‘อุปกรณ์ดักจับปลา’เพชรฆาตอันดับ1ปลิดชีพ‘วาฬไรต์’

‘อุปกรณ์ดักจับปลา’เพชรฆาตอันดับ1ปลิดชีพ‘วาฬไรต์’

การปกป้องวาฬไรต์ เป็นที่มาของข้อพิพาทระหว่างนักอนุรักษ์และชาวประมงพาณิชย์ เนื่องจากหนึ่งในภัยคุกคามที่กระทบต่อสัตว์ทะเลอันดับต้น ๆ คือ สิ่งกีดขวางจากอุปกรณ์จับปลา

สำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชีย รายงานโดยอ้างถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐ ช่วงปลายเดือนธ.ค. ว่า “วาฬไรท์แอตแลนติกเหนือ” ที่หายไปยังคงได้รับการปกป้องภายใต้รัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ และ วาฬไรต์ ชนิดนี้ จะต้องได้รับการปกป้องหลายระดับ เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์เร็วเกินไป

วาฬชนิดนี้เหลือเพียง 340 ตัว และลดลงมาหลายปีแล้ว องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (เอ็นโอเอเอ) เปิดเผยการสำรวจสถานะของวาฬเมื่อวันอังคาร (27 ธ.ค.) ว่า วาฬไรต์เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถบรรลุเกณฑ์ฟื้นฟูตามแผนฟื้นฟูที่วางไว้ได้

การปกป้องวาฬ เป็นที่มาของข้อพิพาทระหว่างนักอนุรักษ์และชาวประมงพาณิชย์ เนื่องจากหนึ่งในภัยคุกคามที่กระทบต่อสัตว์ทะเลอันดับต้น ๆ คือ สิ่งกีดขวางจากอุปกรณ์จับปลา

เอ็นโอเอเอ ดำเนินการตรวจสอบสถานะวาฬทุก ๆ 5 ปี พบว่า จำนวนวาฬลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะอุปกรณ์ดักจับปลา, เรือชนกัน และวาฬมีความเครียด
 

“ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบของสิ่งกีดขวางที่รุนแรงในระยะยาว สภาพแวดล้อมที่ตึงเครียด รวมถึงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และความเครียดของวาฬที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้วาฬไรต์ออกลูกน้อยลงและขัดขวางการฟื้นฟูสายพันธุ์” เอ็นโอเอเอ กล่าว

พร้อมทั้งแนะนำให้ทุกคนช่วยกันรักษาจำนวนวาฬไรต์ ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลแคนาดาเพื่อลดการชนกันของเรือและสิ่งกีดขวางในทะเลต่าง ๆ ทำการวิจัยเพิ่มขึ้น ดัดแปลงเครื่องมือประมงที่ลดความเสี่ยงให้วาฬไรต์ และให้ความสำคัญในการกำจัดเครื่องมือประมงทิ้งร้างออกจากเส้นทางของวาฬ โดยวาฬชนิดนี้อพยพจากจอร์เจียและฟลอริดาไปยังเขตนิวอิงแลนด์และแคนาดา

"เจเนท มิลส์" ผู้ว่ารัฐเมนของสหรัฐ กล่าวว่า แผนการควบคุมของเอ็นโอเอเอไม่ได้ปกป้องวาฬไรต์อย่างมีค่า แต่เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงชีวิตของครอบครัวในรัฐเมนหลายพันครอบครัว รวมถึงธุรกิจขนาดเล็ก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้ปกป้องวาฬไรต์มากกว่านี้ หากชักช้าอาจทำให้วาฬสูญพันธุ์เร็วขึ้น

นอกจากนี้  ยังมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ในทุก ๆ ปี ที่ขยะพลาสติกมากกว่า 11 ล้านเมตริกตันถูกทิ้งลงทะเล ส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ใต้ท้องทะเล 100,000 ตัว เพราะพวกมันต้องจบชีวิตลงด้วยขยะพลาสติกทุกปี โดย 59% ของวาฬได้รับผลกระทบจากขยะเหล่านี้ 

‘อุปกรณ์ดักจับปลา’เพชรฆาตอันดับ1ปลิดชีพ‘วาฬไรต์’

ในส่วนของประเทศไทยเองก็มีปัญหาขยะทางทะเลมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก มีสัตว์ทะเลกินขยะพลาสติกจนทำให้ระบบทางเดินอาหารล้มเหลวจนเสียชีวิต

วาฬบางชนิดที่เป็นสัตว์นักล่า ถ้าพวกมันหายไปจากระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ความสมดุลใต้น้ำอาจจะหายไป ที่สำคัญ ตลอดทั้งชีวิตของวาฬสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในตัวได้เท่ากับต้นไม้ 1,000 ต้น เพราะฉะนั้นพวกมันจึงเป็นสัตว์อีกชนิดที่สามารถช่วยเราต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนได้

ในอดีต วาฬไรต์แอตแลนติกเหนือ มีมากกว่า 20,000 ตัว แต่พวกมันถูกล่าเพื่อเอาชั้นไขมันใต้ผิวหนังไปกลั่นเป็นน้ำมัน ทำให้เหลือไม่ถึง 300 ตัว หลังปี2478 จึงมีการสั่งห้ามล่าวาฬไรต์ จำนวนของมันจึงเพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่หลังจากปี 2553 เป็นต้นมา จำนวนของวาฬชนิดนี้ก็ลดลงอีก เพราะภาวะโลกร้อนและจากการที่พวกมันติดสายเบ็ดจากการทำประมงล็อบสเตอร์ ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ต่อไป วาฬไรต์แอตแลนติกอาจจะสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้

 พูดถึงวาฬไรท์ อดไม่ได้ที่จะพูดถึง ภาพยนต์สารคดีเรื่อง Entangled (2020)ที่ถูกนำออกเผยแพร่ในช่วงปลายปี 2564 เป็นภาพยนต์ที่นำเสนอภารกิจการปกป้องวาฬไรต์ สิ่งมหัศจรรย์แห่งมหาสมุทรแอตแลนติก หนึ่งในสายพันธุ์วาฬใกล้สูญพันธุ์ที่เหลือไม่ถึง 400 ตัว สะท้อนวิกฤตความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความซับซ้อนของการจัดการความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติ

ภาพยนต์สารคดีเรื่องนี้ นำเสนอเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่พยายามต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของวาฬไรต์ สลับกับภาพความขัดแย้งกับชุมชนประมงล็อบสเตอร์ ที่ต้องการปกป้องอาชีพของท้องถิ่นเอาไว้

Entangled พาผู้ชมสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างการล่าวาฬในอดีต วิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครอบคลุมถึงผลกระทบด้านนโยบายที่่ชาวประมงต้องแบกรับ ซึ่งในปัจจุบันหลายฝ่ายกำลังหาทางออกให้ชาวประมงและวาฬไรต์อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ในยุคที่ประชากรวาฬไรต์แอตแลนติกเหนือลดลงเรื่อยๆ