"เฟด" ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด ดันอัตราดอกเบี้ยสหรัฐสูงสุดรอบ 14 ปี
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ครั้งที่ 4 ติดต่อกัน ดันอัตราดอกเบี้ยสหรัฐแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี หลังแรงกดดัน "เงินเฟ้อ" ในประเทศยังสูง “พาวเวล” ชี้สู้เงินเฟ้อ “ต้องใช้เวลา” ส่งสัญญาณยังไม่ผ่อนคันเร่ง
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมเมื่อวันพุธ (2 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น หลังเข้าสู่ปี 2565 ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% โดยมุ่งเป้าไปที่การต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
อัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งถูกปรับขึ้นมาแตะ 3.75-4.00% ในปัจจุบัน นับเป็นระดับสูงที่สุดของสหรัฐตั้งแต่เดือน ม.ค. 2551 หรือในรอบกว่า 14 ปี
ทั้งนี้ เฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน หลังปรับขึ้นอัตราเดียวกันในเดือนมิ.ย., ก.ค. และ ก.ย. ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐยังอยู่ในระดับสูง และนับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 6 ของเฟดในช่วง 9 เดือนหลัง
นอกจากนี้ แถลงการณ์ล่าสุดของเอฟโอเอ็มซี ยังส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบาย โดยระบุว่า "เฟดจะพิจารณาการคุมเข้มนโยบายทางการเงิน จากปัจจัยผลกระทบที่นโยบายทางการเงินมีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และความคืบหน้าทางเศรษฐกิจและทางการเงินด้วย"
ด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด แถลงว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อฉุดอัตราเงินเฟ้อลงมานั้น "ยังต้องใช้เวลา" และการต่อสู้กับเงินเฟ้อจะส่งผลให้การเติบโตของสหรัฐชะลอตัว อย่างไรก็ดี เฟดจะหารือเรื่องการผ่อนความเร็วการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค.นี้
- เป็นไปตามตลาดคาดการณ์
การประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ของเฟดเป็นตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ โดย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 86.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. และให้น้ำหนัก 47.9% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.
ขณะเดียวกัน บรรดานักลงทุนคาดว่า เฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.50% ในการประชุมเดือน ธ.ค. และจากนั้นจะเริ่มลดวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. ปีหน้า
นายไมเคิล กาเพน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากแบงก์ ออฟ อเมริกากล่าวว่า “เราคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งนี้ และจากนั้นจะเริ่มส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.”
- คาด "เงินเฟ้อ" สหรัฐผ่านจุดพีคแล้ว
บรรดานักลงทุนมองว่า ดัชนี PCE บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และจะลดแรงกดดันในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
สำนักงานสถิติกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 6.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 6.2% เช่นกันในเดือนส.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.3%
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากดีดตัวขึ้น 0.3% เช่นกันในเดือนส.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 5.1% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.2% แต่สูงกว่าระดับ 4.9% ในเดือนส.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนส.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)