‘เงินทุน-ยา-ผู้ประสานงาน’ปัจจัยหนุนงานแพทย์อาสาการทูตสาธารณะ ปี2565
กระทรวงการต่างประเทศและมูลนิธิไทย ร่วมจัดพิธีมอบ ‘รางวัลการทูตสาธารณะ’ ประจำปี 2565 เป็นปีแรก โดยผู้ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะของไทยคนแรก คือ ‘นายแพทย์สุนทร อันตรเสน’ แพทย์เฉพาะทางแผนกหู คอ จมูก โรงพยาบาลราชวิถี
กระทรวงการต่างประเทศและมูลนิธิไทย ร่วมจัดพิธีมอบ ‘รางวัลการทูตสาธารณะ’ ประจำปี 2565 (Public Diplomacy Award) เป็นปีแรก ณ วิเทศสโมสรกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะของไทยคนแรก คือ ‘นายแพทย์สุนทร อันตรเสน’ แพทย์เฉพาะทางแผนกหู คอ จมูก โรงพยาบาลราชวิถี
ปัจจุบัน นายแพทย์สุนทร เป็นที่ปรึกษาโรงพยาบาลราชวิถีและกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งนพ.สุนทร ได้จัดตั้งและดำเนินงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เดินทางให้บริการตรวจักษาและผ่าตัดโรคหูน้ำหนวกให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทั้งในและต่างประเทศมามากกว่า 30 ปี รักษาผู้ป่วยมาแล้วกว่า 70,000 ราย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
กรุงเทพธุรกิจได้รับโอกาสพิเศษสัมภาษณ์นพ.สุนทร เกี่ยวกับการทำงานและอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นมาตลอด เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจของการเป็นแพทย์อาสาถึง 30 ปี นพ.สุนทรเผยว่า สมัยเรียนจบแพทย์ใหม่ ๆ ได้ไปทำงานที่ต่างจังหวัดกับหน่วยแพทย์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 9 และได้ทำงานกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ด้วย จึงเริ่มสนใจหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตั้งแต่ตอนนั้น เมื่อทำงานก็ได้เจอประชาชน มาขอยาและขอรับการรักษาจำนวนมาก ซึ่งสมัยนั้นไม่มีโรงพยาบาลในอำเภอ หนึ่งจังหวัดมีหมอเพียง 3 คนเท่านั้น
ดังนั้น หน่วยแพทย์เคลื่อนที่จึงสามารถช่วยรักษาผู้ป่วยที่เข้าถึงยากได้มากขึ้น ต่อมาจึงคิดว่า "เราควรนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปตามต่างจังหวัด ดีกว่ารอรับผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล เพราะคนไข้เหล่านี้ เดินทางไปหาหมอได้ยากลำบาก อีกทั้งหมอเฉพาะทางมีแค่ในเชียงใหม่กับกรุงเทพฯเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น เราสามารถช่วยสอนและฝึกหมอต่างจังหวัดได้ด้วย"
ส่วนเคสผู้ป่วยที่มีความท้าทายมากที่สุดสำหรับนพ.สุนทรคือ ผู้ป่วยในประเทศไทย เมื่อราวปี 2518 มีเด็กป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคฝีในสมองเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งเกิดจากโรคหูน้ำหนวก โดย 10% ของคนไข้เป็นโรคหูน้ำหนวกชนิดร้ายแรง หากไม่ได้รับการผ่าตัดอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากฝีจะลามไปที่สมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดไข้สูง ชักและเสียชีวิต ดังนั้น จึงอยากให้มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่คอยช่วยเหลือคนไข้ตามโรงพยาบาลประจำอำเภอ แต่สมัยนี้ผู้ป่วยโรคหูน้ำหนวกเริ่มลดลงมากแล้ว
ขณะนี้คุณหมอมีหน้าที่ระดมทุนเพื่อใช้ดำเนินงาน โดยแต่ละครั้งที่ออกงานจะมีคนทำงานทั้งหมด 18 คน อาทิ ทีมผ่าตัด ทีมจ่ายยา ทีมตรวจการได้ยิน และหมอดมยา เป็นต้น ซึ่งต้องจัดยาให้เพียงพอสำหรับคน 1,000 คนขึ้นไป อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางจำนวนมาก อาทิ ค่าเครื่องบิน ค่าขนย้ายอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งมีน้ำหนักราว 1 ตัน ซึ่ง การทำงานแต่ละครึ่งต้องมีเงินทุนประมาณ 1 ล้านบาท บางครั้งได้รับบริจาคจากต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ ทางหน่วยงานไม่มีผู้มีให้เงินทุนเป็นประจำ ต้องคอยระดมทุนเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจบริจาค สามารถให้ได้ทั้งเครื่องมือและเงินทุน
แต่อุปกรณ์การแพทย์ค่อนข้างมีครบแล้ว ยังขาดการสนับสนุนด้านยารักษาและเงินทุนดำเนินงานต่าง ๆ และต้องการผู้ประสานงาน แต่เดิมมีเพียงคุณหมอและภรรยาที่เป็นคนประสานงาน หาที่พัก เตรียมการเดินทางและสถานที่ ทั้งยังมีอุปสรรคอีกอย่างคือ การนำเครื่องมือแพทย์และยาเข้า-ออกประเทศ เพราะต้องผ่านการอนุมัติหลายกระทรวง จึงต้องเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 4 เดือน หากมีผู้ช่วยด้านนี้อาจทำให้การทำงานราบรื่นมากขึ้น
สุดท้าย นพ.สุนทรได้ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจทำงานด้านจิตอาสาว่า "การทำงานด้านนี้มีปัจจัยหลายอย่าง อย่างแรก ควรแจ้งให้คนในครอบครัวทราบและเห็นด้วยกับเป้าหมายของเรา บางคนอาจมีความจะเป็นต้องอยู่ดูแลครอบครัว อาจออกไปทำงานด้านนี้ไม่ได้ ดังนั้น ครอบครัวคือสิ่งสำคัญที่สุด"
อย่างที่สองคือ เพื่อนร่วมงานทุกคน ต่างเสียสละเวลาทำงานหาเงินของตนเองมาช่วยงาน จึงต้องร่วมกันทำงานด้วยความเต็มที่ อย่างที่สามคือ เงินทุน แต่สิ่งนี้สำคัญน้อยที่สุด อย่างไรก็ดี ทีมแพทย์ส่วนใหญ่ของนพ.สุนทร เป็นคนที่ช่วยงานประจำและทำงานด้วยกันมากกว่า 10 ปี ผลัดกันเข้ามาช่วย จากทั้งภาคเหนือจนถึงภาคใต้ รวมถึงมีแพทย์รุ่นใหม่เข้ามาทำงานด้วย ซึ่งทางคุณหมอพยายามหาแพทย์รุ่นใหม่ฝีมือดี เข้ามาช่วยทำงานผลัดกับแพทย์ที่มีอายุ เพื่อให้แพทย์รุ่นใหม่มีประสบการณ์มากขึ้น
ทั้งนี้ รางวัลทูตสาธารณะในปีนี้ จะได้รับถ้วยรางวัล “Goodwill” หรือ “ความปรารถนาดี” พร้อมใบประกาศนียบัตรและเงินรางวัลจำนวน 500,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนในการดำเนินงานสานต่อภารกิจของทูตสาธารณะต่อไป กรุงเทพธุรกิจขอแสดงความยินดีกับนพ.สุนทรเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้อุทิศตนทำงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลและเข้าถึงการรักษาได้ยากลำบาก เป็นแบบอย่างที่ดีและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนในสังคมทั้งในและต่างประเทศ