โลกเกิดภาวะรวยสุดขั้ว-จนสุดขีด คน 1% รวยกว่า 99% เกือบสองเท่า
รายงานออกซ์แฟมระบุ ช่วงสองปีที่ผ่านมาคนรวยสุดของโลก 1% มั่งคั่งกว่าคนอื่นๆ ที่เหลือรวมกันเกือบสองเท่า ภาวะรวยสุดขั้ว-จนสุดขีด เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 25 ปี
องค์กรการกุศลออกซ์แฟม เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ “ความอยู่รอดของผู้ร่ำรวยที่สุด”“Survival of the Richest” ในวันจันทร์ (16 ม.ค.) ซึ่งเป็นวันเปิดการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ระบุ คนร่ำรวยสุดของโลก 1% ครอบครองเกือบสองในสามของความมั่งคั่งใหม่ทั้งหมดมูลค่า 42 ล้านล้านดอลลาร์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ตลอดทศวรรษที่ผ่านมากลุ่มคนร่ำรวยสุด1% ครอบครองครึ่งหนึ่งของความมั่งคั่งใหม่ ภาวะร่ำรวยสุดขั้วและยากจนสุดขีดเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี
“ขณะที่ชาวบ้านดิ้นรนไปวันๆ เพื่อหาปัจจัยพื้นฐานจำเป็นอย่างอาหาร พวกซูเปอร์ริชกลับได้ทุกอย่างแม้แต่ความฝันสุดประหลาด นี่เพียงแค่สองปีเท่านั้น ทศวรรษนี้กำลังกลายเป็นทศวรรษที่ดีที่สุดสำหรับอภิมหาเศรษฐี ยุค 2020 กระหึ่มเพื่อผู้มั่งคั่งที่สุดของโลก” กาเบรียลา บูเชอร์ กรรมการบริหารออกซ์แฟม อินเตอร์เนชันแนลให้ความเห็น
“การเก็บภาษีพวกซูเปอร์ริชและบิ๊กคอร์ปเป็นทางออกสำหรับวิกฤติที่ทับซ้อนกันในวันนี้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องขจัดมายาคติที่ว่าการลดภาษีให้กับกลุ่มมั่งคั่งที่สุดจะส่งผลให้ความมั่งคั่งของพวกเขาไหลลงไปถึงคนอื่นๆ 40 ปีของการลดภาษีให้ซูเปอร์ริชแสดงให้เห็นแล้วว่า น้ำขึ้นไม่ได้ช่วยยกเรือทุกลำ ยกแค่ซูเปอร์ยอชท์เท่านั้น”
เห็นได้ว่าความมั่งคั่งของเหล่าอภิมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ หลายปีช่วงโควิด-19 ระบาดและวิกฤติค่าครองชีพ ตั้งแต่ปี 2563 ความมั่งคั่ง 26 ล้านล้านดอลลาร์หรือ 63% ของความมั่งคั่งใหม่ทั้งหมดตกอยู่ในมือคนรวยสุด 1% ขณะที่ 16 ล้านล้านดอลลาร์ (37%) เป็นของส่วนที่เหลือรวมกัน
อภิมหาเศรษฐีหนึี่งคนรวยขึ้นราว 1.7 ล้านดอลลาร์ จากทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่คนยากจนสุดกลุ่ม 90% หนึ่งคนหาได้
แต่ละวันอภิมหาเศรษฐีรวยขึ้น 2.7 พันล้านดอลลาร์ ต่อยอดความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ในรอบหนึ่งทศวรรษ จำนวนและความมั่งคั่งของเหล่าอภิมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นสองเท่าตลอดสิบปีที่ผ่านมา
คนกลุ่มนี้รวยพุ่งในปี 2565 ด้วยกำไรจากอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทอาหารและพลังงาน 95 แห่ง มีกำไรกว่าสองเท่าในปี 2565 พวกเขาทำกำไรน่าตะลึง 3.06 แสนล้านดอลลาร์ และจ่าย 2.57 แสนล้านดอลลาร์ (84%) ให้กับผู้ถือหุ้นที่อู้ฟู่
ตระกูลวอลตัน เจ้าของห้างวอลมาร์ทครึ่งหนึ่ง มีรายได้ 8.5 พันล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา กัวตัม อดานี อภิมหาเศรษฐีอินเดีย เจ้าของบริษัทพลังงานรายใหญ่ เฉพาะ 2565 ปีเดียว ความมั่งคั่งพุ่ง 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (46%)
ผลกำไรส่วนเกินขององค์กรผลักดันอัตราเงินเฟ้ออย่างน้อยครึ่งหนึ่งในออสเตรเลีย สหรัฐและสหราชอาณาจักร ในเวลาเดียวกันคนงานอย่างน้อย 1.7 พันล้านคนขณะนี้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่เงินเฟ้อสูงเกินค่าจ้าง กว่า 820 ล้านคน หรือราว 1 ใน 10 ของประชาชนบนพื้นโลกกำลังหิวโหย ผู้หญิงและเด็กมักรับประทานน้อยที่สุดและทีหลังสุด คิดเป็นเกือบ 60% ของประชากรหิวโหยในโลก ธนาคารโลกกล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำและยากจนทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
ทั้งประเทศกำลังเผชิญภาวะล้มละลาย ประเทศยากจนที่สุดขณะนี้กำลังจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้ร่ำรวยมากกว่าจ่ายเพื่อการดูแลสุขภาพสี่เท่า สามในสี่ของรัฐบาลทั่วโลกวางแผนลดการใช้จ่ายภาครัฐอย่างด้านสาธารณสุขและการศึกษา ลง 7.8 ล้านล้านดอลลาร์ตลอดห้าปีข้างหน้า
ออกซ์แฟมเรียกร้องให้เก็บภาษีกลุ่มซูเปอร์ริชเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบและหลากหลาย การลดภาษีให้คนรวยสุดและบริษัทยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำ เมื่อคนจนสุดในหลายประเทศจ่ายภาษีในอัตราสูงกว่าอภิมหาเศรษฐี
อีลอน มัสก์ ผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกคนหนึ่ง เสียภาษีในอัตราแท้จริงราว 3% ระหว่างปี 2557-2561 ขณะที่เอเบอร์ คริสติน พ่อค้าแป้งในยูกันดา มีรายได้เดือนละ 80 ดอลลาร์ (2,870 บาท) ต้องเสียภาษีในอัตรา 40%
ในภาพรวม ทุกๆ หนึ่งดอลลาร์ที่เก็บภาษีได้มีเพียง 4 เซนต์เท่านั้นที่มาจากคนรวย ครึ่งหนึ่งของอภิมหาเศรษฐีโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่เก็บภาษีมรดก พวกเขาส่งต่อทรัพย์สมบัติ 5 ล้านล้านดอลลาร์ให้ทายาทโดยไม่ต้องเสียภาษี มากกว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของทวีปแอฟริกา
มรดกที่ส่งต่อจะผลักดันให้เกิดชนชั้นนำในหมู่คนชั้นสูง รายได้ของผู้มั่งมีส่วนใหญ่มาจากผลตอบแทนของสินทรัพย์ แต่พวกเขาเสียภาษีเฉลี่ย 18% เพียงครึ่งหนึ่งของอัตราภาษาเฉลี่ยสูงสุดที่เก็บจากค่าจ้างและเงินเดือน
เดิมทีกลุ่มมั่งคั่งที่สุดเคยเสียภาษีสูงมากมาก่อน แต่ช่วง 40 ปีที่ผ่านมารัฐบาลทั้งในแอฟริกา เอเชีย ยุโรป และอเมริกาลดอัตราภาษีเงินได้ของคนกลุ่มนี้ แต่ขึ้นภาษีสินค้าและบริการ กลายเป็นภาระหนักตกกับกลุ่มคนจนสุดและเร่งความเหลื่อมล้ำทางเพศ
“การเก็บภาษีซูเปอร์ริชเป็นเงื่อนไขเชิงกลยุทธ์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและฟื้นคืนประชาธิปไตย เราจำเป็นต้องทำสิ่งนี้เพื่อนวัตกรรม เพื่อบริการสาธารณะที่แข็งแกร่งขึ้น เพื่อสังคมที่มีความสุขและแข็งแรงมากขึ้น และเพื่อจัดการวิกฤติสภาพอากาศ ด้วยการลงทุนในโซลูชันรับมือการปล่อยมลพิษอย่างบ้าคลั่งของคนรวยสุดทุกคน” บูเชอร์กล่าว
ส่วนรายงานประจำปีอีกหนึ่งฉบับที่ชื่อ The Edelman Trust Barometer จัดทำโดยบริษัทข้อมูลเอเดลแมนสำรวจความคิดเห็นประชาชนกว่า 32,000 คนใน 28 ประเทศ ระหว่างวันที่ 1-28 พ.ย. 2565 พบว่า ความรู้สึกไม่มั่นใจกับเศรษฐกิจสูงสุดในประเทศใหญ่บางประเทศ อาทิ สหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี และญี่ปุ่น ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และเงินเฟ้อทำให้สังคมแตกแยก ครัวเรือนรายได้สูงยังคงเชื่อมั่นในสถาบันทางสังคม เช่น รัฐบาล ภาคธุรกิจ สื่อมวลชน และเอ็นจีโอ แต่ครัวเรือนรายได้น้อยแปลกแยกกับสถาบันเหล่านั้น
ในภาพรวมทั่วโลก ผู้ให้ข้อมูลเพียง 40%เท่านั้นที่เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า “ครอบครัวและตัวฉันจะดีขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า” เทียบกับ 50% จากปีก่อนหน้า เขตเศรษฐกิจก้าวหน้าสิ้นหวังมากที่สุด สหรัฐ (36%) อังกฤษ (23%) เยอรมนี (15%) และญี่ปุ่น (9%)