"สี จิ้นผิง" เขียนแถลงการณ์ถึงเอเปค "เอเชีย-แปซิฟิกไม่ใช่สนามหลังบ้านใคร"

"สี จิ้นผิง" เขียนแถลงการณ์ถึงเอเปค "เอเชีย-แปซิฟิกไม่ใช่สนามหลังบ้านใคร"

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน เขียนแถลงการณ์ถึงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในประเทศไทยว่า เอเชีย-แปซิฟิก "ไม่ใช่สนามหลังบ้านของใคร" พร้อมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มากขึ้นในด้านการพัฒนา และความมั่นคง

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า สุนทรพจน์ของประธานาธิบดี สี ได้รับการเผยแพร่ต่อกลุ่มผู้บริหารธุรกิจไม่นานหลังจากที่ประธานาธิบดี สี เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค 2022)

โดยการประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนทางการทูตของ ปธน.สี รวมถึงการพบปะกับประธานาธิบดี โจ ไบเดนของสหรัฐนอกรอบการประชุม G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

"เอเชีย-แปซิฟิกไม่ใช่สนามหลังบ้านของใคร และไม่ควรเป็นเวทีสำหรับการแข่งขันแย่งชิงอำนาจของประเทศใหญ่ ความพยายามที่จะก่อสงครามเย็นครั้งใหม่ จะไม่มีทางได้รับการยอมรับจากประชาชนหรือยุคสมัยของเรา" ประธานาธิบดี สี ระบุ

แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศ แต่วาทะดังกล่าวก็เข้าใจได้ว่ามุ่งหมายถึงประเทศสหรัฐ โดยเมื่อช่วงต้นปีนี้ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน ก็ได้แสดงความเห็นในลักษณะเดียวกันพร้อมเตือนว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไม่ควรกลายเป็นสถานที่ ที่จีนกับสหรัฐใช้เผชิญหน้ากัน

ทั้งนี้ คณะผู้จัดงานประชุมเอเปค กล่าวว่า เดิมที ปธน.สี มีกำหนดการกล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมสุดยอดซีอีโอเอเปค แต่ได้ยกเลิกกำหนดการกะทันหันเนื่องจากตารางเวลาชนกัน โดยในแถลงการณ์ที่เผยแพร่หลังการประกาศดังกล่าว ปธน.สี ระบุว่า โลกได้มาถึง "ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการฟื้นตัวหลังโควิด" และเรียกร้องให้มีการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ "มั่นคง และไม่ถูกกีดกั้นขัดขวาง"

ประธานาธิบดี สี ใช้แถลงการณ์ดังกล่าวเพื่อนำเสนอความคิดริเริ่มของตนในเรื่องความมั่นคง และการพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และโน้มน้าวให้มีการพัฒนาให้ทันสมัยตามแนวทางของจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่จีนหนุนให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่แตกต่างไปจากแนวทางการพัฒนาแบบตะวันตก

"การปฏิรูปจีนให้ทันสมัย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ" ประธานาธิบดี สี กล่าว พร้อมเสริมว่าเขาได้เสนอ "โครงการริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลกเพื่อจุดประสงค์ในการแก้ปัญหาความไม่สมดุลในการพัฒนา"

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์