กูรูชี้ ไบเดนคิดผิด! ไม่มาเอเปค แนะตัดสินใจใหม่

กูรูชี้ ไบเดนคิดผิด! ไม่มาเอเปค  แนะตัดสินใจใหม่

ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียแปซิฟิกชี้ การที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจไม่ร่วมประชุมผู้นำเอเปค เป็นการส่งสารผิดพลาดเกี่ยวกับความรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจของสหรัฐต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แซม แบรอน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียแปซิฟิกศึกษา เขียนบทความลงเว็บไซต์ The Diplomat เมื่อวันที่ 10 พ.ย. สรุปความได้ว่า คติพจน์เก่าเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการทูตของสหรัฐต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 80% ประสบความสำเร็จได้จากแค่ “การมาโชว์ตัว” ด้วยการร่วมประชุมผู้นำประจำปี หรือประชุมผู้นำอาเซียน วิธีนี้ทำให้สหรัฐก้าวหน้าอย่างแข็งแกร่งในการเข้าเกี่ยวข้องทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง

แต่เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ทำเนียบขาวฝ่าขนบด้วยการประกาศว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะไม่มาร่วมหนึ่งในสามรายการสำคัญที่จัดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดือน พ.ย. นั่นคือ การประชุมผู้นำเอเปค ที่กรุงเทพฯ แม้ว่าเขาจะเดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดี พบปะกับผู้นำประเทศต่างๆ ในเวทีอาเซียนที่กัมพูชาและเวที G20 ที่อินโดนีเซีย แต่ไบเดนกลับส่งรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริสมาแทนซึ่งเป็นความผิดพลาด

เหตุผลของทำเนียบขาวบอกว่า ไบเดนต้องไปร่วมงานแต่งงานหลานสาว เหตุผลที่ไทยเจ้าภาพเอเปคและหนึ่งในพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองว่าเป็นการเยาะเย้ยกัน

วันที่ 7 พ.ย. โรเบิร์ต โกเด็ค ทูตสหรัฐคนใหม่ได้รับมอบหมายให้อธิบายกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ของไทยทราบว่าทำไมไบเดนถึงมาร่วมเอเปคไม่ได้

โกเด็คและเจ้าหน้าที่สหรัฐคนอื่นๆ ยังคงถูกตั้งคำถามต่อเนื่องถึงความผูกพันมั่นหมายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐต่อทั้งไทยและภูมิภาคอินโดแปซิฟิกก็ในเมื่อไบเดนไม่มา

ตรงข้ามกับผู้นำโลกคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานีเซของออสเตรเลีย ต่างรับปากว่ามาร่วมเอเปคด้วยตนเอง

ทั้งนี้ เป็นมาตรฐานการปฏิบัติที่ประมุขแห่งรัฐจะต้องเป็นผู้นำตัวแทนประเทศร่วมประชุมเศรษฐกิจประจำปี การที่ไบเดนไม่มาจะยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น

แม้ว่าเวทีเอเปคไม่ใช่งานที่เน้นอาเซียนแต่การที่ไบเดนไม่มาแต่สีจิ้นผิงมา จะเป็นปัญหาต่อการรับรู้ของอาเซียนหลายประเทศถึงความผูกพันมั่นหมายทางเศรษฐกิจของสหรัฐ มองว่าสหรัฐไม่ให้ความสำคัญกับเอเชียแปซิฟิกเป็นอันดับแรกและจะค่อยๆ ลดเลือนไป

ผลการสำรวจประจำปีที่สถาบันไอเอสอีเอเอส ยูโซฟ-อิชัคในสิงคโปร์ทำขึ้นก่อนหน้านี้ ผู้ให้ข้อมูลราว 76.7% ขณะนี้เชื่อว่า จีนเป็นมหาอำนาจทรงอิทธิพลที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เฉพาะปี 2564 ปีเดียวการค้าอาเซียน-จีนโตขึ้นเกือบ 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ปริมาณการค้าทวิภาคีโดยรวมกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์

ที่น่าฉงนกว่านั้นเรื่องที่ไบเดนไม่มาเอเปคคือสหรัฐจะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2554

เมื่อปลายเดือน ต.ค. แค่หนึ่งวันก่อนคำประกาศของทำเนียบขาว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเพิ่งเผยโรดแมพการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2566 โดยการประชุมระดับรัฐมนตรีและผู้นำเอเปคจะจัดขึ้นที่ดีทรอยต์, ปาล์มสปริง, โฮโนลูลู และซีแอตเติล

การตัดสินใจของสหรัฐฯ ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 มาจากคำร้องขอของบรรดาที่ปรึกษาที่ผลักดันให้รัฐบาลไบเดนมีส่วนร่วมด้านการค้ากับประเทศในอินโดแปซิฟิกมากขึ้น เนื่องจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนทั่วทั้งภูมิภาคยังคงเติบโตในอัตราที่น่าตกใจ

เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลไบเดนพยายามจริงจังที่สุดนับถึงขณะนี้เพิ่มการมีส่วนร่วมด้านเศรษฐกิจในเอเชียด้วยการประกอบโครงการริเริ่มด้านเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิกเพื่อความมั่งคั่ง (IPEF)

ปัจจุบัน IPEF มีสมาชิก 14 เขตเศรษฐกิจ หารือกันถึงรายละเอียดกรอบเค้าโครง “สี่เสาหลัก” ประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกที่ลอสแองเจลิสในเดือน ก.ย.

แม้ตอนเปิดตัว IPEF จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่ผู้นำอาเซียนหลายคนยังคงไม่แน่ใจว่ากรอบความร่วมมือนี้จะเพิ่มความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับภูมิภาคอย่างที่ว่าไว้

ที่เห็นได้ชัดคือ IPEF ไม่มีข้อกำหนดการเข้าถึงตลาด ทำให้ผู้เจรจาต้องใช้แนวทางต่างออกไปในการเข้าข้องเกี่ยวทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาแบบขัดตาทัพนี้ชี้ให้เห็นข้อติดขัดทางการเมืองภายในขัดขวางสหรัฐไม่ให้เข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP ที่สหรัฐออกแบบมาตั้งแต่แรก

สหรัฐผู้เหินห่าง

กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงการที่ไบเดนไม่มาเอเปคว่า จะตอกย้ำการรับรู้ที่ว่า สหรัฐ “ยุ่งเกินไป เหินห่าง และห่างไกล” เกินกว่าจะมาข้องเกี่ยวให้ได้ผลกับไทยหรือภูมิภาคเอเชียในวงกว้างในด้านเศรษฐกิจหรืออื่นๆ

ถ้าไม่นับการเยือนกัมพูชาและอินโดนีเซียในระหว่างนี้ นับตั้งแต่เป็นประธานาธิบดีเมื่อปีก่อนไบเดนเพิ่งเยือนอินโดแปซิฟิกแค่ครั้งเดียว นั่นคือทริปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในเดือน พ.ค. แต่ไปยุโรปแล้วห้าครั้ง เยือนเก้าประเทศ เฉพาะสหราชอาณาจักรไปห้าครั้ง

แม้เหตุผลหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับยุโรปคือรัสเซียรุกรานยูเครน แต่ตั้งแต่ก่อนสงครามจะเกิดไบเดนก็เลือกที่จะส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลมาภูมิภาคอินโดแปซิฟิกอยู่แล้วแทนที่จะมาด้วยตนเอง

ปี 2564 ทำเนียบขาวส่งแฮร์ริสไปสิงคโปร์และเวียดนาม ส่งรัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน ไปฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคนไปอินโดนีเซียและมาเลเซีย

พ.ค.2565 ทำเนียบขาวเชิญผู้นำอาเซียนไปวอชิงตันดีซี เพื่อประชุมผู้นำสหรัฐ-อาเซียนนัดพิเศษ ซึ่งผู้นำชาติอาเซียนบางคนได้มีโอกาสไปทำเนียบขาวเป็นครั้งแรก

แม้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศจะยินดีกับการมีส่วนร่วมกันโดยตรงแบบนี้ แต่ก็ทดแทนกันไม่ได้กับการที่ประธานาธิบดีร่วมประชุมด้วยตนเองในเวทีที่อาเซียนมีบทบาทนำ

บทเรียนจากอดีต

ตอนที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ไม่มาประชุมเอเปคในปี 2556 ให้รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น แคร์รีมาแทน เขายอมรับว่า ได้รับคำแนะนำผิดพลาด และเรียกการกระทำนั้นว่า “เหมือนผมไม่อยู่ในงานปาร์ตี้ของตัวเอง”

การที่ไบเดนไม่มาเอเปคปีนี้พร้อมๆ กับการรับรู้ของหลายประเทศอาเซียนที่ว่า รัฐบาลของเขาโฟกัสกับทวีปยุโรปมากไป ย่อมเปิดโอกาสให้กับสี จิ้นผิง

เดือน พ.ย.2563 หลังจาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ประชุมผู้นำเอเชียตะวันออก รัฐบาลปักกิ่งฉวยโอกาสนี้สรุปข้อตกลงการค้า RCEP และเน้นย้ำความตั้งใจของสีในการเข้าร่วม CPTPP

เพื่อหลีกเลี่ยงประวัติศาสตร์ซ้ำรอยไบเดนควรใช้สติปัญญาพิจารณาการตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปคในปีนี้เสียใหม่

ที่มา: thediplomat.com