สู้รบ“รัสเซีย-ยูเครน”ยืดเยื้อ เอื้อธุรกิจขายอาวุธเกาหลีเหนือ
สู้รบ“รัสเซีย-ยูเครน”ยืดเยื้อ เอื้อธุรกิจขายอาวุธเกาหลีเหนือ ขณะธนาคารกลางเกาหลีใต้ระบุว่าเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือไม่มีการเติบโตเลยในปี 2564 และเผชิญกับกับความไม่แน่นอนในปี 2565
การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน เปิดช่องให้เกาหลีเหนือที่กำลังมองหารายได้ที่หดหายไปเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องปิดประเทศ และสารพัดปัจจัยลบในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญภาวะถดถอย เริ่มมีหนทาง นั่นคือการขายอาวุธให้รัสเซียนำไปใช้ในการโจมตียูเครนจนสามารถเผด็จศึกครั้งนี้ได้
"ยูสต์ โอลีมานส์" นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธและเป็นผู้เขียนหนังสือ “The Armed Forces of North Korea” กล่าวว่า การที่ รัสเซียเร่งหาอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับการสู้รบในสงครามยูเครน อาจเป็นโอกาสสร้างรายได้ให้กับเกาหลีเหนือ เนื่องจากการทำข้อตกลงซื้อขายอาวุธกับรัสเซียจะช่วยให้เกาหลีเหนือมีรายได้ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและช่วยคลี่คลายวิกฤตการขาดแคลนเงินของประเทศได้
ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐเคยระบุว่า “คิม จองอึน” ผู้นำเกาหลีเหนือ ได้จัดหาปืนและกระสุน รวมทั้งกระสุนปืนใหญ่และขีปนาวุธ เพื่อสนับสนุนการทำสงครามให้กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย
แม้ว่าเกาหลีเหนือจะปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยตลอด แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเรื่องนี้มีมูลความจริง และการทำข้อตกลงค้าอาวุธนั้นเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคิม เนื่องจากการปิดพรมแดนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้หดตัวลงรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี
นอกจากนี้ ข้อมูลของธนาคารกลางเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานไม่กี่แห่งที่ทำการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของสองเกาหลีอย่างสม่ำเสมอ ระบุว่า เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือไม่มีการเติบโตในปี 2564 และเผชิญกับกับความไม่แน่นอนในปี 2565
ขณะเดียวกัน การที่เกาหลีเหนือจารกรรมสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี ที่ดูเหมือนว่าจะให้ผลประโยชน์กลับกลายเป็นแรงกดดันให้กับเกาหลีเหนือเอง เนื่องจากราคาคริปโทฯทรุดตัวลงอย่างหนักหลังจากการล้มละลายของบริษัทเอฟทีเอ็กซ์ (FTX) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์คริปโทฯรายใหญ่
เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่คิมมีเป็นจำนวนมากคืออาวุธ โดยเฉพาะปืนใหญ่ยุคศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีประสิทธิภาพคล้ายคลึงกับปืนใหญ่ที่กองกำลังทหารแนวหน้าของยูเครนใช้ในการสู้รบ
ขณะที่สถาบันยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศประเมินว่า เกาหลีเหนือมีอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาล รวมทั้งคลังแสงปืนใหญ่ 21,600 กระบอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกาหลีใต้ตกอยู่ภายใต้การคุกคามมาหลายทศวรรษว่าอาจเผชิญชะตากรรมเหมือนกับเมืองมาริอูโพลในยูเครน
“เกาหลีเหนือจะใช้โอกาสนี้ระบายสต็อกอาวุธรุ่นเก่าจำนวนมากในคลังแสง” โอลีมานส์ กล่าว และเสริมว่าที่ผ่านมานั้น เกาหลีเหนือผลิตปืนใหญ่ลากจูงรุ่นเก่าจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์ที่เข้ากันได้กับยุทธศาสตร์ส่วนหนึ่งของรัสเซีย
ขณะที่สหรัฐ ที่ทุ่มงบประมาณเพื่อให้การสนับสนุนด้านการทหารแก่ยูเครนไปกว่าแสนล้านดอลลาร์แล้ว เริ่มรู้สึกว่า ถ้ายังตามใจต่อไป ก็อาจจะถูกเซ้าซี้ให้สนับสนุนด้านอาวุธแบบนอน-สต็อป ล่าสุด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เลยปฏิเสธเสียงดังฟังชัดว่า “ไม่” เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ให้ยูเครนหรือไม่
มีความเป็นไปได้ที่ยุทธศาสตร์การทำสงครามตัวแทน ด้วยการใช้ยูเครนเป็นตัวแทนในการทำศึกกับรัสเซียอาจไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง และยิ่งยูเครน ร้องขอการสนุบสนุนด้านอาวุธไม่หยุด ก็ทำให้สหรัฐเริ่มรู้แล้วว่ายิ่งตามใจจะยิ่งเหลิง
เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมถึงรายงานเรื่องความน่าสงสัยในการจัดซื้อ-จัดจ้างทางทหาร ทั้งที่ประเทศกำลังเผชิญภัยสงคราม และเงินที่ถูกนำไปใช้จ่ายผิดทาง ส่วนใหญ่มาจากความช่วยเหลือของนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐ
สหรัฐทุ่มเงินช่วยเหลือยูเครน ในรูปแบบการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทางทหาร 67,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นของปีงบประมาณ 2565 กับอีก 45,000 ล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณ 2566 รวมแล้วเป็นเงินมากถึง 112,000 ล้านดอลลาร์
แม้ว่าสหรัฐจะไม่ขายเครื่องบินขับไล่ F-16 ให้ยูเครน แต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐก็ตัดสินใจส่งรถถังประจัญบาน M1 Abrams จำนวน 31 คันไปให้ยูเครน เพื่อโน้มน้าวให้เยอรมนีตัดสินใจส่งรถถังประจัญบาน Leopard 2 ไปช่วยบ้าง
เมื่อพูดถึงประเด็นการจัดส่งอาวุธ เมื่อปีที่แล้ว มีรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐจัดส่งอาวุธขายให้ประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นถึง 49% คิดเป็นมูลค่าถึง 205,600 ล้านดอลลาร์
การขายอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ได้รับอนุมัติในปี 2565 มีหลากหลายประเภท รวมถึง เครื่องบินขับไล่ ‘เอฟ-15 ไอดี’ มูลค่า 1.39 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้กับอินโดนีเซีย เรือต่อสู้ผิวน้ำหลากภารกิจ มูลค่า 6.9 พันล้านให้กรีซ รถถัง มูลค่า 6 พันล้านให้โปแลนด์
ตามปกติแล้วมี 2 วิธี ที่รัฐบาลต่างชาติจะซื้ออาวุธจากบริษัทสหรัฐนั่นคือการขายตรงผ่านการเจรจาระหว่างรัฐบาลต่างชาติกับบริษัทสหรัฐ และการขายที่รัฐบาลต่างชาติจะติดต่อโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลาโหม ที่ประจำการอยู่ในสถานทูตสหรัฐในประเทศต่างๆ ซึ่งการขายทั้งสองลักษณะต้องผ่านการอนุมัติโดยรัฐบาลสหรัฐ
ส่วนยอดขายตรงของบริษัทอาวุธในสหรัฐเพิ่มขึ้นถึง 48.6% ในปี 2565 มาอยู่ที่ 1.537 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.03 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2564
ขณะที่ ยอดขายอาวุธที่มีการดำเนินการผ่านรัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้น 49.1% เป็น 5.19 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 จาก 3.48 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2564