‘ภาวะสมองไหล’ปากีสถาน ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจทรุด
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าปากีสถานกำลังเสียเปรียบด้านการแข่งขันในตลาดแรงงาน หลังจากมนุษย์เงินเดือนเกือบ 1 ล้านคนพากันออกไปหางานทำในต่างประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา
ปากีสถานที่กำลังเจอปัญหาเศรษฐกิจขั้นรุนแรงและการคลังของประเทศขาดสภาพคล่องจนถึงกับต้องขอกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)เมื่อไม่นานมานี้ กำลังถูกซ้ำเติมจากภาวะสมองไหล ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าปัญหานี้กำลังส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดแรงงานของประเทศหลังจากมนุษย์เงินเดือนเกือบ 1 ล้านคนพากันออกไปหางานทำในต่างประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจากสำนักงานการจ้างงานและผู้อพยพต่างประเทศบ่งชี้ว่าแรงงานชาวปากีสถานเดินทางไปหางานทำในต่างประเทศในปี 2565 เป็นจำนวน 832,339 คน ถือเป็นตัวเลขสูงสุด นับตั้งแต่ปี 2559 โดยประเทศเป้าหมายที่แรงงานชาวปากีสถานนิยมไปทำงานคือซาอุดีอาระเบีย โดยไปค้าแรงงานที่นี่ถึง 514,909 คน
“อาห์หมัด จามาล” ทนายความด้านผู้อพยพในเควตตา เมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดในแคว้นบาลูจิ ประเทศปากีสถาน กล่าวว่า ตัวเลขที่แท้จริงของแรงงานชาวปากีสถานที่เดินทางไปหางานทำในต่างประเทศสูงกว่านี้เพราะตัวเลขนี้ครอบคลุมเฉพาะพวกที่มีวีซ่าทำงาน ยังมีแรงงานอีกหลายประเภทที่ไม่ถูกรวมไว้ในกลุ่มนี้ เช่นกลุ่มแรงงานที่เดินทางไปค้าแรงงานในต่างประเทศโดยใช้วีซ่าพลเมืองถาวร,วีซ่านักเรียน และวีซ่าตั้งถิ่นฐานกับครอบครัว
ภาวะสมองไหลในปากีสถานมีสาเหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ อยู่ในสถานะใกล้ล้มละลาย โดยทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงเหลือ 2,900 ล้านดอลลาร์ มีพอใช้นำเข้าสินค้าได้ไม่ถึงสามสัปดาห์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อในเดือนม.ค.ที่ผ่านมาสูงมากถึง 27.6% และมีรายได้ต่อหัวประชากรอยู่ที่ 1,658 ดอลลาร์
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีเชห์บาซ ชารีฟของปากีสถาน จัดประชุมครั้งสุดท้ายกับคณะผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) เพื่อขออนุมัติเงินกู้ฉุกเฉินกอบกู้วิฤตเศรษฐกิจ หลังจากทุนสำรองระหว่างประเทศของปากีสถานลดลงอย่างรวดเร็ว และรัฐบาลถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดที่ต้องเร่งแก้ปัญหา แต่การหารือครั้งนี้ไม่ได้ผล
นี่ไม่ใช่ครั้งเเรกที่ปากีสถานขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ
“ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ของปากีสถาน จะเห็นว่าปากีสถานมีปัญหาเรื่องดุลการชำระเงิน” ดร.ซาจิด อามิน จาเวด รองผู้อำนวยการบริหารของสถาบันนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรุงอิสลามาบัด กล่าว
ปัจจุบัน ปากีสถานกำลังดิ้นรนเพื่อชำระหนี้ต่างประเทศในระดับสูง ขณะที่ในสัปดาห์นี้ เงินรูปีร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 275 ต่อดอลลาร์ โดยปากีสถานเผชิญปัญหาเช่นเดียวกับหลายประเทศ จากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ตามมาด้วยราคาเชื้อเพลิงโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมาก
ประกอบกับการนำเข้าอาหารของปากีสถานมีราคาแพงขึ้น หากค่าเงินรูปีอ่อนค่าลง เชื้อเพลิงจะมีต้นทุนสูงขึ้นและจะมีผลกระทบกับสินค้าที่ขนส่งหรือการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลปากีสถานเพิ่งขึ้นราคาเชื้อเพลิงมากกว่า 13%
นอกจากนี้ ต้นทุนของน้ำท่วมปีที่แล้วก็ยังเป็นอีกปัจจัยลบที่ส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของปากีสถาน โดยสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ระบุว่า ภัยพิบัติจากน้ำท่วมครั้งใหญ่สร้างความเสียหายมากกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ พื้นที่ขนาดใหญ่ของปากีสถานจมอยู่ใต้น้ำ ทำลายพื้นที่เพาะปลูกและขัดขวางความสามารถในการผลิตอาหาร อาหารพื้นฐาน เช่น ข้าวสาลีและหัวหอมมีราคาพุ่งสูงขึ้น
“น่าเสียดายที่การเจรจากับไอเอ็มเอฟไม่เป็นผล เพราะประสบผลสำเร็จ จะช่วยปลดล็อกเงินหลายพันล้านดอลลาร์ตามที่ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สัญญาไว้ จากนั้นความเสี่ยงของปัญหาดุลการชำระเงินที่มากขึ้นจะลดลง” คูรัม ฮุสเซน ผู้สื่อข่าวด้านธุรกิจและเศรษฐกิจ ให้ความเห็น
บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านผู้อพยพย้ายถิ่น มีความเห็นตรงกันว่า ตอนนี้ชาวปากีสถานอายุประมาณ 40 และ 50 ปีพยายามย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศมากขึ้นเพราะปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมือง
“ตอนนี้ คนส่วนใหญ่พยายามขายทิ้งสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ หรือไม่ก็ทำเรื่องขอกู้เงินเพื่อไปทำมาหากินในต่างประเทศ และมีบางคนตั้งใจเดินทางไปอยู่ต่างประเทศโดยไม่กลับมาเลยก็มี”จามัล กล่าว