‘กู้วิกฤตศก.-พลังงานโลก’ภาระกิจหลักสาธารณรัฐเช็กในบทบาทปธ.สภาอียู
‘กู้วิกฤตศก.-พลังงานโลก’ภาระกิจหลักสาธารณรัฐเช็ก ในบทบาทปธ.สภาอียู ซึ่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศ ระบุว่า การทำงานในตำแหน่งนี้ ไม่สามารถสั่งการได้ตามที่ต้องการ แต่มีบทบาทสำคัญคือประนีประนอม
สาธารณรัฐเช็ก เป็นหนึ่งในสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)ที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจในอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ทั้งยังมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามระดับโลก และมีอุตสาหกรรมที่โดนเด่นในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมซึ่งมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้สัมภาษณ์พิเศษ“มาร์ติน เดอร์โวจาค” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเช็ก
ในโอกาสที่สาธารณรัฐเช็กรับตำแหน่งประธานสภาสหภาพยุโรป(อียู)ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่สำคัญนี้
ในการปฏิบัติงานร่วมกับสมาชิกอียู ที่กำลังเผชิญวิกฤตที่น่ากังวลหลายอย่างในขณะนี้ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วิกฤตด้านอาหาร และวิกฤตพลังงาน ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนตั้งแต่ต้นปี
เดอร์โวจาค บอกว่า สาธารณรัฐเช็กได้รับไม้ต่อตำแหน่งประธานสภาอียูเมื่อเดือน ก.ค. ถือเป็นความท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะอยู่ในช่วงที่มีสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแผนและโครงการต่าง ๆ ตลอดช่วงครึ่งปีหลัง
และเช็กต้องปรึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตพลังงานในยุโรป โดยเฉพาะปัญหาแหล่งพลังงานจากรัสเซีย ต้องรวมพลังกันเปลี่ยนสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ได้มีแค่ในเช็กเท่านั้น แต่กระทบหลายประเทศทั่วยุโรปที่พยายามหาแนวทางคลี่คลายวิกฤตนี้
นอกจากนี้ เดอร์โวจาค ยังบอกว่าวิกฤตดังกล่าว ทำให้เช็กมีความกังวลเกี่ยวกับการจัดประชุม European Political Community ที่กรุงปราก เมื่อวันที่ 6-7 ต.ค. ที่ผ่านมาซึ่งเป็นสถานที่รวมตัวของเหล่าประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของสหภาพยุโรปทั้งหมด 44 คน เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาด้านต่าง ๆ กับชาติพันธมิตรยุโรปในอนาคต และหาวิธีรับมือกับวิกฤตในขณะนี้
"แต่เราก็ภูมิใจมาก ที่สามารถรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับบรรดาสมาชิกสหภาพยุโรปได้ แต่เราก็ไม่อาจยอมรับสงคราม จากการที่ประเทศหนึ่งรุกรานอีกประเทศหนึ่งได้เหมือนกัน เราจึงคอยจับตาดูผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นและเราจะเดินหน้าสนับสนุนยูเครนต่อไป" เดอร์โวจาค กล่าว
พร้อมเสริมว่า“การทำงานในฐานะประธานสภาอียูไม่ได้หมายความว่าจะสามารถสั่งการได้ตามที่ต้องการ แต่บทบาทสำคัญของผู้นำคือ การเจรจาประนีประนอม เพื่อให้วาระการประชุมสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและหาแนวทางแก้ไขที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย”
การเดินทางเยือนไทยของรมช.ต่างประเทศสาธารณรัฐเชคมีนัยสำคัญ เนื่องจากอียูมียุทธศาสตร์ใหม่ และสาธารณรัฐเช็กเป็นหนึ่งใน4ประเทศยุโรป ที่รัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนยุทศาสตร์เมื่อสัปดาห์ก่อน เนื่องจากอียูกำลังต่อสู้กับความไม่มั่นคงจากวิกฤตด้านต่าง ๆ สาธารณรัฐเช็กจึงพยายามมองหาพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนที่แข็งแกร่งต่อภูมิภาคยุโรป และต่อภูมิภาคอื่นทั่วโลก
ที่ผ่านมา ทุกคนได้เห็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐเช็กมีบทบาทสำคัญในการเจรจากับผู้นำรัสเซีย เช่น มีส่วนร่วมเจรจาข้อตกลงการส่งออกธัญพืชของยูเครนสำหรับการขนส่งทางทะเลสีดำ
เมื่อถามถึงโอกาสของสาธารณรัฐเช็กเกี่ยวกับบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ยสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพื่อสร้างสันติภาพ เดอร์โวจาคให้ความเห็นว่า ผู้นำสาธารณรัฐเช็กอาจยังไม่มีส่วนร่วมในการเจรจาเรื่องนี้ แต่ในฐานะที่สาธารณรัฐเช็กรับหน้าที่เป็นผู้นำอียู จึงอยากย้ำว่า ทุกคนกำลังทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤติอาหาร
ยูเครนเป็นแหล่งทรัพยากรและสินค้าของหลายประเทศทั่วโลก การที่รัสเซียกีดกันการส่งออกธัญพืชจากท่าเรือยูเครนในทะเลดำ ทำให้เช็กและสมาชิกอียู ต้องเร่งเปิดเส้นทางการขนส่งธัญพืช ไปยังจุดหมายต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาวิกฤติอาหาร
แม้ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเช็กสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณเช็กและรัสเซียอย่างแข็งแกร่งมาตลอด แต่หลังจากเกิดสงคราม ปธน.สาธารณรัฐเช็กไม่เห็นด้วยกับการรุกรานที่เกิดขึ้นได้ และไม่น่าให้อภัย ทั้งยังทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม อียูไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาด้านเดียว แต่เน้นสนับสนุนภาคธุรกิจสำคัญอื่น ๆที่ได้รับผลกระทบด้วย อาทิ ธนาคาร ทั้งยังแก้ไขปัญหาใหญ่อย่างวิกฤตพลังงาน ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในฤดูหนาว โดยทำงานควบคู่ไปกับการรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อปกป้องประชาชนในอียู
เดอร์โวจาค ยังกล่าวว่า"ในฐานะที่ไทยเป็นพันธมิตรที่ดีกับสาธารณรัฐเช็กมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี และปีหน้าความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยและสาธารณรัฐเช็กดำเนินมาครบ 44 ปี จึงมีการฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันผ่านความร่วมมือและการทำงานร่วมกันทั้งในมิติเศรษฐกิจและธุรกิจ"
ที่ผ่านมา ไทยและสาธารณรัฐเช็กมีความร่วมมือกันในด้านอวกาศ โดยสาธารณรัฐเช็กให้การสนับสนุนเต็มที่แก่ประเทศไทย และในอนาคตหวังว่าการลงทุนทางธุรกิจของสาธารณรัฐเช็กในไทยจะพัฒนาไปด้วยดี รวมถึงการลงทุนของไทยในสาธารณรัฐเช็กด้วยเช่นกัน
ส่วนความร่วมด้านเศรษฐกิจ สาธารณรัฐเช็กมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยคาดว่าจะสามารถฟื้นฟูได้ในปีหน้า และสาธารณรัฐเช็กหวังว่าไทยจะเข้าประชุมร่วมกัน ผ่านกิจกรรม “Space Cooperation potential with the Indo-Pacific” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค. ที่กรุงปราก เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาด้านอวกาศร่วมกัน