เศรษฐกิจรัสเซียหลังสงคราม1ปี หมดโอกาสเฟื่องฟูเหมือนเก่า

เศรษฐกิจรัสเซียหลังสงคราม1ปี หมดโอกาสเฟื่องฟูเหมือนเก่า

รัสเซียหลังสงคราม1ปี หมดโอกาสเฟื่องฟูเหมือนเก่า โดยเงินเฟ้อรายปีของรัสเซียเดือนม.ค. อยู่ที่12% จากที่เคยพุ่งแตะระดับ 17.8% สูงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ

นักวิเคราะห์มีความเห็นว่า เศรษฐกิจรัสเซียสามารถต้านทานมาตรการคว่ำบาตรที่ชาติตะวันตกประกาศใช้ตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อ 1 ปีก่อนได้ แต่จะใช้เวลานานในการกลับไปเฟื่องฟูได้เหมือนเดิม สาเหตุหลักเพราะรัฐบาลมอสโกทุ่มเทงบประมาณไปกับการทหารอย่างมาก

สำนักงานสถิติแห่งชาติของรัสเซีย ประเมินว่า เศรษฐกิจรัสเซียน่าจะหดตัวประมาณ 2.1% ในปี 2565 น้อยกว่าที่มีการประเมินภายในประเทศ หลังจากรัสเซียส่งทหารไปยูเครนได้ไม่นานว่า เศรษฐกิจน่าจะหดตัวไม่ต่ำกว่า 10% แต่มากกว่าช่วงหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายและช่วงวิกฤตการเงินปี 2541 

“การหดตัว 2.1% ในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของรัสเซีย ถือว่าน้อยกว่าที่คาดหมาย และสอดคล้องกับการขยายตัวในไตรมาส 4 เป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ หลังจากเบื้องต้นได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรในไตรมาส 2 แต่ก็มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจรัสเซียยังคงอ่อนแอ และมีแรงต้านต่อการเสริมสร้างกิจกรรมต่างๆ จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจต้องใช้เวลาจนถึงปลายปีนี้ ก่อนที่เศรษฐกิจรัสเซียจะเริ่มฟื้นตัวอย่างยั่งยืน” เลียม พีช จากแคลิตอบ อีโคโนมิกส์ ให้ความเห็น

ตัวเลขนี้ดีกว่าที่กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซีย เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนก.ย.ว่า เศรษฐกิจจะหดตัว 2.9% ขณะที่ธนาคารกลางรัสเซีย ประเมินไว้ว่าจีดีพีของประเทศจะหดตัวประมาณ 3%
เศรษฐกิจรัสเซียหลังสงคราม1ปี หมดโอกาสเฟื่องฟูเหมือนเก่า

ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ในช่วงปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัวเพียง 2.2% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะหดตัว 3.4% ในการประมาณการคราวก่อน และคาดว่าเศรษฐกิจของรัสเซียจะเติบโตในทางบวกเล็กน้อยในปี 2566

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อรายปีของรัสเซียอยู่ในสภาวะทรงตัวในเดือนม.ค. อยู่ที่ประมาณ 12% จากที่เคยพุ่งแตะระดับ 17.8% สูงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกชุดแรกๆ เริ่มส่งผล

ในช่วงต้นเดือนก.พ. ธนาคารกลางรัสเซีย คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อรายปีจะลดลงแตะระดับ 5% ถึง 7% ในปีนี้ และลดลงสู่ระดับ 4% ในปี 2567

"เอลวิรา นาบิอุลลินา" ผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซีย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวในช่วงกลางปีนี้ และจีพีดีของปีนี้น่าจะหดตัว 0.1% ถึงขยายตัว 1.0%

ด้านราคาพลังงานที่ส่งออกไปขายให้ประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นช่วยชดเชยผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของบรรดาประเทศตะวันตกที่มีเป้าหมายเพื่อโดดเดี่ยวรัสเซีย ประกอบกับการถูกปิดกั้นการนำเข้าทำให้รัสเซียมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากเป็นประวัติการณ์ ขณะที่มาตรการควบคุมเงินทุนส่งผลให้เงินสกุลรูเบิลของรัสเซียแข็งค่าที่สุดในรอบ 7 ปี

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ก็มีความเห็นว่า  รัสเซียเสียโอกาสค่อนข้างมากและมีผลกระทบยาวนาน จากการทำสงครามในยูเครนที่รัสเซียเรียกว่า “ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” เพราะก่อนทำสงคราม รัฐบาลรัสเซียประเมินไว้ว่า เศรษฐกิจปี 2565 น่าจะขยายตัวที่ 3% และรัสเซียอาจต้องรอจนถึงปี 2568 เศรษฐกิจจึงจะกลับมาเติบโตเท่าปี 2564 และการที่เศรษฐกิจจะขยายตัวเท่ากับที่ควรจะเป็นหากไม่ทำสงครามอาจไม่เกิดขึ้นเลยภายใน 10 ปี 

นอกจากนี้  การที่รัสเซียเร่งเพิ่มงบประมาณด้านการทหารด้วยการโยกงบประมาณมาจากการศึกษาและการรักษาพยาบาลจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน โดยรัสเซียเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมเป็น 8.4 หมื่นล้านดอลลาร์

ส่วนประเทศอื่นๆมี สหรัฐ จัดสรรงบประมาณด้านการทหารมูลค่า 7.73 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปี2565 จำนวน 3.07 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 4.1% แยกเป็นงบประมาณปรับปรุงกองทัพอากาศจำนวน 5.65 หมื่นล้านดอลลาร์ งบฯปรับปรุงกองทัพเรือจำนวน 4.08 หมื่นล้านดอลลาร์  งบฯพัฒนากองทัพให้ทันสมัยจำนวน 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์ งบฯด้านการศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนากองทัพจำนวน  1.30 แสนล้านดอลลาร์

จีน  จัดสรรงบประมาณด้านการทหารเพิ่มใกล้แตะที่ 3 แสนล้านดอลลาร์จากจำนวน 2.37 แสนล้านดอลลาร์ และจำนวน 2.93 แสนล้านดอลลาร์ตามลำดับ ส่วนอินเดีย  จัดสรรงบประมาณด้านกลาโหมจำนวน 7.66 หมื่นล้านดอลลาร์

สหราชอาณาจักร จัดสรรงบประมาณด้านการทหาร 6.84 หมื่นล้านดอลลาร์ ไต้หวัน เพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมเป็นจำนวนกว่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12.9% และญี่ปุ่น จัดสรรงบกลาโหมเพิ่มขึ้นเป็น 3.2 แสนล้านดอลลาร์

แต่ถ้าพิจารณาตลอดทั้งปีนี้ เศรษฐกิจรัสเซียน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะล่าสุด เมื่อวันศุกร์ (23 ก.พ.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ เตรียมประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อภาคอุตสาหกรรมที่สนับสนุนสงครามรัสเซียในยูเครน ระหว่างการประชุมออนไลน์กับผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่ม G7

สมาชิกกลุ่ม G7 ประกอบด้วยอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหรัฐ ญี่ปุ่น รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) โดยญี่ปุ่นที่เป็นประธานกลุ่ม G7 ในปีนี้จะเป็นเจ้าภาพการประชุมดังกล่าว ซึ่งประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ร่วมเข้าประชุมด้วย

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า “แครีน ฌอง-ปิแอร์” โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่าเป้าหมายในการคว่ำบาตรรอบใหม่รวมถึงธนาคาร ,อุตสาหกรรมทางทหารและเทคโนโลยีของรัสเซีย และภาคส่วนอื่น ๆ ในหลาย ๆ ประเทศที่พยายามชดเชยและหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรของสหรัฐ