ไทยผงาด Top10 "ประเทศมีอิทธิพลที่สุดในเอเชีย" สหรัฐครองที่ 1 จีนเป็นรอง
ดัชนีชี้วัดอิทธิพลในเอเชีย (The Asia Power Index) ที่เผยแพร่โดยสถาบันค้นคว้าวิจัยอิสระ “โลวี” ของออสเตรเลีย เมื่อวันอาทิตย์ (5 ก.พ.) พบว่า ไทยครองอันดับที่ 10 ส่วนสหรัฐยังครองตำแหน่งผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในเอเชีย รองลงมาเป็นจีน
10 อันดับประเทศที่มีอิทธิพลที่สุดในเอเชีย
1.สหรัฐ
2.จีน
3. ญี่ปุ่น
4. อินเดีย
5. รัสเซีย
6. ออสเตรเลีย
7. เกาหลีใต้
8. สิงคโปร์
9. อินโดนีเซีย
10. ไทย
ทั้งนี้ ดัชนีชี้วัดอิทธิพลในเอเชียคำนวณคะแนนจากความสามารถสร้างอิทธิพลในเอเชีย ด้วยตัวชี้วัด 8 ด้าน ได้แก่ ความสามารถทางเศรษฐกิจ อำนาจในการแข่งขัน การทหาร ความสามารถทางการทูต ความยืดหยุ่น แหล่งทรัพยากรในอนาคต เครือข่ายป้องกันประเทศ และอิทธิพลทางวัฒนธรรม จากทั้งหมด 26 ประเทศ
อิทธิพลไทยในเอเชีย
ประเทศไทยครองอันดับ 10 จัดอยู่ในประเทศอิทธิพลระดับกลาง ตัวชี้วัดที่แข็งแกร่งของไทยคือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งด้านนี้จัดอยู่ในอันดับที่ 7 เป็นผลมาจากการเข้าร่วมซัพพลายเชนในภูมิภาค และมีความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนที่แข็งแกร่งกับประเทศที่ติดอันดับในดัชนีอิทธิพลเอเชีย แต่ตัวชี้วัดที่ถูกจัดอันดับต่ำที่สุด คือ ความสามารถทางทหารและแหล่งทรัพยากรในอนาต ซึ่งจะอยู่ในอันดับที่ 14 และ 15 ตามลำดับ จากทั้งหมด 26 ประเทศ
ส่วนอิทธิพลทางวัฒนธรรม ตัวชี้วัดที่แข็งแกร่งที่สุดของไทยร่วงลงมา 2 อันดับ สู่อันดับที่ 8 เนื่องจากการท่องเที่ยวลดลงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ดี ไทยมีอิทธิพลในเอเชียมากขึ้นกว่าที่นักจัดทำดัชนีคาดไว้
อาเซียนเริ่มมีบทบาท
ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มโดดเด่นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ด้วยผู้นำในอาเซียนต่างต้องการสร้างความพร้อมในภูมิภาคทะเลจีนใต้และมีส่วนร่วมกับประเทศมหาอำนาจอย่างระมัดระวังมากขึ้น
ขณะที่ภูมิภาคนี้ถูกมองว่าไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใดเป็นพิเศษ และรับมือกับความท้าทายของประเทศมหาอำนาจได้ยากลำบาก แต่ “ซูซานนาห์ แพตตัน” หัวหน้าโครงการศึกษาดัชนีและผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสถาบันโลวี อ้างอิงข้อมูล แสดงให้เห็นว่า ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่มีเครือข่ายสัมพันธ์ระดับสูงและมีความกระตือรือร้นทางการทูต
“อาเซียนห่างไกลจากการครอบงำระหว่างประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ที่คะแนนอิทธิพลโดยรวมพัฒนาต่อเนื่องและมีอำนาจทางการทูต ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากความเคลื่อนไหวล่าสุดของอินโดนีเซียต่อเมียนมาและรัสเซีย-ยูเครน” แพตตัน กล่าว
ประเทศอิทธิพลระดับกลาง
จากรายงาน แสดงให้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นที่รั้งอันดับ 3 มีความสำคัญทางการค้าและการลงทุนกับประเทศในเอเชียน้อยลง
อินเดียที่ครองอันดับ 4 มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจมหาศาลและมีอิทธิพลทางทหารในอนาคต
ส่วนรัสเซียที่ยังคงครองอันดับ 5 อย่างต่อเนื่อง ได้คะแนนลดลงในหลายด้าน ด้วยอิทธิพลทางการทูตตกต่ำไปมาก เนื่องจากประเทศต่างๆ หลีกหนีรัฐบาลมอสโกหลังเกิดสงครามยูเครน
มหาอำนาจสหรัฐ-จีน
แพตตัน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเอเชียทูไนท์ของสำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชียว่า “สหรัฐมีข้อได้เปรียบหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือเครือข่ายการป้องกันประเทศที่ล้ำหน้าจีนไปมาก ส่วนข้อดีของจีนเบื้องต้นเป็นด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ”
ข้อเสนอของรัฐบาลวอชิงตันที่มีต่อเอเชีย มุ่งเน้นไปที่ความความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกลุ่มพันธมิตรที่เลือกไว้ ซึ่งรวมทั้งญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และเกาหลีใต้
ในทางกลับกัน จีนมีพันธมิตรที่กว้างกว่ามาก แม้ความสัมพันธ์ในภูมิภาคอาจดูผิวเผินและเน้นเกี้ยวพาราสีกับหลาย ๆ ประเทศมากกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลจีนมีความสามารถทางทหารที่แข็งแกร่งมากขึ้นมากกว่าปีก่อน
ขณะที่ผลการศึกษา ระบุว่า สหรัฐไม่อาจเป็นผู้นำที่ชนะขาดในภูมิภาคนี้ได้อีกเนื่องจากอิทธิพลจีนเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลวอชิงตันยังคาดว่า จะมีอิทธิพลในเอเชียมากที่สุดอย่างน้อย 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากเหตุการณ์ปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลปักกิ่งมีโอกาสขึ้นนำสหรัฐได้น้อยภายในสิ้นศตวรรษนี้
ทั้งนี้ แพตตัน เผยว่า การแข่งระหว่างสหรัฐ-จีน ยังคงดำเนินต่อไป โดยไม่มีใครอยู่ในตำแหน่งที่จะผลักอีกฝ่ายออกจากสนามได้