เปิดสาเหตุ "ไซโคลนเฟรดดี" พายุทำลายหลายสถิติโลก
พายุไซโคลนเฟรดดี กลายเป็นพายุที่น่าจับตามองในขณะนี้ เพราะสร้างความเสียหายรุนแรงในแถบแอฟริกาใต้ ถล่มประเทศมาลาวี โมซัมบิก และสาธารณรัฐมาดากัสการ์ จนยอดผู้เสียชีวิตทะลุ 220 ราย และความรุนแรงของพายุทำลายสถิติโลกหลายด้าน
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า พายุไซโคลนเฟรดดี ถล่มชายฝั่งภาคใต้แอฟริกาเป็นครั้งที่สอง ของสัปดาห์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทะลุมากกว่า 220 ราย ในประเทศมาลาวี โมซัมบิกและสาธารณรัฐมาดากัสการ์ เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้น้ำทะเลอุ่น พลังงานความร้อนจากผิวน้ำจึงทำให้เกิดพายุรุนแรงยิ่งขึ้น
สาเหตุหลักที่ทำให้พายุเฟรดดีเป็นที่น่าจับตามอง ได้แก่
1.พายุไซโคลนกำลังแรงสูงสุด
พายุไซโคลนเฟรดดี ครองตำแหน่งพลังงานพายุหมุนสะสมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งวัดจากความแรงลมของพายุตลอดการเกิดพายุทางซีกโลกใต้ หรือภูมิภาคอื่นทั่วโลก
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ระบุว่า เฟรดดีมีพลังงานพายุหมุนสะสมสูงเฉลี่ยเทียบเท่ากับพายุเฮอร์ริเคนตามฤดูในแอตแลนติกเหนือ
แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา เฟรดดีเป็นพายุไซโคลนที่พายุหมุนสะสมสูงสุดอันดับที่สอง ในบรรดาพายุอื่นๆ นับตั้งแต่ปี 2523 ซึ่งเฮอร์ริเคน และไต้ฝุ่น loke ในปี 2549 ครองแชมป์อยู่
บางคาดการณ์ เผยว่า ไซโคลนเฟรดดีทำลายสถิติเรียบร้อยแล้ว ด้วยพลังงานพายุหมุนสะสม 86 เมื่อเทียบพายุ Ioke มีค่าอยู่ที่ 85
2.พายุหมุนเขตร้อนที่ยาวนานที่สุด
ดับเบิลยูเอ็มโอ เผยว่า ไซโคลนเฟรดดีอาจทำลายสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นยาวนานที่สุด เนื่องจากไซโคลนเฟรดดีก่อตัวขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ก.พ. และขึ้นฝั่งประเทศโมซัมบิก ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 11 มี.ค. รวมเป็นเวลา 34 วัน ซึ่งสถิติพายุหมุนเขตร้อนก่อนหน้านี้ ที่เกิดยาวนานที่สุด 31 วัน คือ พายุเฮอร์ริเคนในปี 2537
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยังดูปัจจัยหลายอย่างอีก เช่น ที่จริงแล้วพายุอ่อนกำลังลง ต่ำกว่าพายุหมุนเขตร้อนในบางช่วงของการเกิดพายุ
3.พายุที่ทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว
เฟรดดีอาจทำลายสถิติพายุที่ทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก เนื่องจากความเร็วลมเพิ่มขึ้น 35 ไมล์ต่อชั่วโมง ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง
ดับเบิลยูเอ็มโอ ระบุว่า จากการคาดการณ์ของดาวเทียม พายุเฟรดดีมีรอบทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วถึง 7 รอบ ซึ่งสถิติก่อนๆ เป็นของพายุเฮอร์ริเคน เกิดการทวีความรุนแรงประมาณ 4 รอบ
และดับเบิลยูเอ็มโอเตรียมตั้งคณะกรรมการเชี่ยวชาญ เพื่อตรวจสอบสถิติของเฟรดดีและพายุอื่นๆ
4.เส้นทางพายุที่ไม่ปกติ
พายุเฟรดดีก่อตัวใกล้ชายฝั่งออสเตรเลีย ข้ามผ่านมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ทั้งหมด และเดินทางมากกว่า 8,000 กิโลเมตร เพื่อขึ้นฝั่งมาดากัสการ์ และโมซัมบิกช่วงปลายเดือนก.พ.
จากนั้นวนกลับมาถล่มชายฝั่งโมซัมบิกอีกครั้งในสองสัปดาห์ต่อมา ก่อนย้ายไปขึ้นฝั่งมาลาวี
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ ระบุในรายงานว่า “ไม่มีพายุหมุนเขตร้อนใดในโลก ที่มีเส้นทางผ่านมหาสมุทรอินเดียในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีเพียงพายุ 4 ลูกเท่านั้น ที่ผ่านมหาสมุทรอินเดียตอนใต้จากฝั่งตะวันออกไปตะวันตก และลูกสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2543”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์