เจาะลึกปฏิบัติการกู้ภัย ค้นหาผู้รอดชีวิต แผ่นดินไหวตุรกี ไม่ใช่เรื่องง่าย

เจาะลึกปฏิบัติการกู้ภัย ค้นหาผู้รอดชีวิต แผ่นดินไหวตุรกี ไม่ใช่เรื่องง่าย

หลายคนอาจสงสัยว่า ทีมกู้ภัยในตุรกีรวมถึงทีมกู้ภัยจากทั่วโลกที่เข้าช่วยเหลือ ทำงานกันอย่างไร เมื่อแผ่นดินไหวถล่มตุรกี จนอาคารบ้านเรือนพังราบเป็นหน้ากลอง สำนักข่าวบีบีซีเปิดปฏิบัติการกู้ภัยให้ทุกคนได้ทราบ แม้ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากหากจะช่วยใครสักคน

คนนับหมื่นเสียชีวิตหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรกีและซีเรีย เมื่อวันจันทร์ (6 ก.พ.) การกู้ภัยและการค้นหาผู้รอดชีวิต ยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินงานของทีมช่วยเหลือพิเศษจากทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ผู้คนในพื้นที่ประสบภัยบอกว่า ความพยายามช่วยเหลือของทีมกู้ภัยเริ่มช้าลง บางคนต้องขุดเศษซากด้วยมือเปล่าเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย

แล้วความเป็นจริง หน่วยกู้ภัยต้องปฏิบัติงานอย่างไรเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต? สำนักข่าวบีบีซีมีคำตอบ

เจาะลึกปฏิบัติการกู้ภัย ค้นหาผู้รอดชีวิต แผ่นดินไหวตุรกี ไม่ใช่เรื่องง่าย

เปิดปฏิบัติการกู้ภัย-ค้นหาผู้รอดชีวิต

เมื่อกู้ภัยหลายคนถึงสถานที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งแรก พวกเขาจะประเมินพื้นที่ว่าอาคารใดมีประชาชนติดอยู่ในซากมากที่สุด โดยการมองหาช่องว่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ใต้คานคอนกรีตขนาดใหญ่หรือตามบันไดที่สามารถพบผู้รอดชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่อาคารอาจถล่มอีก จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และมีอันตรายอื่นๆ ที่ต้องคอยระวัง เช่น แก๊สรั่ว น้ำท่วม และวัสดุที่เป็นอันตรายอย่างแร่ใยหินในหลังคา

ขณะที่ทีมกู้ภัยเข้าช่วยเหลือผู้รอดชีวิต ทีมสนับสนุนต้องจับตาดูการเคลื่อนไหวของอาคาร และฟังเสียงต่างๆ

ส่วนตึกที่พังยับเยินมักจะเป็นสถานที่สุดท้ายของการค้นหา เพราะความเป็นไปได้ของการพบผู้รอดชีวิตเหลือน้อย

ทั้งนี้ การทำงานของทีมกู้ภัย จะประสานงานโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ซึ่งมักเป็นองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และประเทศที่เกิดเหตุ

ทีมกู้ภัยได้รับการฝึกมาเป็นพิเศษจะปฏิบัติงานเป็นคู่หรือกลุ่มใหญ่ๆ และคนในท้องถิ่นมักเข้าร่วมทำงานด้วยเช่นกัน

อุปกรณ์จำเป็นสำหรับหน่วยกู้ภัย

-ในการเคลื่อนย้ายเศษซากปรักหักพัง ทีมกู้ภัยใช้เครื่องจักรกลหนัก รวมทั้งเครื่องขุดและแม่แรงยก

คอนกรีตแผ่นใหญ่ที่ล้มนอกอาคาร สามารถเอาออกไปได้โดยเครื่องขุดเจาะ เพื่อให้กู้ภัยมองเห็นผู้ที่ติดอยู่ข้างในอาคาร

-เครื่องถ่ายวิดีโอสามารถเข้าถึงด้านในสุดของช่องว่างต่างๆ เพื่อให้กู้ภัยเห็น และเข้าช่วยเหลือผู้รอดชีวิต

-อุปกรณ์ฟังเสียงแบบพิเศษ สามารถตรวจจับเสียงแผ่วเบาที่สุดได้ในระยะ 2-3 เมตร เมื่อทีมกู้ภัยส่งสัญญาณสามครั้ง และกำลังรอเสียงตอบรับกลับมา ความเงียบสงบของสถานที่จึงเป็นสิ่งสำคัญ

-เครื่องตรวจวัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถช่วยให้พบผู้รอดชีวิตที่หมดสติได้ แต่อุปกรณ์สามารถทำงานได้ดีในพื้นที่จำกัด ที่สามารถตรวจพบความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ จากคนที่ยังมีลมหายใจ

-กล้องถ่ายภาพความร้อน สามารถใช้ระบุตัวคนที่ไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้โดยตรง เพราะร่างกายคนมีความร้อน สามารถทำให้เศษซากต่างๆ โดยรอบ อุ่นขึ้นจนเครื่องตรวจพบได้

เจาะลึกปฏิบัติการกู้ภัย ค้นหาผู้รอดชีวิต แผ่นดินไหวตุรกี ไม่ใช่เรื่องง่าย

เจ้าตูบก็กู้ภัยได้

สุนัขกู้ภัยที่ฝึกมาเป็นพิเศษ จะใช้ทักษะรับรู้กลิ่นจับสัญญาณของชีวิตในสถานที่ที่กู้ภัยไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ สุนัขยังสามารถทำงานในพื้นที่ขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเร่งกระบวนการค้นหาและกู้ภัยได้เป็นอย่างดี

สองมือเปล่ากับหนึ่งชีวิต

เมื่อซากปรักหักพังขนาดใหญ่รื้อออกแล้ว ทีมกู้ภัยจะใช้มือเปล่า และเครื่องมือขนาดเล็ก เช่น ค้อน, พลั่ว, เสียม, เลื่อยไฟฟ้า, เครื่องตัดดิสก์ และเครื่องตัดเหล็กที่สามารถตัดแท่งเหล็กในคอนกรีตเสริมได้

และยังมีอุปกรณฺ์ป้องกันต่างๆ อาทิ หมวกนิรภัยและถุงมือ เพื่อป้องกันมือขณะเคลื่อนย้ายสิ่งของแหลมคมของซากอาคาร

อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่ในตุรกีที่ความช่วยเหลือเริ่มลดลง คนในพื้นที่จึงช่วยกันขุดเศษซากอาคารที่เปียกชื้นและเย็นจัดด้วยมือเปล่า

“เบเดีย กูคัม” เจ้าของร้านอาหารในเมืองอาดานาทางภาคใต้ของตุรกี เผยกับบีบีซีว่า คนในท้องถิ่นต้องการถุงมือเพื่อใช้โยกย้ายเศษซากต่างๆ

เจาะลึกปฏิบัติการกู้ภัย ค้นหาผู้รอดชีวิต แผ่นดินไหวตุรกี ไม่ใช่เรื่องง่าย

สิ้นสุดปฏิบัติการฮีโร่

การยุติค้นหาผู้รอดชีวิต มาจากการตัดสินใจระหว่างยูเอ็น รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศที่เกิดเหตุ โดยการปฏิบัติการกู้ภัยจะยุติลงระหว่างช่วงเวลา 5-7 วัน หลังเกิดภัยพิบัติ และเมื่อไม่พบผู้รอดชีวิตมา 1-2 วัน

อย่างไรก็ตาม ทุกคนทราบกันดีว่าสามารถช่วยเหลือต่อไปได้อีก

โดยในปี 2553 ชายคนหนึ่งรอดชีวิตหลังติดในซากอาคารเป็นเวลา 27 วัน หลังเกิดแผ่นดินไหวในเฮติ และในปี 2556 หญิงคนหนึ่งรอดชีวิตจากเหตุการณ์โรงงานถล่มในบังกลาเทศ หลังติดอยู่ในนั้นนาน 17 วัน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์