รู้จักศก. ‘กาตาร์’ ประเทศเล็กพริกขี้หนู สู่เจ้าภาพ ‘บอลโลก 2022’

รู้จักศก. ‘กาตาร์’ ประเทศเล็กพริกขี้หนู สู่เจ้าภาพ ‘บอลโลก 2022’

สำนักข่าวแอสโซซิเอเต็ดเพรส (เอพี) ได้เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจพาทุกคนรู้จักกาตาร์ มาดูกันว่าประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้สามารถใช้จ่ายมหาศาลเพื่อจัดงานฟุตบอลโลกได้อย่างไร !

กาตาร์มีประชาชนอาศัยอยู่ราว 2.9 ล้านคน แต่มีเพียงสัดส่วนเล็กๆ ราว 1 ใน 10 เท่านั้นที่เป็นพลเมืองกาตาร์ ซึ่งประเทศเล็ก ๆ บนปลายสุดทางของคาบสมุทรที่ยื่นออกไปในอ่าวเปอร์เซีย ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า "นอร์ทฟิลด์" แหล่งก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่กาตาร์ถือครองร่วมกับอิหร่าน หรือประมาณ 10% ของแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองที่รู้จักทั่วโลก ทำให้กาตาร์ร่ำรวยและมีอิทธิพลภายในเวลาไม่กี่สิบปี

รู้จักศก. ‘กาตาร์’ ประเทศเล็กพริกขี้หนู สู่เจ้าภาพ ‘บอลโลก 2022’

แม้ประเทศจะเล็กพริกขี้หนู แต่สามารถใช้จ่ายเงินมหาศาลเพื่อจัดงานฟุตบอลโลก 2022 ได้ ! ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ ดังนี้

เศรษฐกิจกาตาร์แข็งแกร่งด้วยแหล่งพลังงาน

ในอดีตวิถีชีวิตส่วนใหญ่ของชาวกาตาร์คือการดำน้ำหาไข่มุก และตกปลาเลี้ยงชีพ เป็นการดำรงชีวิตที่ยากลำบาก แต่เมื่อประเทศค้นพบน้ำมันและแหล่งก๊าซธรรมชาติช่วงศตวรรษที่ 20 จึงเปลี่ยนชีวิตของประเทศเล็ก ๆ นี้ไปตลอดกาล

ในขณะที่ทั่วโลกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อ แต่กาตาร์และผู้ผลิตพลังงานรายอื่นในอ่าวอาหรับ ได้ผลประโยชน์จากราคาพลังงานพุ่งสูง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า เศรษฐกิจกาตาร์อาจโตประมาณ 3.4% ในปีนี้ แม้มีค่าใช้จ่ายมหาศาลกับการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก แต่ประเทศมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายในปีก่อน ส่งผลให้งบเกินดุลอย่างต่อเนื่องจนถึงปีนี้ ความร่ำรวยของกาตาร์ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการขยายขีดความสามารถเพื่อส่งออกก๊าซธรรมชาติจนถึงปี 2568

งบแสนล้านจัดงานฟุตบอลโลก 2022

ข้อมูลจากดีลอยท์ บริษัทตรวจสอบบัญชี เผยว่า กาตาร์ทุ่มทุนกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ในโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาโครงการต่าง ๆ ตั้งแต่ชนะประมูลเพื่อเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก และใช้เงินประมาณ 6,500 ล้านดอลลาร์สร้างสนามกีฬา 8 แห่ง ทั้งทุ่มทุนเงินอีกหลายพันล้านดอลลาร์ สร้างรถไฟใต้ดิน สนามบินแห่งใหม่ สร้างถนน และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เพื่องานบอลปีนี้

แคปิตอลอีโคโนมิกซ์ บริษัทวิจัยในลอนดอน กล่าวว่า จากยอดขายตั๋ว บ่งบอกว่ามีนักท่องเที่ยวประมาณ 1.5 ล้านคนจะเดินทางไปกาตาร์เพื่อชมฟุตบอลโลก คาดว่าแต่ละคนจะพักที่นี่ 10 วัน ใช้จ่าย 500 ดอลลาร์/วัน รวมแล้วประมาณ 5,000 ดอลลาร์/คน อาจทำให้เศรษฐกิจกาตาร์โตเพิ่มขึ้น 7,500 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

รู้จักศก. ‘กาตาร์’ ประเทศเล็กพริกขี้หนู สู่เจ้าภาพ ‘บอลโลก 2022’

ชาวกาตาร์มีสวัสดิการสุดหรู

กาตาร์เป็นประเทศรัฐปิโตรเลียมเหมือนประเทศอ่าวอาหรับอื่น ๆ ไม่เป็นประชาธิปไตย การตัดสินใจหลายอย่างขึ้นอยู่กับผู้ปกครองประเทศคือ ตระกูลอัลธานีและที่ปรึกษาแต่งตั้ง ประชาชนแทบไม่มีสิทธิออกเสียงเกี่ยวกับนโยบายที่สำคัญเลย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มอบสวัสดิการมากมายแก่ประชาชน เพื่อช่วยสร้างความภักดีและการสนับสนุน ประชาชนกาตาร์มีรายได้ปลอดภาษี ราชการเงินเดือนสูง ดูแลสุขภาพฟรี การศึกษาระดับอุดมศึกษาฟรี มีเงินสนับสนุนคู่บ่าวสาว เงินสนับสนุนบ้าน และเงินอุดหนุนอีกจำนวนมากที่ครอบคลุมสาธารณูปโภคและการเกษียณอายุ แต่พลเมืองประเทศต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติเพื่อทำงานด้านการบริการ เช่น คนขับรถ พี่เลี้ยงเด็ก และงานก่อสร้าง เป็นต้น

แรงงานข้ามชาติที่น่าสงสาร

กาตาร์ยังเผชิญกับการตรวจสอบกฎหมายแรงงานและการปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติอย่างเข้มงวด โดยแรงงานส่วนใหญ่มาจากอินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา เนปาล และประเทศแถบเอเชียใต้อื่น ๆ แต่ละคนต้องอาศัยอยู่ในห้องรวมกันในแคมป์แรงงาน ทำงานตลอดฤดูร้อนอันยาวนาน ได้พักกลางวันไม่กี่ชั่วโมง และต้องจากบ้านมาหลายปีโดยไม่ได้พบหน้าครอบครัว

ซึ่งงานที่ทำมักเป็นงานอันตราย ทางแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า มีแรงงานหลายสิบคนเสียชีวิตจากโรคลมแดด

ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนยังให้โอกาสการ์ตาปรับปรุงกฎหมายแรงงาน เช่น ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ยกเลิกระบบ 'คาฟาลา' ที่ห้ามพนักงานเปลี่ยนงานหรือเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากนายจ้าง

นอกจากนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้เรียกร้องให้กาตาร์ปรับปรุงค่าชดเชยให้แก่แรงงานข้ามชาติที่บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต และถูกขโมยค่าจ้างขณะทำงานในโครงการที่เกี่ยวข้องกับงานฟุตบอลโลกด้วย