เลือกตั้งกลางเทอม เส้นตายการสู้รบในยูเครน | กันต์ เอี่ยมอินทรา
การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐน่าจะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเมืองและเศรษฐกิจโลก และก็อาจจะหมายถึงความยืดเยื้อของการสู้รบในยูเครนด้วย
ทุกคนล้วนทราบว่าอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐนั้น มีอำนาจมากมายยิ่งใหญ่ล้นฟ้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอำนาจที่ล้นฟ้านั้นจะถูกใช้อย่างไร้การตรวจสอบได้ และการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างดีที่สุดนั้นก็คือเสียงของประชาชนผ่านเครื่องมือของระบอบประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง
สหรัฐนั้นปกครองโดยประชาธิปไตยที่มีประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีรัฐสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติในการตรากฎหมาย ซึ่งก็ต่างมีวาระ 4 ปี สิ่งที่น่าสนใจของระบบนี้คือการออกแบบมาให้การเลือกตั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัตินั้นเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน และนี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงเรียกการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า การเลือกตั้งกลางเทอม
กลางเทอม เพราะเป็นกลางเทอมของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี การออกแบบระบบที่แยบยลนี้เองที่เป็นกลไกช่วยสกัดอำนาจไม่ให้พอกพูนสมบูรณ์จนเกินเลยขอบเขต เพราะเมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีบริหารประเทศเป็นเวลาครึ่งเทอม (2 ปี) แล้ว ก็จะมีการเลือกตั้งเสมอและส่วนใหญ่ ผลก็คือพรรคฝั่งตรงข้ามของฝ่ายบริหารมักจะได้กุมอำนาจเป็นเสียงข้างมากของฝ่ายนิติบัญญัติ
ดังนั้น การออกกฎหมายและดำเนินนโยบายที่สุดโต่งนั้นจะไม่ง่ายเลย การบริหารประเทศจะดำเนินไปอย่างยากลำบากขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มเข้าสู่ทางสายกลางมากขึ้น เพราะจำเป็นต้องมีการประนีประนอมทางการเมืองกันระหว่างฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติ
รัฐสภาสหรัฐประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่างจำนวน 435 คน และวุฒิสภาหรือสภาสูงอีก 100 คน ทั้งหมดเป็นตัวแทนประชาชนจากทุกรัฐและล้วนมาจากการเลือกตั้ง มีหน้าที่ตรากฎหมายและตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจบริหารของประธานาธิบดี
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งสภาล่างทั้งหมดจำนวน 435 และเลือกตั้งสภาสูงอีก 35 ที่นั่ง และพ่วงการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นอย่างผู้ว่าการรัฐอีก 39 รัฐจากทั้งหมด 50 รัฐ ซึ่งมีแนวโน้มว่าพรรครีพับลิกันมีแนวโน้มชนะเดโมแครต
ไม่จำเป็นต้องอาศัยหมอดูการเมือง แต่แค่เป็นคอการเมืองสหรัฐหรือเป็นผู้รักประวัติศาสตร์การเมืองก็พอจะทราบผลตั้งแต่แรกแล้วว่ารีพับลิกันน่าจะชนะ เพราะประวัติศาสตร์การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐนั้นมักจะมีแนวโน้มเอนเอียงไปทางพรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล เป็นอย่างนี้มาช้านานโดยมีข้อยกเว้นแค่บางครั้งในประวัติศาสตร์ที่มีเหตุการพิเศษช่วงนั้น อาทิ การเลือกตั้งกลางเทอมหลังเหตุการณ์ 9-11
คนอเมริกันนั้นให้ความสำคัญกับปัญหาที่ใกล้ตัวใกล้บ้านมากกว่าการสู้รบเพื่อเกียรติยศหรือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ในดินแดนไกลโพ้น ดังนั้น เรื่องของปากท้อง ค่าครองชีพ ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนประเด็นเรื่องของสุขภาพอย่างการทำแท้งนั้นจึงเป็นประเด็นหลักในการกระตุ้นให้ผลการเลือกตั้งแสดงออกมาอย่างที่เห็น เป็นการสะท้อนถึงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ
ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะโดยตรงหรืออ้อม จะโดยเปิดเผยหรือซ่อนเร้นนั้น สหรัฐได้เข้าไปมีบทบาทในการสู้รบในยูเครน ดังนั้น การเลือกตั้งกลางเทอมนี้น่าจะเป็นหนึ่งในกลไกที่จะตรวจสอบถ่วงดุลนโยบายนี้
ความชัดเจนในสัญญาณจากผลการเลือกตั้งกลางเทอมจะเป็นตัวกำหนดเส้นตายในการยุติการสู้รบในยูเครนเพื่อโลกจะได้กลับมาฟื้นฟูความเสียหายจากทั้งสงครามและโรคระบาดเสียที