เมื่อเศรษฐีขนหน้าแข้งร่วง ‘เจ้าพ่อเอเวอร์แกรนด์’ รวยวูบ 93%

เมื่อเศรษฐีขนหน้าแข้งร่วง   ‘เจ้าพ่อเอเวอร์แกรนด์’ รวยวูบ  93%

คนเราเมื่อยามดวงดีจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด แต่เมื่อดวงตกสินทรัพย์ที่เคยมีต้องหดหาย ชื่อเสียงเกียรติยศพลอยตกต่ำไปด้วย

อย่างเช่นเรื่องราวของ ‘ซู เจียหยิน’ อภิมหาเศรษฐีจีน ที่ครั้งหนึ่งเคยมั่งคั่งและทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของประเทศ กลายเป็นว่าตอนนี้สินทรัพย์ร่วงลงถึง 93%

ประธานไชนาเอเวอร์แกรนด์กรุ๊ปเคยอู้ฟู่ถึง 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้เขาร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับสองของเอเชีย แต่ความมั่งคั่งของเขาลดลงเหลือ 3 หมื่นล้านตามดัชนีอภิมหาเศรษฐีบลูมเบิร์ก เมื่อเอเวอร์แกรนด์เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่แบกหนี้สูงสุดของจีน 3 แสนล้านดอลลาร์ และเป็นศูนย์กลางปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์แดนมังกรมาตั้งแต่ปี 2564  

เพื่อรักษาบริษัทไว้ อภิมหาเศรษฐีรายนี้ถึงกับต้องขายบ้านและเครื่องบินส่วนตัว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เอเวอร์แกรนด์ไม่ใช่บริษัทขี้ริ้วขี้เหร่มีพนักงานราว 200,000 คน ปี 2563 กวาดยอดขายได้กว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ เป็นเจ้าของกว่า 1,300 โครงการในกว่า 280 เมือง แต่ปีที่แล้วเอเวอร์แกรนด์ยังไม่ได้ส่งแผนปรับโครงสร้างหนี้เบื้องต้น ยิ่งเพิ่มคำถามว่าบริษัทจะไปรอดหรือไม่ในอนาคต

ส่วนตัวของซูนอกจากความมั่งคั่งลดลงแล้ว เขายังพบด้วยว่าตนเองถูกโดดเดี่ยวทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ สัญญาณล่าสุดมาจาก สภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน (ซีพีพีซีซี) คือกลุ่มชนชั้นนำจากภาครัฐและภาคธุรกิจ เจ้าพ่อเอเวอร์แกรนด์เคยเป็นสมาชิกกลุ่มมาตั้งแต่ปี 2551 และเป็นคณะกรรมการถาวรหนึ่งใน 300 คนมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ปีก่อนซูถูกห้ามไม่ให้เข้าประชุมประจำปี หลังอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ของเขาเสียหายหนักสุดในวิกฤติสินเชื่อจีน

ไม่เพียงเท่านั้นตอนนี้ซูยังไม่มีรายชื่อในซีพีพีซีซีสำหรับอีกห้าปีข้างหน้าด้วย

“บทบาทของซีพีพีซีซีเหมือนกับรางวัลเกียรติยศที่จีนมอบให้นักธุรกิจผู้ซื่อสัตย์ทุ่มเทให้กับประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจเลยแม้แต่น้อยที่นักธุรกิจใหญ่อย่างฮุย ผู้สร้างปัญหาให้ภาคอสังหาฯ เพราะบริษัทของเขาใหญ่มากจะหลุดออกจากลิสต์” วิลเลียม หล่ำ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง ผู้เขียนหนังสือการเมืองจีนหลายเล่มให้ความเห็นกับบลูมเบิร์ก

ในสารอวยพรปีใหม่พนักงาน เจ้าพ่ออสังหาฯ รายนี้ระบุ “2566 เป็นปีสำคัญสำหรับเอเวอร์แกรนด์กรุ๊ป ที่จะเติมเต็มการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะบริษัทและส่งมอบโครงการในทุกๆ ทางที่ทำได้ ผมเชื่อว่าเราสามารถบรรลุภารกิจส่งมอบ ชำระหนี้หลายก้อน ขจัดความเสี่ยง และเริ่มต้นบทใหม่ของการอยู่รอด ตราบเท่าที่เราทุกคนทำงานร่วมกันและไม่เคยละทิ้งการกลับมาก่อสร้าง ขาย และปฏิบัติการอีกครั้ง”

สำหรับสถานการณ์โดยรวมของเอเวอร์แกรนด์ ปี 2565 บริษัทกลับมาก่อสร้างใน 732 ทำเล ส่งมอบที่อยู่อาศัยให้ผู้ซื้อ 301,000 ยูนิต ซูกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะพนักงาน “อดทนต่อความเคร่งเครียดทั้งร่างกายและจิตใจอย่างใหญ่หลวง เอาชนะอุปสรรคนานัปการจนทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริงได้”

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเอเวอร์แกรนด์เร่งขายสินทรัพย์และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ที่พอกพูนถึงราว 3 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากบริษัทกลายเป็นชนวนก่อให้เกิดวิกฤติเป็นวงกว้างในภาคอสังหาฯ ของจีน ที่คิดเป็นราวหนึ่งในสี่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ที่ผ่านมานักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ๆ ของจีนรวมถึงเอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถทำโครงการบ้านให้สำเร็จลุล่วง จนผู้ซื้อต้องประท้วงและตอบโต้ด้วยการไม่จ่ายค่างวด ส่วนบริษัทขนาดเล็กกว่าผิดนัดชำระหนี้ บ้างก็มีปัญหาในการระดมเงินสด นับตั้งแต่รัฐบาลควบคุมการปล่อยสินเชื่อเข้มงวดยิ่งขึ้นในปี 2563

ความพยายามของเอเวอร์แกรนด์ยังเห็นได้จากเมื่อเดือน พ.ย. เอกสารราชการชิ้นหนึ่งชี้ว่า เอเวอร์แกรนด์ขายที่ดินที่ตั้งใจใช้สร้างสำนักงานใหญ่ในเมืองเสิ่นเจิ้นศูนย์กลางเทคโนโลยีทางภาคใต้ในราคา 1 พันล้านดอลลาร์

แต่ใช่ว่าทางการจีนจะไม่ขยับแก้ปัญหาหนี้สินภาคอสังหาฯ  เดือนเดียวกันนั้นคณะกรรมการกำกับดูแลภาคธนาคารและธนาคารกลางจีนออกมาตรการใหม่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ “อย่างยั่งยืนและแข็งแกร่ง” เช่น ให้สินเชื่อช่วยเหลือบริษัทหนี้ท่วม ให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อสร้างหลักประกันว่าโครงการเสร็จสมบูรณ์ และความช่วยเหลือชำระหนี้แก่ผู้ซื้อบ้าน

ส่วนบรรดาอภิมหาเศรษฐีขนหน้าแข้งร่วงแดนมังกรไม่ได้มีแค่ซูเท่านั้น บลูมเบิร์กรายงานว่า  นักธุรกิจอสังหาฯ ผู้มั่งคั่งที่สุดของจีน 5 คน เสียหายรวมกันราว 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เศรษฐีอสังหาฯ รายอื่นๆ ได้แก่ ฮุย วิงเหมา จากชิเหมากรุ๊ป, จาง หลี่ ผู้ร่วมก่อตั้งกว่างโจวอาร์แอนด์เอฟพร็อพเพอร์ตีส์ และฮอย คินฮอง จากเพาเวอร์ลอง เรียลเอสเตตโฮลดิงส์ ไม่ได้เป็นสมาชิกซีพีพีซีซีเช่นกัน