เปิดสาเหตุ แผ่นดินไหวตุรกีคร่าชีวิตประชาชนกว่า 4,300 ราย
สำนักข่าวเอเอฟพี เผยว่า แผ่นดินไหวรุนแรงที่ถล่มตุรกี - ซีเรีย ช่วงเช้าวันจันทร์ (6 ก.พ.) เกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ทั้งช่วงเวลาเกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุ แนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่สงบนิ่งมานาน และโครงสร้างที่อ่อนแอของตึกที่พังทลาย คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 4,300 ราย
สาเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
ประชาชนกว่า 4,300 คน เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว 7.8 แมกนิจูด ในตุรกีบริเวณพรมแดนซีเรีย และคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเกิด “อาฟเตอร์ช็อกสั่นสะเทือนตลอดทั้งวัน”
ด้าน “โรเจอร์ มัสสัน” ผู้ร่วมวิจัยกิตติมาศักดิ์ จากหน่วยงานสำรวจทางธรณีวิทยาอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า อีกสาเหตุหนึ่ง คือ เหตุแผ่นดินไหวตุรกีเกิดในช่วงเวลา 4.17 น. ตามเวลาท้องถิ่น นั่นหมายความว่า ผู้คนที่กำลังหลับใหลถูกขังอยู่ในบ้านที่พังถล่มยับเยิน
“โครงสร้างของอาคารต่างๆ ไม่เหมาะสมในพื้นที่ ที่อ่อนไหวต่อเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่” มัสสัน กล่าว และส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหวสงบนิ่งมานานแล้ว
ทั้งนี้ ตุรกีเป็นหนึ่งในเขตเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวที่สุดในโลก
ซ้ำรอยแผ่นดินไหว 1822
มัสสันเผยว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ คล้ายเหตุแผ่นดินไหว 7.4 แมกนิจูด ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกันเมื่อวันที่ 13 ส.ค.1822 สร้างความเสียหายมหาศาล เมืองทั้งเมืองพังราบ และประชาชนล้มตายนับหมื่น ทั้งยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกสั่นสะเทือนต่อเนื่องจนถึงเดือนมิ.ย.ของปีถัดไป
ส่วนจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเมื่อวันจันทร์ (6 ก.พ.) ลึก 17.9 กิโลเมตร ซึ่งค่อนข้างตื้น และเกิดใกล้เมืองกาซีอันเท็พที่มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 2 ล้านคน
มัสสัน เผยว่า “แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากแผ่นเปลือกโลกอาหรับเคลื่อนตัวไปทางเหนือ ครูดผ่านแผ่นดินตุรกี” และย้ำว่า ศูนย์กลางแผ่นดินไหวสำคัญน้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นตามแนวรอยเลื่อนว่ากระทบไปไกลมากเพียงใด ซึ่งในกรณีนี้เสียหายในระยะประมาณ 100 กิโลเมตร
“นั่นหมายความว่า ที่ใดก็ตามในระยะ 100 กิโลเมตร ตามแนวรอยเลื่อน เป็นจุดที่อยู่เหนือแผ่นดินไหวอันทรงพลังอย่างแน่นอน” มัสสัน ระบุ
โครงสร้างตึกคือสิ่งสำคัญ
“คาร์เมน โซลานา” นักภูเขาไฟวิทยา จากมหาวิทยาลัยพอร์ทส์มัธ ของอังกฤษ เผยว่า เนื่องจากแผ่นดินไหวไม่สามารถคาดเดาได้ อาคารต้านแรงสั่นสะเทือนจึงเป็นสิ่งสำคัญในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ
“โครงสร้างที่อ่อนไหว จึงเกิดความเสียหายเป็นหย่อมๆ ในทางตอนใต้ของตุรกี โดยเฉพาะพรมแดนซีเรีย ดังนั้น ความปลอดภัยของชีวิตขึ้นอยู่กับความพยายามปกป้องชีวิตผู้คน” โซลานา กล่าว
ด้าน “บิล แมกไกวร์” นักภูเขาไฟวิทยา จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน เผยว่า โครงสร้างตึกหลายแห่งในซีเรีย เสื่อมโทรมมามากกว่าสงครามสิบปีเสียอีก
ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี 2542 รัฐบาลตุรกีอนุมัติกฎหมายในปี 2547 โดยมีคำสั่งให้การก่อสร้างใหม่ทั้งหมด ต้องตรงตามมาตรฐานป้องกันแผ่นดินไหวยุคใหม่
“โจแอนนา ฟอเร วอล์กเกอร์” หัวหน้าสถาบันลดความเสี่ยง และภัยพิบัติแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน เรียกร้องให้ตุรกีตรวจสอบว่า กฎหมายมาตรฐานป้องกันแผ่นดินไหวได้นำไปปฏิบัติในเหตุภัยพิบัติล่าสุดนี้หรือไม่ และขอให้ตุรกีเปิดเผยถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาความปลอดภัยของตึกเก่าๆ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์