‘อากาศเปลี่ยน-เงินเฟ้อพุ่ง’หนุนห้างฯอังกฤษจำกัดโควต้าซื้อผัก-ผลไม้

‘อากาศเปลี่ยน-เงินเฟ้อพุ่ง’หนุนห้างฯอังกฤษจำกัดโควต้าซื้อผัก-ผลไม้

‘อากาศเปลี่ยน-เงินเฟ้อพุ่ง’หนุนห้างฯอังกฤษจำกัดโควต้าผัก-ผลไม้ ขณะต้นทุนเพาะปลูกที่สูงขึ้น, แนวโน้มสินค้าตามฤดูกาลที่ได้รับความนิยมและความท้าทายด้านโลจิสติกส์ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนผักและผลไม้

สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เล่นงานอังกฤษอย่างจัง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนผักและผลไม้ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำต้องจำกัดการซื้อผักและผลไม้บางชนิด เนื่องจากเกิดความขาดแคลนจนส่งผลให้สต็อกสินค้าไม่เพียงพอ

 “เทสโก” ซุปเปอร์มาเก็ตรายใหญ่ที่สุดในอังกฤษ จำกัดการซื้อมะเขือเทศ พริกไทย และแตงกวาให้เหลือเพียง 3 ชิ้นต่อลูกค้าหนึ่งคน เนื่องจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ในถิ่นปลูกพืลผักต่างๆ จนทำให้บรรดาซัพพลายเออร์ไม่สามารถปลูกพืชผักให้เติบโตได้ตามปกติ

ด้าน “แอสดา” ธุรกิจให้บริการของชำประเภทของสดทางออนไลน์ จำกัดการซื้อผักกาดหอม สลัดบรรจุถุง กะหล่ำ และราสเบอร์รี เหลือเพียง 3 ชิ้นต่อคน

ขณะที่ห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของอังกฤษอย่าง “มอร์ริสัน” จำกัดการซื้อแตงกวา ผักกาดหอม มะเขือเทศ และพริกไทยให้เหลือเพียง 2 ชิ้นต่อคน เช่นเดียวกับ“อัลดี” และ “ลีเดิล” ร้านขายของชำสัญชาติเยอรมันในอังกฤษ ก็ประกาศจำกัดการซื้อสินค้าเช่นกัน

องค์กรด้านการเกษตรหลายแห่ง รวมถึงสหพันธ์เกษตรกรแห่งชาติของสหรัฐ ออกมาเตือนก่อนหน้านี้ว่า เกษตรกรชาวอังกฤษจะเผชิญกับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นตัวบั่นทอนความสามารถในการเพาะปลูกผักและผลไม้ในโรงเรือนเพาะปลูกที่ต้องใช้ความอบอุ่น อีกทั้ง เกษตรกรอื่นๆ ทางตอนเหนือของทวีปยุโรป จะเผชิญปัญหาที่คล้ายคลึงกับอังกฤษ ขณะที่โรคในมะเขือเทศและราคาพลังงานพุ่งสูง ยังคงเป็นความท้าทายต่อประเทศในแถบยุโรป

ในอีเมลตอบกลับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีของ “แอนดรูว์ โอปี” ผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและความยั่งยืน จากสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (บีอาร์ซี) ระบุว่า "สภาพอากาศที่ย่ำแย่ ซึ่งมีทั้งฝนตกหนักถล่มเม็กซิโก และอากาศเหนาวเฉียบพลันในสเปน และคาดว่า การขาดแคลนผักและผลไม้ครั้งนี้อาจเกิดขึ้นเป็นเวลานานประมาณสองสามสัปดาห์ อีกทั้งในช่วงฤดูหนาวอังกฤษนำเข้ามะเขือเทศประมาณ 95%

นักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจาก 3  ปัจจัยคือ ต้นทุนการเพาะปลูกพืชผักที่สูงขึ้น, แนวโน้มสินค้าตามฤดูกาลที่จะได้รับความนิยมในอังกฤษตลอดทั้งปี และความท้าทายทางด้านโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าไปยังอังกฤษที่มีมากขึ้น แต่ปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส, สเปน, โปรตุเกส และเนเธอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอังกฤษไม่ได้ระบุว่า การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารประเภทพืชผัก แต่กล่าวโทษว่าเป็นเพราะปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

แต่ “ไอร์แลนด์” ประเทศสมาชิกอียูก็ประสบกับปัญหาขาดแคลนผักและผลไม้เช่นกัน โดยสื่อของรัฐบาลไอร์แลนด์ รายงานว่า ประธานบริหารห้างสรรพสินค้าในไอร์แลนด์ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีที่ดูแลด้านอาหารในประเทศ เพื่ออธิบายว่า บริษัทกำลังจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร
‘อากาศเปลี่ยน-เงินเฟ้อพุ่ง’หนุนห้างฯอังกฤษจำกัดโควต้าซื้อผัก-ผลไม้

ด้าน “เป็กกา เปโซเนน” เลขาธิการใหญ่ของกลุ่มเกษตรกรยุโรปโคปา (Copa) ให้สัมภาษณ์ไฟแนนเชียลไทม์สเกี่ยวกับเอกสารเพิ่มเติมที่ผู้ส่งออกต้องเจอเพราะอังกฤษถอนตัวออกจากยุโรป ทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น และสามารถส่งผลให้เกษตรกรขึ้นราคาสินค้าให้แพงขึ้นได้ ซึ่งห้างสรรพสินค้าในอังกฤษอาจไม่ต้องการแบกรับต้นทุนเหล่านี้

“เจมส์ วอลตัน” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันการจำหน่ายของชำ เผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า “อังกฤษมีความยืดหยุ่นสูงในการนำเข้าสินค้าประเภทของสดตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ซึ่งส่วนใหญ่อังกฤษนำเข้าสินค้าจากอียู แต่เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนสินค้า ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ผลิตในอียูต้องจำหน่ายสินค้าให้แก่คนในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก จึงส่งผลให้ส่งออกสินค้ามายังอังกฤษได้น้อยลง”

“ขณะนี้อังกฤษไม่ได้เป็นสมาชิกอียูแล้ว แต่เรายังมีข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่รวมถึงการค้าอาหารทุกชนิด ปัจจัยส่วนใหญ่ที่มีผลต่อการความพร้อมส่งออก อาจเกิดขึ้นกับประเทศอื่นได้ ไม่ว่าประเทศนั้น ๆ จะอยู่ในอียูหรือไม่อยู่ก็ตาม” วอลตัน กล่าว

ด้าน “มาร์ก สเปนเซอร์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาหาร การเกษตร และการประมงของอังกฤษ เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (27 ก.พ.) ว่า เขาได้พูดคุยกับร้านค้าปลีกเกี่ยวกับวิธีรับมือกับการขาดแคลนและขอให้ร้านค้าเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุกรณ์ในอนาคตไว้ด้วย 

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา เดอะ การ์เดียน รายงานตัวเลขจากการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดของสมาคมค้าปลีกอังกฤษ(บีอาร์ซี)ร่วมกับนีลเส็นที่ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหาร ของสหราชอาณาจักรยังคงเพิ่มขึ้นในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว โดยเพิ่มขึ้นสูงถึง 13.3% เมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ถือเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าในเดือนพ.ย.ซึ่งอยู่ที่ 12.4%

ตัวเลขนี้ถือเป็นอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารที่สูงที่สุดนับตั้งแต่สมาคมค้าปลีกอังกฤษเริ่มเก็บสถิติเมื่อปี 2548 หรือในรอบ 17 ปี และถ้าดูเฉพาะในกลุ่มสินค้าผักผลไม้สด ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ครัวเรือนมักจะกักตุนอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเทศกาลคริสต์มาส 

ดัชนีราคาในเดือนธันวาคม 2565 เพิ่มขึ้นสูงจนทำสถิติใหม่ที่ 15% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าและเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากอัตราของเดือนพฤศจิกายนซึ่งอยู่ที่ 14.3%

ส่วนในภาพรวม ดัชนีราคาร้านค้า (Shop Price Index) โดยรวมในเดือนธ.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นอัตราการเพิ่มที่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับของเดือนพ.ย.ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 7.4% เนื่องจากในเดือนธ.ค. ผู้ค้าปลีกสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารมีการให้ส่วนลดสูง เพื่อระบายสินค้าในสต๊อก

สมาคมค้าปลีกอังกฤษ (บีอาร์ซี) บอกว่า ราคาอาหารสัตว์ ปุ๋ย และพลังงานที่สูงขึ้นเนื่องจากสถานการณ์รัสสเซีย-ยูเครนส่งผ่านไปสู่ราคาอาหาร ทำให้อาหารที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักรปรับตัวเพิ่มขึ้น