สถานทูตอียูในไทยจับมือ 36 ประเทศยืนหยัดเคียงข้างยูเครน
ในวันครบรอบหนึ่งปีการรุกรานของรัสเซีย ทั่วโลกร่วมแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับยูเครน ไม่เว้นแม้แต่ที่กรุงเทพฯ คณะทูตานุทูตจาก 36 ประเทศและตัวแทนจากภาคประชาสังคมเข้าร่วมงาน ‘12 Moments for Ukraine’ ส่งข้อความแสดงถึงความสามัคคีและแรงสนับสนุนจากนานาชาติต่อยูเครน
วันที่ 24 ก.พ.2566 คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทยในฐานะประธานสภาสหภาพยุโรปร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย จัดงาน ‘12 Moments for Ukraine’ ที่ห้องเอนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบทางด้านมนุษยธรรมอันใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นจากการรุกรานของรัสเซีย
นายเดวิด ดาลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ย้ำว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นการกระทำที่ละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนความพยายามที่จะเปลี่ยนเส้นเขตแดนโดยกำลังทหาร เป็นการกระทำที่รับไม่ได้และผิดกฎหมายในศตวรรษที่21 ทั้งยังถือเป็นการบั่นทอนความเคารพต่อระเบียบระหว่างประเทศที่อยู่บนพื้นฐานของกติกาภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ เป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างมากที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องร่วมกันยืนยันว่าสันติภาพที่ยืนยาวมีความชอบธรรมและรอบด้านต้องถูกสร้างขึ้นภายใต้หลักการพื้นฐานของกฏบัตรสหประชาชาติ
เมื่อคืนที่ผ่านมา (23 ก.พ.) ตามเวลาประเทศไทย ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ(UNGA)ได้รับรองมติสำคัญเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างสันติภาพเพื่อเป็นหลักประกันว่ายูเครนจะมี“อำนาจอธิปไตยเอกราชเอกภาพและบูรณภาพแห่งดินแดน” ด้วยเสียงข้างมากอย่างท่วมท้นรวมถึงประเทศไทย
นายดาลีกล่าวว่า ข้อมติดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่าทั้งโลกมองว่าการที่รัสเซียรุกรานยูเครนเป็นเรื่องร้ายแรงมาก การแสวงหาข้อมติและสันติภาพในยูเครนต้องทำตามหลักการของสหประชาชาติ 141 เสียงที่ลงมติเห็นชอบถือเป็นเสียงมหาศาลแสดงการสนับสนุน การลงมติ 4 ครั้งตั้งแต่เดือน มี.ค.-วันที่ 23 ก.พ.ล้วนได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากทั้งสิ้น
นอกจากนี้ทูตอียูยังย้ำด้วยว่า เป็นความเข้าใจผิดมากๆ หากมองว่า สงครามครั้งนี้เกิดในยุโรป ห่างไกล ไม่เกี่ยวกับประชาชนในเอเชียหรือที่อื่นๆ
“สงครามแสดงให้เห็นถึงหลักการพื้นฐานว่าเราต้องการอยู่ร่วมกันอย่างไรในฐานะประชาคมโลก มีวิธีการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไร จะทำบนพื้นฐานหลักนิติธรรมหรืออำนาจทางทหาร สงครามไม่ใช่แค่เกิดขึ้นในยุโรป อาจเกิดขึ้นที่นี่ได้เช่นกัน การเคารพอธิปไตย บูรณภาพเหนือดินแดน สำคัญสำหรับทุกประเทศ”
อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามเข้าสู่ปีที่ 2 และยังไม่มีวี่แววจบ คำถามที่พบมากในระยะหลังคือเป็นไปได้หรือไม่ว่า วันหนึ่งประชาชนชาวอียูจะเหนื่อยหน่ายถึงขนาดไม่ต้องการให้รัฐบาลของพวกเขาช่วยเหลือยูเครนอีก ทูตอียูอธิบายว่า นี่คือการทำให้เข้าใจผิดโดยอาชญากรว่าอียูจะแตกแยก แท้จริงแล้วอียูเป็นหนึี่งเดียวกันทั้งหมด สามารถช่วยเหลือยูเครนและคว่ำบาตรรัสเซียได้อย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์
"การประเมินผิดอีกด้านหนึ่งคืออียูไม่กล้าในแนวรบด้านพลังงาน แน่นอนว่าพลังงานถือเป็นความท้าทายใหญ่ แต่กลายเป็นว่าความก้าวร้าวของรัสเซียเป็นตัวเร่งนโยบายที่อียูทำมาหลายปีแล้ว เร่งให้เราใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เร่งการใช้พลังงานหมุนเวียน เร่งให้จัดหาพลังงานจากแหล่งอื่นไม่พึ่งพารัสเซียอีกต่อไป แม้รัสเซียจะเป็นผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ก็ตาม"
นายไลซัค โอเล็กซานเดรอ อุปทูตยูเครนประจำประเทศไทย ระบุ “สงครามครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับยูเครนเท่านั้น การโจมตีที่โหดร้ายของรัสเซียทำลายความมั่นคงของโลกและทำให้ทุกประเทศตกอยู่ในอันตราย สงครามนี้จะต้องจบลงด้วยชัยชนะของกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ ความยุติธรรมจะต้องกลับคืนสู่ยูเครน ยุโรปและทั่วโลก ยูเครนยังคงต่อสู้เพื่อเสรีภาพต่อไปเราจะต่อสู้ตราบเท่าที่จำเป็นกับการรุกรานของรัสเซียเราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องชนะสงครามครั้งนี้
“ยูเครนได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าเราจะไม่ยอมรับข้อเสนอสงบศึกไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตามเราจะไม่ทำความตกลงใดที่มีผลให้ดินแดนของยูเครนยังถูกยึดครองและทำให้ประชาชนของเราตกอยู่ภายใต้ความเมตตาของผู้รุกรานรัสเซียต้องถูกทำให้ยุติโดยทันทีเพราะการเข้าข้างผู้รุกรานจะนำไปสู่ความเลวร้ายในที่อื่นๆ” อุปทูตกล่าวและขอบคุณสำหรับการสนับสนุนของคนไทยและรัฐบาลไทยที่สะท้อนออกมาในรูปของการลงมติใน UNGA
ข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง งานวันนี้ตัวแทนทุกประเทศที่มาร่วมงานต่างให้คำมั่นเดินหน้าสนับสนุนยูเครนอย่างแข็งขัน แต่ก็ชวนให้คิดว่าในวันข้างหน้าหากรัฐบาลประเทศอียูเผชิญแรงกดดันจากประชาชนที่เจอปัญหาเศรษฐกิจไม่ให้หนุนยูเครนต่อไป รัฐบาลเคียฟได้เตรียมรับสถานการณ์นี้ไว้บ้างหรือไม่ อุปทูตโอเล็กซานเดรอ กล่าวว่า ไม่คิดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น เพราะพันธมิตรประกาศอย่างชัดเจนถึงจุดยืนสนับสนุนยูเครนตราบเท่าที่ยังต้องการ
“เราเชื่อมั่นในพันธมิตรและประชาคมโลก” อุปทูตยูเครนย้ำ
นายยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวสรุป “เรายังคงแน่วแน่ในคำมั่นสัญญาของเราที่มีต่อชาวยูเครนและระเบียบระหว่างประเทศที่อยู่บนพื้นฐานของกติกาและเราขอประณามการรุกรานทางทหาร ในฐานะประธานสภาสหภาพยุโรปในปัจจุบันสวีเดนได้จัดงานนี้ร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปและสถานทูตยูเครน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดถึงความทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวงของมนุษย์ที่ผู้รุกรานก่อขึ้นยูเครนและประชาชนยูเครนมีสิทธิที่จะกำหนดชะตากรรมของตนเองและเราจะยืนหยัดอยู่กับพวกเขาไม่ว่าจะนานเพียงไร"
ทั้งนี้ นับตั้งแต่การรุกรานอย่างเต็มรูปแบบเกิดขึ้นพลเรือน 18,995คนถูกสังหารหรือได้รับบาดเจ็บและอีก 17.6 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือและการคุ้มครองด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน ปีที่แล้วสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกได้ช่วยเหลือและให้การสนับสนุนยูเครนและประชาชนยูเครนเป็นงบประมาณรวมทั้งสิ้นกว่า 6.7 หมื่นล้านยูโร
นายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย
นายโรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย