โอกาสที่เสียไป APEC 2546 vs 2565 | กันต์ เอี่ยมอินทรา
การประชุม APEC ที่กำลังจัดขึ้นนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่ไทยเราได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้
ครั้งแรกคือสมัยนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เมื่อปี 2535 ต่อมาครั้งที่สองสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2546 และล่าสุดครั้งที่ 3 ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นระยะเวลานานถึงเกือบ 20 ปีนับจากครั้งที่แล้ว
20 ปีถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก หากมองกลับไปเมื่อ APEC 2546 ขณะนั้น จอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นผู้นำสหรัฐมาเจอ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และ หู จิ่นเทา ยังเป็นประธานาธิบดีจีน ที่ตอนนั้นเศรษฐกิจจีนกำลังดีและมีทีท่าขึ้นเป็นผู้นำโลก ขณะที่ไทยก็อยู่ในช่วงประชาธิปไตยที่เบ่งบานที่สุด
หากตัดเรื่องตัวบุคคลออกไป สามารถพูดได้ว่าประชาธิปไตยของเรานั้นเบ่งบานและมีมาตรฐานสากลที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ณ ตอนนั้น (พ.ศ.2540) ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่มีเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาก มีกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และที่สำคัญคือเคารพเสียงของประชาชน ส.ว.มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มีอำนาจในการออกเสียงเลือกนายกฯ
ถึงแม้ว่าประชาชนจำนวนมากคิด แต่ก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าการรัฐประหารนั้นทำให้ประเทศไทยหยุดชะงักทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่สามารถพูดได้เต็มปากคือการหยุดพัฒนาของประชาธิปไตยและการถอยหลังเข้าคลองจากกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การใช้อำนาจอย่างไร้การตรวจสอบ การยุบการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นและการให้อำนาจส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
จึงสามารถพูดได้เต็มปากว่า 20 ปีที่ผ่านมานั้น เราถอยหลังเข้าคลอง และหลายกระแสก็เชื่อว่า นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรายังไม่เจริญเท่าที่ควรจะเป็น
ประชาธิปไตยมีความจำเป็นพอ ๆ กับความสามารถของผู้นำในการบริหารประเทศ แม้ประชาธิปไตยจะไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดของความเจริญของประเทศ สังเกตได้จากกรณีของจีนและเวียดนามที่ประเทศก็ยังพัฒนาต่อไปในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญซึ่งแตกต่างจากไทย ประชาชนอาจจะรังเกียจเผด็จการ แต่ประชาชนกลัวความอดอยากมากกว่า
20 กว่าปีผ่านไป ความฝันของไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียก็ยังคงเป็นความฝันต่อไป และคงไม่ใช่ตัวที่ 5 แล้วเพราะประเทศอื่นก็มีการพัฒนาไปไกลมากแล้ว อาทิ จีนและเกาหลีใต้
หากตัดภาพกลับย้อนกลับไป APEC 2546 ที่เกิดภาพผู้นำอันดับ 1 ของทุกประเทศนั้นถ่ายภาพที่พระที่นั่งอนันตสมาคมและการโชว์ขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคอย่างยิ่งใหญ่ หรือแม้แต่สินค้า OTOP นั้น เชื่อว่าเป็นภาพจำที่ยากจะลืมนัก ภาพข่าวความยิ่งใหญ่เหล่านี้คือชื่อเสียง และชื่อเสียงคือเงิน เพราะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาไทย
เทียบกับ APEC ปีนี้ ในเชิงสัญลักษณ์การประชาสัมพันธ์ก็ดูไม่มีอะไรที่จะเป็นแลนด์มาร์คโดดเด่นหรือสร้างการจดจำหรือจะเอาไปต่อยอดในเชิงการค้า การท่องเที่ยวให้ประเทศได้เลย ไม่ต้องพูดถึงกรณีการส่งตัวแทนมาประชุมของประธานาธิบดีสหรัฐและรัสเซีย
คนไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ถือคติการรักษาหน้าตา รักษาภาพลักษณ์นั้นมาอันดับหนึ่ง ยิ่งเป็นเรื่องระดับประเทศแล้ว “จะขายหน้าไม่ได้” ดังนั้นการเลือกที่จะไปงานแต่งงานหลานสาวแทนที่จะบินมาไทยนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดถึงความสำคัญของไทยในสายตาสหรัฐ เพราะปธน.โจ ไบเดนก็ประชุมอยู่ที่บาหลี ต่อจากไปประชุมที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา เรียกว่าใกล้กรุงเทพฯแค่เอื้อม แต่ก็ยังไม่ใกล้พอที่จะได้รับความสำคัญ
ถูกต้องที่เราคนไทยควรให้ความสนใจกับเนื้อหา แต่สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ก็ชวนให้คิดได้ไม่น้อย ภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาของนานาชาติก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเนื้อหาสิ่งที่คนไทยจะได้รับจากการประชุมรอบนี้