‘เรือรบหลวงสเพย์’ ของอังกฤษ ปักธงสันติภาพ หนุน ศก.ไทยใน‘อินโด - แปซิฟิก’
อังกฤษมุ่งสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจกับไทย และหนุนสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน ซึ่งจะเป็นตัวอย่างการทำงานร่วมกันในอนาคตในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
อังกฤษเดินหน้าส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งจะเป็นหมุดหมายขยายไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพราะภายในปี 2593 ภูมิภาคแห่งนี้จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนกว่าครึ่งหนึ่งของโลกให้เติบโต แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าทั่วโลก รวมทั้งอินโด-แปซิฟิกยังเผชิญกับภัยความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนแรงต่อเนื่อง
“ไมเคิล พราวด์แมน” ผู้บังคับการเรือรบหลวงสเพย์ (HMS SPEY ) กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า "กองทัพเรืออังกฤษดำเนินยุทธศาสตร์เน้นเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยและประเทศพันธมิตรทั่วภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเรามีทั้งการฝึกซ้อมทางทะเลร่วมกัน เพื่อยกระดับการดูแลรักษาความปลอดภัยทางทะเล การปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล ดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล งานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และบรรเทาสาธารณภัย สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากๆ ต่อภารกิจของเรือรบหลวงสเพย์เดินทางไปยังภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก"
เปิดภารกิจเรือรบหลวง HMS Spey
พราวด์แมน เล่าว่า "กองทหารเรือรบหลวงสเพย์ เดินทางเยือนหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม กัมพูชา จนไปเทียบท่าที่ท่าเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี เราพบกับความน่าทึ่ง เพราะทุกๆประเทศให้การต้อนรับเปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรี แม้ก่อนหน้าเราเคยมาประเทศเหล่านี้แล้ว แต่การกลับมาอีกครั้งยังได้รับการต้อนรับอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ให้ความเป็นมิตรและเพื่อนที่ดี"
พลเรือโท สุทิน หลายเจริญ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ มอบหมายให้ นาวาเอก มาฆะพงศ์ ดาราพันธุ์ หัวหน้าท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นผู้แทนให้การต้อนรับเรือรบหลวงสเพย์ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรืออังกฤษได้ทำการฝึก PASSEX ร่วมกัน ระหว่างวันที่ 21 ก.พ. – 1 มี.ค.
ตอกย้ำพันธกิจทางทะเลระหว่างสองประเทศ ในการสร้างการตื่นตัวระหว่างกันด้านการปกป้องเสถียรภาพ และความสงบสุขทางทะเล เพื่อยืนยันว่า ไทยและอังกฤษปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ
กระชับสัมพันธ์กองทัพเรือไทย
"เมื่อครั้งที่เรือรบหลวงสเพย์เทียบท่าอยู่ที่ไทย เราได้ลงพื้นที่พบปะผู้คน ชุมชนละแวกใกล้ๆนี้ แม้ไม่ใช่ภารกิจหลัก แต่ก็สำคัญเพราะได้เรียนรู้วัฒนธรรมคนท้องถิ่น" พราวด์แมนกล่าวและเสริมว่า "ครั้งนี้เราได้ฝึกซ้อมร่วมกับกองทัพเรือไทย รวมถึงมีการจัดแข่งขันฟุตบอลด้วย เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาที่ชาวอังกฤษชื่นชอบ จัดได้ว่าคลั่งไคล้ฟุตบอลเอามากๆ ดังนั้นการแข่งขันฟุตบอลที่มีขึ้นระหว่างทีมเรือรบหลวงสเพย์กับกองทัพเรือไทย จึงเป็นแมตซ์กระชับมิตรสนุกที่สุด"
"สำหรับผมในฐานะกัปตันเรือ จึงเป็นโอกาสพิเศษมากๆ ให้เราสร้างความผูกพันกับกะลาสีคนอื่นๆ ในเรือรบหลวงสเพย์ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพไทยหรือไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม ผมว่านี่เป็นการแบ่งปันความรัก และปรารถนาดีต่อกันที่จะเป็นภาษากลางสื่อสารเข้าใจได้ทั่วโลก" พราวด์แมน กล่าว
ส่งต่อเทคโนฯ ปั้นทหารรุ่นใหม่ด้านไซเบอร์
"ตลอด 24 ชั่วโมงในแต่ละวันที่เรือรบหลวงสเพย์ปฏิบัติภารกิจกลางทะเล ต้องมีเจ้าหน้าที่ทหารขับเรือ อารักขาความปลอดภัย ดูแลเครื่องยนต์ ทำอาหาร และทหารแพทย์ดูแลสุขภาพของลูกเรือทุกคน ซึ่งจะเห็นว่า เราต้องประจำการอยู่ตลอดเวลาทั้ง 24 ชั่วโมง ยาวนาน 7 วันต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ เดือนและปี โดยภารกิจของเรือหลวงลำนี้มีระยะเวลา 5 ปี "
ดังนั้นเมื่อเรือหลวงเทียบท่า กองทหารของเรือรบหลวงสเพย์ ก็จะลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ผ่านการฝึกอบรมกับหน่วยงานและนักศึกษาในพื้นที่เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการทหาร (Transform military technology) เช่น ป้องกันภัยทางไซเบอร์ การใช้เทคโนโลยีเพื่อดูแลสภาพแวดล้อมทางทะเล สิ่งเหล่านี้เป็นการลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเทคโนโลยีเกิดใหม่ และความสามารถทางไซเบอร์ให้กับนายทหารรุ่นใหม่ในอนาคต (Future Soldier) ที่จะเป็นกำลังสำคัญให้กองทัพ
"เมื่อถึงเวลาพักผ่อน นายทหารเรือก็จะได้สนุกกับการเล่นกีฬาอย่างมาก โชคดีที่เรือรบหลวงลำนี้มีดาดฟ้าขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านหลังของเรือ เราสามารถวิ่งออกกำลังกายไปรอบๆของลานดาดฟ้า เรายังเล่นทัชรักบี้ บางครั้งก็เล่นเด็คฮอกกี้ นายทหารทุกคนสามารถเสนอไอเดียใช้เวลาว่างทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างที่เรือแล่นกลางทะเล ก็เพื่อให้เราใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ร่างกายฟิตแอนด์เฟิร์ม และมีแรงบันดาลใจในภารกิจของเรา" พราวด์แมน กล่าว
ประชาชน ศูนย์กลางสัมพันธ์ไทย-อังกฤษ
“มาร์ค กูดดิ้ง” เอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สถานทูตอังกฤษดำเนินกิจกรรมหลายด้าน หวังส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการเมืองและประชาชนกับประชาชน เช่น ในสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยอะไรทำนองนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย
"เมื่อปีที่แล้ว อังกฤษและไทยได้ลงนามข้อตกลงใหม่ๆหลายด้าน เช่น การต่อต้านก่อการร้าย บริการทางการเงิน เพื่อเราได้ทำงานกับหน่วยงานไทยให้ใกล้ชิดมากขึ้นและปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงร่วมกัน ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ นี่จึงเป็นเหตุผลที่เรือรบหลวงสเพย์มายังประเทศไทย" ท่านทูต กล่าว
เอกอัครราชทูตกูดดิ้ง ยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงปีกว่ามานี้มีรัฐมนตรีของอังกฤษ5 คนจากกระทรวงต่างประเทศ พาณิชย์ การศึกษา และการค้าเดินทางมายังประเทศไทย เป็นสิ่งยืนยันว่าอังกฤษให้ความสำคัญกับไทยเพิ่มขึ้นมาก และยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลอังกฤษ ในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจกับไทย และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน ซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้กับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในการทำงานร่วมกันในอนาคตข้างหน้า