พารู้จัก "หลินกั่ง" ว่าที่ "ซิลิคอน แวลลีย์" แห่งใหม่ล่าสุดของจีน!!
จับตา! เมืองใหม่ "หลินกั่ง" ว่าที่ซิลิคอน แวลลีย์ แห่งใหม่ของจีน มีดีที่ตรงไหนบ้าง ทำไมแม้แต่ "Tesla" ยังต้องมาลงทุนตั้งฐานผลิตที่นี่
เมื่อเอ่ยถึง Silicon Valley แห่งเมืองจีน เรามักจะนึกภาพ "เซินเจิ้น" เมืองศูนย์รวมเทคโนโลยีและตึกระฟ้ามากมาย มาวันนี้จีนกำลังก่อสร้างและพัฒนาย่านชานเมืองแห่งหนึ่งให้รุ่งเรืองและล้ำหน้ากว่าเซินเจิ้น คือ เขตการค้าเสรี "หลินกั่ง" แห่งเมืองเซี่ยงไฮ้ (中国(上海)自由贸易试验区临港新片区) หรือในชื่อภาษาอังกฤษคือ Lingang Free Trade Zone
สถานะของหลินกั่งถูกจับจ้องมากขึ้น เมื่อล่าสุด "หลี่เฉียง" (李强) เลขาธิการพรรคฯประจำนครเซี่ยงไฮ้ ผู้ถูกคาดหมายว่าจะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีน เป็นรองเเค่ "สี จิ้นผิง" โดย หลี่เฉียง มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์จีนรวมไปถึงส่งเสริมให้บริษัท Tesla เข้ามาตั้งฐานผลิตที่หลินกั่งเเห่งเซี่ยงไฮ้นี้ได้สำเร็จ
บทความนี้จะนำเสนอรายละเอียดของ Silicon Valley จีนแห่งใหม่ที่น่าจับตานี้และความท้าทายในอนาคต เพื่อเป็นประโยชน์ในการปรับใช้ในเมืองไทย
สำหรับ "เขตการค้าเสรีหลินกั่ง" มีขนาด 120 ตารางกิโลเมตร ทางเหนือติดแม่น้ำต้าจื้อ (大治河) ทางตะวันตกติดท่าเรือจินฮุ่ย (金汇港) ทางใต้ติดอ่าวหางโจว (杭州湾) และทางตะวันออกติดทะเลเหลือง (黄海) อีกทั้งยังมีขยายเพิ่มไปที่พื้นที่ทางใต้บางส่วนของสนามบินนานาชาติผู่ตงเเละเกาะเซี่ยวหยางซัน (小洋山岛)
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในปี 2561 เมื่อสี จิ้นผิงมาเยือนชานเมืองเซี่ยงไฮ้แห่งนี้ และตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างที่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์รวมแห่งเทคโนโลยี และนวัตกรรมล้ำสมัยต่างๆ
เหตุผลที่เลือกย่านหลินกั่ง เนื่องจากอยู่ในเมืองนานาชาติอย่างเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางค้าขายระหว่างประเทศ และหากเดินทางด้วยเรือ ห่างออกไปเพียง 35 กม.จากหลินกั่งลงไปทางใต้ ก็จะเป็นท่าเรือน้ำลึกหยางซาน ท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และจากหลินกั่งไปทางเหนืออีกราว 20 กม.ก็เป็นสนามบินนานาชาติเซี่ยงไฮ้ผู่ตง
ที่สำคัญบริษัทชื่อดังอย่าง Tesla ได้ซื้อพื้นที่ในหลินกั่งนี้ที่ราคา 140 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานรถยนต์ด้วย
นอกจากนี้ เขตหลินกั่งยังมีความร่วมมือทางวิทยาการกับมหาวิทยาลัยลำดับต้นของจีนในเซี่ยงไฮ้อย่างมหาวิทยาลัยซ่างไห่เจียวทง(上海交通大学) และมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น(复旦大学)
- เป้าหมายการพัฒนา 9 อย่าง "เขตพิเศษหลินกั่ง"
เขตพิเศษหลินกั่งได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนา 9 อย่าง ดังนี้
1. AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแทนที่มนุษย์ทั้งในงานที่จำเจและงานที่ใช้ข้อมูลประมวลผลมาก โดยจีนตั้งเป้าหมายให้ที่นี่เป็นศูนย์ผลิตชิป AI , รถยนต์ไร้คนขับ, เซนเซอร์อัจฉริยะ, หุ่นยนต์อัจฉริยะ ฯลฯ พร้อมดึงบริษัทจีนอย่าง iFlytek ที่สร้าง AI และซอฟต์แวร์จดจำเสียง, บริษัท Cambricon ทำชิปขับเคลื่อนอัตโนมัติเข้ามา และตั้งกองทุน Shanghai Investment Fund เริ่มต้นที่ 10 พันล้านหยวนสนับสนุนวิจัย AI
2. วงจรรวม (Integrated Circuit) ทราบหรือไม่ว่า ของรอบตัวเราไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก รถยนต์ หรือแม้แต่เครื่องซักผ้าก็ต้องพึ่งพาชิป! จีนจึงตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางผลิตชิป เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติอย่างไต้หวันและสหรัฐฯ โดยมีกว่า 40 บริษัทเข้าร่วม เช่น บริษัท Huada Semiconductor, ZingSemi, Macronix, Galaxycore Microelectronics, AMEC, Cambricon, และ iFlytek
3. การแพทย์สมัยใหม่ (Biomedicine) จีนกำหนดเป้าหมายให้ที่หลินกั่งเป็นศูนย์บริการการแพทย์ระดับโลก มีการรักษาที่ล้ำสมัยอย่างเซลล์บำบัด (Cell Therapy) การรักษาที่ดูลึกไปถึงพันธุกรรมในแต่ละคน ว่าควรรักษาแบบใด (Precision Medicine) โดยการพัฒนาดังกล่าว จะช่วยจีนลดต้นทุนการแพทย์ที่สูงจากเครื่องมือแพทย์ และยารักษาของต่างประเทศได้
บริษัทที่เข้าร่วมเขตหลินกั่งนี้ก็จะมีบริษัท TopAlliance ผู้ผลิตยาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals), Dejian วิจัยโปรตีน และยาโพลีเปปไทด์, Celgene Biopharma วิจัยผลิตโปรตีนลูกผสม(Recombinant Protein)และแอนติบอดีรักษามะเร็ง, Dragon Sail Pharmaceutical วิจัยและผลิตแอนติบอดีรักษามะเร็งเช่นกัน
ขอบคุณภาพจาก xinhuathai
4. การบินและอวกาศ (AEROSPACE &AERONAUTICS) ในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตที่เราใช้ต้องพึ่งพาดาวเทียมนอกโลก และมนุษย์ต่างใฝ่ฝันออกนอกอวกาศเพื่อสำรวจโลกใหม่ แสวงหาทรัพยากร ด้วยเหตุนี้เขตหลินกั่งจึงถูกตั้งเป้าหมายให้เป็นที่วิจัย และพัฒนาเครื่องยนต์การบิน การนำทางทางดาวเทียมจีนที่คล้าย GPS อย่าง Beidou Navigation Satellite System และโดรน โดยรัฐบาลจีนมีแผนสนับสนุนเงินอุดหนุนบริษัทที่พึ่งก่อตั้ง หรือแม้แต่การควบรวมซื้อกิจการต่างชาติที่มีต้นทุนการควบรวม 10 ล้านหยวนขึ้นไป รัฐบาลจะช่วยอุดหนุน 5% ของต้นทุนการควบรวมดังกล่าวนี้ สูงสุดที่ 5 ล้านหยวน
หน่วยงานที่ร่วมด้านนี้ก็จะมีบริษัทของรัฐอย่าง AECC Commercial Aircraft Engine, สถาบัน Aircraft Engine Research Institute of Shanghai Jiao Tong University และสถาบัน Innovation Academy for Microsatellites of CAS
5. รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Vehicle) เป็นแนวโน้มใหม่แห่งอนาคต ปัญหาขาดแคลนแบตเตอรี่ อุปกรณ์รถยนต์จำเป็นเมื่อเกิดโรคระบาด สงคราม เหล่านี้จึงทำให้จีนสร้างศูนย์พัฒนานี้ขึ้นมาสนับสนุนการผลิตรถให้เชื่อมกับอุปกรณ์รอบตัวเรา โดยในเฟสหนึ่ง จีนได้เปิดถนนทดลองรถไร้คนขับ พร้อมจำลองระบบไฟจราจร ทางด่วน สิ่งปลูกสร้างเป็นระยะทางกว่า 26.1 กม.
ในปัจจุบันบริษัทที่เข้าร่วมในเขตหลินกั่งก็จะมีบริษัทรถจีนอย่าง SAIC Maxus,SAIC Roewe, Yanfeng, Mercedes Benz, Tesla และยังมีบริษัทที่ร่วมผลิตรถบรรทุกขับเคลื่อนเอง ไม่ต้องใช้มนุษย์อย่างบริษัท TrunkTech, Tu Simple, Horizon Robotics
ขอบคุณภาพจาก xinhuathai
6. การผลิตอุปกรณ์เครื่องจักร (Equipment Manufacture) จีนตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์รวมการผลิตเครื่องจักรระดับสูงได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรสำรวจทางน้ำ อุตสาหกรรมใต้ทะเล เครื่องขุดเจาะน้ำมัน ฯลฯ
บริษัทที่เข้าร่วมด้านเครื่องจักรนี้ก็มีบริษัท Shanghai Waigaoqiao Shipbuilding and Offshore, CSSC-MES, CME WARTSILA, Shanghai Electric Nuclear Power Equipment และบริษัทสัญชาติจีนชื่อดังอย่าง SANY หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องจักรกลหนักที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของจีนและอันดับ 3 ของโลก
7. การชุบชีวิตสินค้าให้กลับมาใหม่อีกครั้ง (Green Remanufacturing) เป็นกระบวนการนำสินค้าที่ผ่านการใช้งานแล้วมาคืนสภาพให้เทียบเท่าของใหม่อีกครั้ง ช่วยลดขยะโลก
บริษัทที่เข้าร่วมก็จะมีบริษัทสัญชาติเมริกาอย่าง Caterpillar ผู้ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดในโลก, Mercedes-Benz, Shanghai Yixin Remanufacture
8. การเงินและการค้าระหว่างประเทศ (Finance& New International Trade) ผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งเซี่ยงไฮ้นี้ให้เป็นศูนย์รวมการเงินและค้าขายระดับสากล ในอีกทางเลือกหนึ่งแทนฮ่องกงที่เคยประสบความขัดแย้งทางการเมือง
9. การค้า, วัฒนธรรม, ท่องเที่ยวและกีฬา (Commerce, Culture, Tourism, Sports) ประสาน 4 อย่างนี้ให้ส่งเสริมร่วมกันอย่างเช่นการส่งเสริมภาพยนตร์จีน กีฬา (Soft Power) ที่ช่วยเผยแพร่ทั้งวัฒนธรรมและกระชับความสัมพันธ์นานาชาติในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าและการท่องเที่ยวด้วย
ขอบคุณภาพจาก xinhuathai
- ความท้าทายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจหลินกั่ง
ในขณะนี้เขตเศรษฐกิจหลินกั่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งการลงทุนในโรงงานที่ทันสมัยจำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์ไม่น้อย ประกอบกับจีนมีสิ่งท้าทายการพัฒนานี้อยู่ 4 ประการ ดังนี้
1. ภาวะเศรษฐกิจจีนกำลังหดตัวจากนโยบายโควิดต้องเป็นศูนย์
2. ปัญหาหนี้อสังหาฯจำนวนมาก โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจหดตัว กำลังซื้อหดหาย
3. ความพยายามกีดกันเทคโนโลยีจีนซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการกีดกันโทรคมนาคม HUAWEI, Tiktok, ชิป,ฯลฯ ลดความร่วมมือทางวิทยาการต่างๆลง
4. นโยบายรัฐบาลจีนที่ต้องการจัดระเบียบเอกชนจีน
เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความคืบหน้าในการก่อสร้าง การพัฒนา Silicon Valley ของจีนนี้ขยายเวลาออกไป
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจคือ หลายปีมานี้รัฐบาลจีนพยายามยกระดับแรงงานจีนจากแต่เดิมที่เป็นเพียงรับจ้างประกอบให้เป็นแรงงานขั้นฝีมือ อีกทั้งล่าสุด องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) ได้รายงานว่า จีนมีสถิติยื่นจดสิทธิบัตรโลกสูงที่สุดในโลกอยู่ที่ 69,540 รายการ ในขณะที่สหรัฐฯอยู่ที่ 59,570 รายการ และเทคโนโลยีจีนหลายอย่างก็กำลังขึ้นมาในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น BYD, Xiaomi, HUAWEI, Lenovo, Tencent Cloud
นอกจากนี้จีนยังสามารถส่งยานสำรวจไปถึงดาวอังคารได้สำเร็จเหมือนสหรัฐฯ เเม้ว่าเมื่อครั้งปี 2011 จะถูกปิดกั้นจากสหรัฐฯไม่ให้ใช้สถานีอวกาศนานาชาติเเละไม่ให้ NASA ร่วมมือทางวิทยาการกับบริษัทจีนจากกฎหมายที่ชื่อว่า The Wolf Amendment ก็ตาม
ความสามารถจีนในการพลิกขึ้นมาสร้างเทคโนโลยีของตัวเองได้สำเร็จเหล่านี้ จึงคาดว่าจะเป็นผลดีระยะยาวต่อการพัฒนา Silicon Valley จีนแห่งใหม่
เมื่อเราสรุปความท้าทายของจีนจากทั้ง 4 ประการ จะพบว่า ความท้าทายใหญ่คือ “ความเสี่ยงด้านการเมือง” ไม่ว่าจะเป็นความเข้มงวดโควิดต้องเป็นศูนย์จนกระทบไปถึงภาคอสังหาฯ การเข้าจัดระเบียบบริษัทเอกชนที่มากเกินควร เหล่านี้จึงทำให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม หลายสายตาต่างคาดหวังว่ามรสุมจากการควบคุมดังกล่าวจะเป็นสิ่งชั่วคราว เพราะหากจีนต้องการส่งเสริมนวัตกรรมของประเทศ การกลับมาผ่อนคลายโควิด เเละผ่อนปรนความเข้มงวดในเอกชนจีน ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเพราะการยืดหยุ่นให้เอกชนจีนสามารถทำธุรกิจได้อย่างเต็มที่ ย่อมเป็นเเรงจูงใจสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมได้
อ้างอิง : lingang , asiafinancial