสิ่งที่จีนนำมาตอบคำถามว่า จีน ยังไม่เปิดประเทศสมบูรณ์แบบ จะแก้ไขและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร?

ในช่วงการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งที่ 20 ก็มีการพูดถึงกลยุทธ์ Dual Circulation ครับ พร้อมเปิดเผยตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศว่า ยังคงเติบโตขึ้น

แต่ถ้าเราดูข่าวจากต่างประเทศ เราจะเห็นถึงความกังวลใน เศรษฐกิจจีน อยู่พอสมควร โดยเฉพาะภาคการประกอบการและการลงทุน เราได้เห็นข่าวผู้ประกอบการต่างชาติเริ่มหันไปยังประเทศอื่นนอกจีน เช่น เวียดนาม โดยมีหลายปัจจัยสาเหตุ แต่ที่มีการยกมาเป็นประเด็นหลักๆ ได้แก่ มาตรการโควิด-19 ของจีนที่เคร่งครัด และความไม่แน่นอนในการดำเนินการ เมื่อเกิดการล็อกดาวน์ รวมถึงการจำกัดต่างๆ

หลายคนที่อ่านถึงจุดนี้ อาจจะคิดว่า เป็นข่าวออกจากสื่อต่างประเทศ สื่อตะวันตก หรือสื่ออเมริกา ที่ต้องการดิสเครดิตจีนหรือเปล่า? และอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดที่คิดเช่นนั้น คำตอบคือ ใช่ ทุกเรื่องราวมีมากกว่าหนึ่งแง่มุมเสมอ แต่สิ่งที่ตัวผู้เขียนประสบเหตุการณ์มาด้วยตนเอง ก็มาจากเพื่อนและคนรู้จักในจีนเอง ที่เริ่มมีพูดถึงการประกอบการของพวกเขาที่ได้รับผลกระทบ  

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ลงลึกไปอีก พบว่า สาเหตุของหลายบริษัทต่างชาติที่หันไปประเทศอื่น ไม่ใช่แค่เรื่องของมาตรการโควิด-19 ในจีน แต่เป็นมาตั้งแต่สงครามการค้าจีนและอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแบนเทคโนโลยีและนวัตกรรมจีน โดยฝั่งอเมริกาและพันธมิตร

เราจึงได้เห็น จีนพยายามมุ่งเน้น (อย่างที่สุด) ในการพัฒนาการผลิตขั้นสูง พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง เพื่อสร้าง Ecosystem เศรษฐกิจในประเทศของตนเองให้แข็งแกร่ง เพื่อสร้างสมดุลกับตลาดนอกจีน อันรวมไปถึงการส่งออกและสร้างโอกาสการเป็นตลาดต่างประเทศให้แก่ประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่ค้าจีนด้วย นี่จึงเป็นคำตอบให้หลายคนได้อีกเช่นกันว่า ทำไมเวลาอ่านข่าวเศรษฐกิจ ข่าวต่างประเทศในจีน จีนจะนำเสนอข่าวความร่วมมือระดับโลก ข่าวการให้ความสำคัญของการค้าระหว่างประเทศ เช่น RCEP อย่างยิ่ง

4. ปัญหาการว่างงานที่ยังคงมีอยู่

จากเศรษฐกิจ และบาดแผลของภาคธุรกิจจีนที่ยังคงไม่หายสนิทจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ อัตราการว่างงาน ปี 2565 ของจีน ยังคงเป็นปัญหาที่จีนยังคงต้องหาทางแก้ โดยอัตราการว่างงานในเขตเมือง ณ ตอนนี้ อยู่ที่ 5-6% ตัวเลขนี้ไม่ได้นับตัวเลขในเขตชนบท ซึ่งว่ากันตามตรง อาจจะมีจำนวนคนว่างงานมากกว่าที่เผยแพร่ออกมาก็เป็นได้ เพราะก็ไม่น่าใช่เรื่องแปลกอะไร หากเราตกงานจากการมาหางานทำในเมือง และจะกลับไปพักกายพักใจที่บ้านในเขตชนบท 

คราวนี้ลองพิจารณาอีกตัวเลขหนึ่ง นั่นคือ ตัวเลขการว่างงานของคนจีนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาว ที่จบจากภาคการศึกษา ไม่ว่าจะการศึกษาระดับมัธยม อาชีวศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา ที่ยังคงสูงเป็นประวัติการณ์จนเกือบแตะ 20% เมื่อเดือนกรกฎาคมมาแล้ว 

5. ปัญหาการหมดแรงใจของคนรุ่นใหม่ 

เป็นอันรู้กันว่า ปัจจุบัน จีน เผชิญกับ อัตราการเกิดที่ต่ำ แม้จะออกนโยบายให้มีลูกคนที่สอง คนที่สาม ได้ เพื่อให้ในอนาคตจีนมีคนรุ่นใหม่มาขับเคลื่อนประเทศ ในขณะที่ตอนนี้จีนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และตอนนี้ ไม่เพียงแต่อัตราการเกิดน้อย อัตราการแต่งงานก็ต่ำ คนจีนรุ่นใหม่ยังเริ่มส่อแววหมดไฟ หมดแรงใจ ดังที่เราเคยเห็นกระแส "躺平 ถ่างผิง" แปลเป็นไทยว่า "นอนราบ" อันสื่อถึง การเบื่อแรงกดดันที่มีอยู่มากมายในสังคมจีน ในการใช้ชีวิต และอยู่เฉยๆ ปล่อยมันไป ซึ่งสะท้อนปัญหาทาง เศรษฐกิจจีน ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะค่าครองชีพสูง ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่ง และแรงกดดันอื่นๆ อีกมากที่เจอช่วงโควิด-19   

จีนเองก็ไม่ได้นิ่งเฉย มีการออกนโยบายต่างๆ มาช่วยแก้ และตัวผู้นำจีนเอง ก็กระตุ้นด้วยการออกแนวคิดใหม่ๆ และตั้งเป้าหมายให้คนจีนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าปัญหานี้จะหนักขึ้น จนเกิดเทรนด์ใหม่ในโลกออนไลน์จีน 摆烂 (ป่ายล่าน) เรียกว่าเป็นภาคต่อของ "นอนราบ" เป็น "ปล่อยให้เน่าไป" ก็คือ ปล่อยไปตามยถากรรม แสดงถึงการหมดแรงหมดไฟในการใช้ชีวิต ซึ่งสามารถดูการแสดงออกได้จากโพสต์บนสังคมออนไลน์ อย่างเช่น Xiaohongshu (เสี่ยวหงซู) แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ไลฟ์สไตล์ชื่อดังของจีน

กล่าวโดยสรุป หลังการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งที่ 20 ทางจีนจะดำเนินการอย่างไร จะรักษาบาดแผลเหล่านี้ได้หายสนิท หรือจะเป็นแผลเรื้อรัง แผลเป็น ที่ไม่มีวันหาย น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

ผู้เขียน : ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่