6 ปี 5 นายกฯ การเมืองอังกฤษโดยสรุป | กันต์ เอี่ยมอินทรา
ภายในระยะเวลาเพียง 6 ปี ตั้งแต่มีการลงประชามตินำประเทศออกจากสหภาพยุโรป (อียู) สหราชอาณาจักรเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีแล้วถึง 5 คน
ประเทศแม่แบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีกษัตริย์เป็นประมุขที่ไทยเรายึดแบบอย่างภายใต้การนำของพรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งหลายครั้งและปกครองประเทศมาอย่างยาวนานเกือบ 12 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ.2553) พรรคแนวคิดอนุรักษนิยมนี้ชนะการเลือกตั้งหลังจากที่โทนี่ แบลร์ ลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นคู่แข่งที่ปกครองประเทศมานานกว่า 10 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ.2540)
“เดวิด คาเมรอน” นำพาพรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งและพลิกให้พรรคที่เคยเป็นฝ่ายค้านอยู่นานถึง 12 ปีกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง นับจากวันนั้นจวบวันนี้ ก็ระยะเวลาประมาณ 12 ปีแล้ว ที่พรรคคอนเซอร์เวทีฟครองอำนาจภายใต้การชนะการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรรคอนุรักษนิยมครองอำนาจอย่างยาวนานถึง 12 ปีก็เพราะพรรคแรงงาน พรรคแรงงานภายใต้การนำของอดีตหัวหน้าพรรค“เจเรมี คอร์บิน”ที่มีทั้งบุคลิคและแนวนโยบายที่ไม่ค่อยโดนใจคนอังกฤษ จนทำให้การเลือกตั้งล่าสุดพ่ายแพ้อย่างถล่มทลายยับเยินที่สุดในรอบ 90 ปี ตัดสินใจลาออกจากหัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้าน
พรรคอนุรักษนิยมภายใต้การนำของ “เดวิด คาเมรอน” ดูมีทีท่าจะครองอำนาจอย่างยาวนานเช่นเดียวกับ “โทนี แบลร์” เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่คล้ายกัน คือ การประนีประนอมทั้งความก้าวหน้าและอนุรักษ์นิยม กับตัวนายกฯเอง ที่เป็นสเปคของคนอังกฤษ กล่าวคือ เป็นผู้ดี มีการศึกษาสูง (จากออกซ์ฟอร์ด) พูดจาดี มีมารยาท มีความเป็นสุภาพบุรุษ
จนกระทั่งประชามติเบร็กซิท ที่ประชาชนเลือกให้ประเทศแยกตัวออกจากยุโรป เดวิด คาเมรอน ผู้ซึ่งสนับสนุนให้ประเทศยังรวมตัวกับยุโรปประกาศลาออก และถูกแทนที่ด้วย “เทเรซา เมย์” ในฐานะนายกฯโดยมี บอริส จอห์นสัน เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเบอร์ 2 ในทางการเมือง
และนั่นคือปฐมบทแห่งความวุ่นวายภายหลังจากคาเมรอนปกครองประเทศมาแล้ว 6 ปี ซึ่ง ณ ตอนนั้นยังไม่มีใครจะรู้ว่าภายในระยะเวลาอีก 6 ปีที่จะถึงนั้น เสถียรภาพทางการเมืองของอังกฤษถือเป็นช่วงเวลาที่สั่นคลอนมากที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่เพราะการเปลี่ยนนายกฯถึง 5 คน
3 วิกฤติใหญ่ๆ ที่อังกฤษเผชิญคือ กรณีเบร็กซิท ซึ่งจนแล้วจนเล่าก็ยังคงตามหลอกหลอนคนอังกฤษอยู่จนปัจจุบัน วิกฤติโควิดซึ่งทำให้คนล้มตายจำนวนมากจากการบริหารที่ไม่ทันท่วงทีในช่วงแรกของวิกฤติ และวิกฤติการสู้รบในยูเครนที่ทำให้เกิดยุคข้าวยากหมากแพง พลังงานแพงและเงินเฟ้อสูง
หากมองอย่างผิวเผิน เบร็กซิทดับอนาคตทางการเมืองของคาเมรอนและเมย์ โควิดดับอนาคตที่จะไปต่อของจอห์นสัน และปัญหาเศรษฐกิจนั้นดับฝัน “ลิซ ทรัสส์” ผู้ซึ่งอยากจะตามรอยอดีตนายกฯหญิงเหล็ก “มาร์กาเร็ต แธตเชอร์” แต่ถ้าหากไม่ไร้เดียงสาทางการเมืองจนเกินไปนักจะเห็นได้ว่าเหตุผลข้างต้นนั้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่มีฐานรากของปัญหาอันมหึมานั่นคือการชิงดีชิงเด่นแย่งอำนาจกันเองภายในพรรคอนุรักษนิยม
“ริชี ซูแน็ก” คือนายกฯคนใหม่กับภาระกิจกู้ชาติเพราะค่าเงินปอนด์ที่ตกต่ำจากนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดจึงเป็นที่จับจ้องและเอาใจช่วยอย่างมาก
เช่นเดียวกับที่ถูกจับตาเพราะจะป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อังกฤษจะถูกปกครองโดยนายกฯที่อาจดูไม่เหมือนกับคนอังกฤษดั้งเดิม ทั้งสีผิว ศาสนา เชื้อชาติ และฐานะที่ร่ำรวยมหาศาล