“จีน” เปลี่ยน รมว.ต่างประเทศคนใหม่ คีย์แมนดีลส่งผลไทย - จีนไหม
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไทย - จีน มีความสัมพันธ์ระดับผู้นำแบบพิเศษๆ และเห็นชัดเจน แม้เกิดขึ้นบนพื้นฐานความสัมพันธ์เดิมที่ดีอยู่แล้ว เมื่อจีนประกาศเปลี่ยนรัฐมนตรีต่างประเทศ คีย์แมนหลักดีลไทย จะมีผลต่อสัมพันธ์ภาพรวมระดับประเทศหรือไม่
ข่าวดังสะเทือนวงการต่างประเทศ เมื่อจีนประกาศเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยดัน “หวัง อี้” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ก้าวขึ้นสู่นักการทูตสูงสุดเบอร์หนึ่งของจีน แทนที่ “หยาง เจียฉือ” พร้อมให้นั่งตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการฝ่ายการต่างประเทศกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมีคำสั่งให้ “ฉิน กัง” อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศต่อจากหวัง อี้
คำถามคือ เรื่องนี้ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และความสัมพันธ์จีน-ไทย หรือไม่ อย่างไร เมื่อความสัมพันธ์สองประเทศในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ยกให้เป็นความสัมพันธ์ระดับพิเศษ เพราะขับเคลื่อนด้วยหวัง อี้ กับดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชนิดที่เรียกว่า “มองตาก็รู้ใจ” ทั้งประเด็นเมียนมา ภูมิรัฐศาสตร์ และสถานการณ์ร้อนแรงระดับภูมิภาค
ก่อนลงลึกเรื่องราวไปกว่านี้ ขอขยายความถึงความสัมพันธ์จีน-ไทยตอนนี้อยู่ใน “ระดับดีมาก” ทั้ง 4 ระดับคือ ความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลกับรัฐบาล, เอกชนกับเอกชน, ประชาชนกับประชาชน และความสัมพันธ์พิเศษ “ส่วนตัว” บนพื้นฐานผลประโยชน์ชาติ ซึ่งดูเหมือนว่าความสัมพันธ์อย่างหลังต้องใช้เวลาสร้าง "ความไว้วางใจกัน"
ดอนและหวัง อี้ เป็นเพื่อนนักการทูตมากว่า 45 ปี ตั้งแต่ดอนเป็นข้าราชการในสังกัดกรมการเมือง และเอเชียตะวันออกขณะนั้นหวัง อี้ ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน ทั้งสองเรียนรู้นิสัยใจคอกันระหว่างติดต่อประสานงาน
เมื่อมีความเป็นเพื่อน เวลาพูดคุยประเด็นหนักๆ และต้องถกทำความเข้าใจให้ตรงกันในงาน ก็กลายเป็นเรื่องไม่ยาก แม้ทั้งสองจะเวิร์คฮาร์ทระหว่างกัน แต่ก็พอมีเวลาแฮงเอาวท์ร่วมกันบ้าง เพราะทั้งคู่ชอบกีฬาเอ็กซ์ตรีมคล้ายๆกัน อย่างเมื่อครั้งที่ดอน เป็นเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปักกิ่ง ในช่วงหน้าหนาวได้ไปเล่นสกีกับหวัง อี้อยู่บ้าง
ขณะที่ เวลาดีลงานก็เข้มข้น และพูดคุยบนความเข้าใจ จนฝั่งจีนกล่าวขานว่าทั้งคู่เป็น "มหามิตรครึ่งศตวรรษ"
ถึงอย่างไร ตอนนี้หวัง อี้ยังควบตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐ ซึ่งดูแลนโยบายต่างประเทศของจีนอยู่ ดังนั้นการเปลี่ยนให้ฉิน กังมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศจีนแทน ก็ไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศของจีนต่อไทย แต่ส่งผลเพียงความรู้สึกระดับตัวบุคคลเท่านั้น
เมื่อครั้งที่ ฉิน กัง เป็นทูตจีนประจำวอชิงตัน ดี.ซี. ขึ้นชื่อเป็นคนแรกๆ เริ่มนโยบาย "wolf warrior diplomacy" หรือการทูตแบบแข็งกร้าว เพราะต้องยืดหยัดท่าทีที่ชัดเจนของจีนต่อสหรัฐ ซึ่งเป็นสไตล์การทูตต่างไปจากการทูตจีนในอดีตที่เต็มไปด้วยการสงวนท่าที แต่นั่นหมายถึงจำเป็นต้องแสดงท่าทีเช่นนี้ เพราะสถานการณ์สหรัฐและจีนมีความพิเศษ
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ฉิน กัง ทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีนแล้ว ไม่ได้ดูเฉพาะสหรัฐ จึงมีความคาดหวังให้ทำความรู้จักและใช้เวลาเข้าใจภูมิภาคต่างๆ รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย เพราะเป็นฮอตสปอตที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจยุคนี้