ยูเอ็นแนะ‘เกรตแบริเออร์รีฟ’ขึ้นบัญชี‘เสี่ยงอันตราย’

ยูเอ็นแนะ‘เกรตแบริเออร์รีฟ’ขึ้นบัญชี‘เสี่ยงอันตราย’

คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แนะนำให้เพิ่มแนวปะการังเกรตแบริเออร์รีฟในรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย โดยให้เหตุผลว่า ระบบนิเวศของแนวปะการังขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และมหาสมุทรที่ร้อนขึ้น

สำนักข่าวรอยเตอร์สว่า การฟอกขาวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกำลังคุกคามแนวปะการัง ซึ่งรวมแล้วเกิดขึ้น 4 ครั้งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกในช่วงปรากฏการณ์ลานีญาของปีนี้

“ความสามารถของแนวปะการังในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อยู่ในความเสี่ยงอย่างมาก” กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ที่เยี่ยมชมแนวปะการังเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ระบุในรายงาน

ด้าน“ทันยา พลิเบอร์เซค” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐบาลจะผลักดันไม่ให้ยูเนสโกกำหนดแนวปะการังให้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอันตราย เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกำลังคุกคามแนวปะการังทั้งหมดทั่วโลก ไม่ใช่แค่ที่นี่ที่เดียว

“เราจะชี้แจงอย่างชัดเจนต่อยูเนสโกว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเจาะจงมาที่เกรตแบริเออร์รีฟ เหตุผลที่ยูเนสโกในอดีตเลือกเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นเพราะว่า ต้องการเห็นการลงทุนของรัฐบาล หรือการดำเนินของรัฐบาลที่มากขึ้น และนับตั้งแต่ที่ออสเตรเลียมีการเปลี่ยนรัฐบาล ทั้งสองสิ่งนั้นก็เกิดขึ้น” พลิเบอร์เซค กล่าว

รัฐบาลแคนเบอร์ราพยายามดำเนินการมานานหลายปี เพื่อไม่ให้เกรตแบริเออร์รีฟอยู่ในสถานะเสี่ยงอันตราย เพราะอาจส่งผลให้แนวปะการังสูญเสียการเป็นแหล่งมรดกโลก และลดการดึงดูดนักท่องเที่ยวบางส่วน 

เมื่อปีที่แล้ว ออสเตรเลียสามารถหลบเลี่ยงไม่ให้ปะการังถูกเพิ่มในรายชื่อตกอยู่ในอันตราย หลังจากความพยายามอย่างหนักของรัฐบาลชุดก่อนหน้า ที่ทำให้ยูเนสโกเลื่อนการตัดสินใจมาเป็นปีนี้
 

แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ” เป็นแนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นแนวปะการังที่มีสิ่งมีชีวิตมากมายอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น มีทั้งปะการังกว่า 350 ชนิด รวมถึงปลาและสิ่งมีชีวิตอีกมากมายกว่า 1,500 ชนิด นับว่าเป็นสวรรค์ของนักดำน้ำเลยทีเดียว 

แต่ปัจจุบันแนวปะการังแห่งนี้ กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะมีรายงานว่าในปี 2564 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ร้อนที่สุดสำหรับมหาสมุทรโลกและตอนนี้แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ กำลังเผชิญกับการฟอกขาวครั้งใหญ่ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 แล้วในรอบ 6 ปี โดยการฟอกขาวปะการังครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2541 และอีกครั้งในปี 2545, 2559, 2560 และ 2563 ตามลำดับ 

สาเหตุสำคัญคือในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ออสเตรเลียเผชิญกับอากาศร้อนจัด และทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 2-4 องศา ทำให้ตอนนี้แนวปะการังหลายส่วนเกิดภาวะฟอกขาวและบางส่วนก็ตายไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดปะการังฟอกขาว

ถ้าหากปะการังโดนแสงแดดมากเกินไป และอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น แม้จะสูงขึ้นแค่เพียง 1-2 องศาเซลเซียสก็ทำให้ปะการังฟอกขาวได้ เพราะปะการังจะเริ่มเครียด และขับเอาสาหร่ายที่ก่อนหน้านี้อยู่แบบพึ่งพาอาศัยกันออกไป ทำให้ปะการังมีสีขาวซีดและเปราะบาง ในไม่ช้าอาจจะเป็นโรคและตายได้ 

ด้านมูลนิธิอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งออสเตรเลีย ระบุว่า ปรากฏุการณ์ฟอกขาวที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศออสเตรเลียอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อคนที่รักธรรมชาติแห่งนี้เพราะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลมากมาย

“เดวิด ริทเตอร์” ผู้บริหารของกรีนพีซ ออสเตรเลีย แปซิฟิก กล่าวว่า เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ จะถูกทำลายในอนาคตหากยังไม่หยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งถ่านหิน ก๊าซและน้ำมัน และไม่เปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนให้เร็วกว่านี้ ซึ่งพลังงานหมุนเวียนได้แก่พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ล้วนเป็นทางเลือกที่เสนอคำตอบในการหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นมากไปกว่านี้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำอื่น ๆ และสัตว์น้ำเหล่านี้มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการัง

“แนวปะการังไม่สามารถทนต่อมาตรการการชดเชยคาร์บอนหรือเทคนิคใด ๆได้ ทั้งการสร้างม่านบังแดดยักษ์ให้กับแนวปะการัง หรือการเพาะพันธุ์ปะการังหลอดแก้ว มาตรการเยียวยาเหล่านั้นเป็นเพียงมาตรการปลายทางแต่ไม่ได้ตัดต้นตอของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเช่นเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นปัญหาที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”