"ริชี ซูแน็ก" กับ "งานหิน" ที่รออยู่ | กันต์ เอี่ยมอินทรา
การเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนใหม่ของ “ริชี ซูแน็ก” ภายใต้ภาวะวิกฤติปัญหาเศรษฐกิจถือเป็นงานหิน
หินเพราะ อังกฤษกำลังประสบปัญหาพร้อมๆ กันในหลายด้าน ทั้งปัญหาค่าครองชีพแพง เงินเฟ้อมาก ค่าเงินปอนด์ตกต่ำ พลังงานราคาสูง วิกฤติการสู้รบในยูเครน โรคระบาดโควิด-19 และปัญหาต่อเนื่องจากการนำประเทศออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
ปัญหาที่ดูมากมายนี้แท้จริงแล้วเริ่มต้นจากการนำประเทศออกจากสหภาพยุโรป เพราะอังกฤษและหลายประเทศในยุโรปเคยมีกำแพงภาษีเป็นศูนย์ และก็ต่างพึ่งพากันในเรื่องของอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลาย การนำประเทศออกจากเขตเศรษฐกิจนั้นจึงทำให้ต้องมีการจัดการภาษีเสียใหม่ และในที่สุดก็เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าราคาสินค้านั้นมีการปรับตัวขึ้น
ราคาสินค้ายังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลัง Brexit และก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเนื่องมาจากปัญหาอุปทานสินค้าในช่วงโควิด และล่าสุดปัญหาการสู้รบในยูเครน ที่กระทบทั้งในแง่ของสินค้าเกษตรและพลังงานที่ขาดแคลนอย่างหนักจนราคาผันผวนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายช่วยเหลือค่าไฟค่าก๊าซแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอกับส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น
เพราะเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่เลือกให้ประเทศออกจากสหภาพยุโรปจากประชามติ Brexit และเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่พรรคคอนเซอร์เวทีฟชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย คือต้นน้ำที่มาของราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ตอนนี้ประชาชนจึงจำต้องรับกับดอกผลของการเลือกตั้งครั้งนั้น
และนี่คือความสวยงามของประชาธิปไตย ที่คนมีสิทธิเลือก โดยถึงแม้ว่าทางเลือกนั้นๆดูจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่น่ารื่นรมย์เท่าไรนัก แต่นั่นก็คือสิทธิของประชาชนที่จะเลือก สิทธิในการลองผิดลองถูก ไม่ใช่ถูกลิดรอนสิทธิเพียงเพื่อข้ออ้างเรื่องผลประโยชน์ของชาติ นักการเมืองจึงมีหน้าที่ในการสื่อสารสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ดีกับประเทศและขายนโยบายสื่อสารออกไปให้ประชาชนเชื่อและเลือกเข้ามาทำหน้าที่
แต่สิ่งที่คนอังกฤษไม่ได้เลือกแต่จำต้องมารับผลกรรมในปัจจุบันคือ ผลพวงจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ของ “ลิซ ทรัสส์” นายกฯคนก่อน ผู้ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเพียง 45 วันหลังถูกกดดันอย่างหนักจากคนในพรรคเพราะนโยบายที่สุ่มเสี่ยงและในที่สุดถูกประเมินว่าผิดพลาดจากกลไกตลาดที่ค่าเงินปอนด์ตกลงอย่างหนัก แม้องค์กรชั้นนำอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และอีกหลายประเทศ ออกมาเตือนถึงการใช้นโยบายดังกล่าวแล้วก็ตาม
การรับช่วงต่อของ ริชี ซูแน็ก จึงเป็นงานที่ท้าทายนายกฯคนปัจจุบันอย่างมาก
จะว่าไปแล้ว ริชี ซูแน็ก นั้นเช็คทุกช่องของคุณสมบัติการเป็นนายกฯของอังกฤษที่แสนจะเพียบพร้อมตามแบบฉบับผู้ดีอังกฤษ นั่นคือ เป็นผู้ดี มาจากชนชั้นกลางค่อนสูงที่มีฐานะ มีการศึกษาที่ดี จบการศึกษาจากโรงเรียนชั้นนำตั้งแต่มัธยมคือ Winchester College ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโรงเรียนประจำชั้นดีและเก่าแก่ถึง 600 กว่าปีของอังกฤษ
ดีกรีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะนายกฯอังกฤษ และที่พิเศษคือดีกรีปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำของสหรัฐด้วยทุนที่ดีที่สุดของรัฐบาลสหรัฐอย่างทุนฟูลไบรท์ ไม่นับรวมสิ่งละอันพันละน้อยเรื่อยมาจนกระทั่งประสบการณ์ทำงานในวาณิชธนกิจชื่อดัง
ดังนั้นจึงไม่เกินเลยไป หากจะพูดว่า “ซูแน็กเป็นคนเก่ง” แต่จะเก่งพอที่แก้ปัญหาที่ถาโถมประเทศอยู่ในขณะนี้ได้หรือไม่นั้น เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์