‘พนักงานเสมือน’ สานฝันเศรษฐกิจดิจิทัลจีน

‘พนักงานเสมือน’ สานฝันเศรษฐกิจดิจิทัลจีน

พนักงานเป็นกำลังสำคัญให้ทุกองค์กรเดินหน้า แต่ถ้าพนักงานสร้างปัญหาหรือขาดแคลน “บุคลากรเสมือนจริง” อาจเป็นทางออก ขณะนี้ธุรกิจจีนตั้งแต่ทำงานบริการลูกค้าไปจนถึงอุตสาหกรรมบันเทิงกำลังทุ่มเงินมหาศาลว่าจ้างพนักงานเสมือน

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงาน  บริษัทเทคโนโลยีไป่ตู้เผยว่า จำนวนโครงการบุคคลเสมือนที่ไป่ตู้ทำงานให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้นสองเท่าตั้งแต่ปี 2564 ราคาแตกต่างกันไปตั้งแต่เล็กน้อยเพียง 2,800 ดอลลาร์ (70,000 บาท) ไปจนถึง 14,300 ดอลลาร์ (3.5 แสนบาท) ต่อปี

บุคคลเสมือนจริงเป็นการผสมผสานกันระหว่างแอนิเมชัน เทคโนโลยีเสียง และเครื่องจักรแห่งการเรียนรู้ สร้างมนุษย์ดิจิทัลผู้สามารถร้องเพลงหรือแม้แต่มีปฏิสัมพันธ์ในการสตรีมมิงสดได้ แม้มนุษย์ดิจิทัลเหล่านี้จะมีอยู่มากในอินเทอร์เน็ตสหรัฐ แต่กำลังเพิ่มมากขึ้นๆ ในไซเบอร์สเปซของจีน

หลี่ จี้หยาน หัวหน้าฝ่ายธุรกิจบุคคลเสมือนจริงและโรโบติกส์ของไป่ตู้เผยว่า ลูกค้าบุคคลเสมือนจริงส่วนหนึ่ง เช่น บริษัทบริการการเงิน คณะกรรมการท่องเที่ยวท้องถิ่นและสื่อของรัฐ เนื่องจากเทคโนโลยีดีขึ้น ต้นทุนด้านนี้จึงลดลงราว 80% ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา บุคคลเสมือนจริงสามมิติราคาอยู่ที่ปีละราว 100,000 หยวน (3.5 แสนบาท) และ 20,000 หยวน (90,000 บาท) สำหรับสองมิติ

หลี่คาดว่าอุตสาหกรรมบุคคลเสมือนโดยรวมจะเติบโตปีละ 50% ไปจนถึงปี 2568

‘พนักงานเสมือน’ สานฝันเศรษฐกิจดิจิทัลจีน

ขณะนี้จีนกำลังผลักดันการพัฒนาบุคคลเสมือนอย่างหนัก เดือน ส.ค.กรุงปักกิ่งประกาศแผนเพิ่มอุตสาหกรรมบุคคลเสมือนให้มีมูลค่ากว่า 5 หมื่่นล้านหยวนภายในปี 2568 ทางการกรุงปักกิ่งยังเรียกร้องให้พัฒนา “ธุรกิจบุคคลเสมือนชั้นนำ” มีรายได้จากการปฏิบัติการปีละกว่า 5 พันล้านหยวนให้ได้สักหนึ่งหรือสองบริษัท

ฤดูใบไม้ร่วงปีก่อน หลายกระทรวงของรัฐบาลปักกิ่งเผยแผนการผสมผสานวีอาร์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการรายงานข่าว การผลิต และอื่นๆ แผนห้าปีฉบับล่าสุดของจีนเมื่อปีก่อนเรียกร้องให้เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลให้มากขึ้น เช่น วีอาร์และเออาร์

ค้นหาคนดังไร้เรื่องฉาว

จากมุมมองภาคธุรกิจ จำนวนมากเน้นไปที่การสร้างคอนเทนท์ของบุคคลเสมือนจริง

ไซเรียส หวัง ประธานเจ้าหน้าที่ผลิตภัณฑ์และหัวหน้าฝ่ายตลาดเกรทเตอร์ไชนาของบริษัทข้อมูลกันตาร์ กล่าวว่า หลายแบรนด์ในจีนกำลังมองหาโฆษกทางเลือก หลังจากเซเลบริตี้หลายคนมีแต่ข่าวคราวในทางลบ เช่นหลบเลี่ยงภาษีหรือเรื่องฉาวส่วนตัว

ผลสำรวจของกันตาร์เผยแพร่เมื่อฤดูใบไม้ร่วง พบว่า ผู้บริโภคอย่างน้อย 36% ปีที่แล้วเคยดูการแสดงของอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงหรือคนดังดิจิทัล 21% เคยดูบุคคลเสมือนเป็นพิธีกรอีเวนต์หรืออ่านข่าว

สำหรับปี 2566 นักโฆษณา 45% กล่าวว่า พวกเขาอาจเป็นสปอนเซอร์การแสดงของอินฟลูเอนเซอร์เสมือน หรือเชิญบุคคลเสมือนมาร่วมงานของแบรนด์

การพัฒนาบุคคลเสมือนโตไม่หยุด

บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนหลายบริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมมนุษย์เสมือนแล้ว เช่น บิลีบิลี แอพพลิเคชันสตรีมมิงวีดิโอและเกม เป็นหนึ่งในผู้เล่นแรกๆ ที่ใช้แนวคิดบุคคลเสมือนในงานกระแสหลัก

บริษัทได้ทีมงานมาอยู่เบื้องหลังนักร้องเสมือน Luo Tianyi ที่ภาพและเสียงสร้างจากเทคโนโลยีทั้งหมด ปลายปีก่อนนักพัฒนามุ่งเน้นใช้อัลกอริธึมเอไอปรับปรุงเนื้อเสียงนักร้องเสมือนรายนี้

หลังจากเปิดตัวเมื่อปี 2555 Luo Tianyi มีแฟนเพลงเกือบ 3 ล้านคน และเคยแสดงในพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งเมื่อปีก่อน

ไม่เพียงเท่านั้น บิลีบิลียังมีผู้ประกาศข่าวเสมือนจริงอีกหลายคน เป็นอวตารของบุคคลโดยใช้เทคโนโลยีพิเศษเพื่อให้เข้าถึงผู้ชมของพวกเขา บริษัทกล่าวว่า ผู้ประกาศข่าวเสมือน 230,000 คนเริ่มรายงานข่าวจากแพลตฟอร์มบิลีบิลีตั้งแต่ปี 2562 เวลาออกอากาศของผู้ประกาศกลุ่มนี้ในปี 2565 พุ่งขึ้นราว 200% จากปี 2564

ด้านเทนเซ็นต์ประกาศในการประชุมรายงานผลประกอบการล่าสุดว่า เทนเซ็นต์คลาวด์เอไอดิจิทัลฮิวแมนส์ ให้บริการแช็ตบอตกับหลายภาคส่วน อาทิ บริการทางการเงินและการท่องเที่ยวสำหรับการสนับสนุนลูกค้าอัตโนมัติ เน็กซ์สตูดิโอของเทนเซ็นต์พัฒนานักร้องเสมือนจริงและล่ามภาษามือเสมือนจริงด้วย

แม้แต่บริษัทที่เล็กกว่ามากก็เข้าสู่อุตสาหกรรมนี้เช่นกันสตาร์ตอัพอย่างเวล-ลิงค์ เทคโนโลยี ที่การสนับสนุนเทคโนโลยีเรนเดอร์ของบริษัทสร้างความสำเร็จให้กับนักพัฒนาเกม miHoYo ในอุตสาหกรรมเกม ประกาศเมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า เวล-ลิงค์ เทคโนโลยีร่วมลงทุนกับ Haixi Mediaพัฒนาบุคคลเสมือนอีกหนึ่งแบบ