ผู้ลี้ภัยเมียนมาฝากความหวังรัฐบาลใหม่ไทยเลิกหนุนเผด็จการ
สื่อนอกรายงาน การเลือกตั้งของไทยไม่ได้สำคัญเฉพาะกับคนไทยที่ต้องการยุติการปกครองกึ่งทหารเท่านั้น แต่ยังสำคัญกับผู้ลี้ภัย และแรงงานชาวเมียนมาอีกกว่า 1.5 ล้านคน ที่หวังให้รัฐบาลใหม่ยุติการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา
Key points:
- ชาวเมียนมาพลัดถิ่นในประเทศไทย มีความหวังเล็กน้อยกับการเลือกตั้งของไทย
- เชื่อว่าถ้าฝ่ายค้านไทยได้ตั้งรัฐบาล น่าจะสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยของเมียนมา แต่เกรงว่าจะถูกรัฐบาลจีนกดดัน
- นักวิชาการเชื่อ รัฐบาลใหม่ไม่เล่นงานกองทัพไทยที่ชื่นชอบรัฐบาลทหารเมียนมา
สำนักข่าวอัลจาซีราห์ รายงานว่า ไทยเกิดรัฐประหารในปี 2557 เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วกระชับอำนาจด้วยการเลือกตั้งที่รัฐควบคุมอย่างใกล้ชิดในอีกห้าปีต่อมา
ตอนนี้ไทยกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้ง มา ขิ่นเต็ต นักวิจัยจากเมียนมา มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้สร้างความหวังเล็กน้อยว่าถ้าไทยได้รัฐบาลที่แตกต่าง จะให้ความสำคัญกับขบวนการต่อต้านรัฐประหารนำโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) ที่ ส.ส.นอกสภาตั้งขึ้น
“ถ้าฝ่ายค้านไทยได้ตั้งรัฐบาล พวกเขาน่าจะสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยของเมียนมา บางทีอาจร่วมมือกับสหรัฐ แต่ดิฉันกังวลว่า จีนซึ่งสนับสนุนมิน อ่อง หล่ายจะกดดันรัฐบาลใหม่ของไทย” มา เต็ต กล่าวภายใต้นามสมมติ เธอหนีมากรุงเทพฯ หลังเพื่อนร่วมงานถูกทหารจับติดคุกเมื่อปีก่อน เช่นเดียวกับนักเคลื่อนไหว นักศึกษา นักข่าว และนักการเมืองเมียนมาหลายคน เธอกลัวว่าจะถูกเนรเทศกลับประเทศซึ่งอาจถูกจำคุกหรือกระทั่งถูกซ้อมทรมาน
“รัฐบาลทหารไทย และคณะรัฐประหารเมียนมาสัมพันธ์กันแบบพี่ใหญ่-น้องเล็ก ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังมีสัมพันธ์ทางการทูตเหนียวแน่นกับคณะรัฐประหารพม่า และมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น ก๊าซในทะเลอันดามัน ผลประโยชน์เหล่านี้กระตุ้นให้พวกเขาบั่นทอนการปฏิวัติของเรา” นักวิจัยเมียนมา กล่าว
ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเลือกตั้งเปิดโอกาสให้ไทยกำหนดยุทธศาสตร์เมียนมาเสียใหม่ และเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติ
“ไทยต้องการรัฐบาลที่แตกต่างออกไปในเชิงคุณภาพภายใต้ผู้นำที่แตกต่าง เข้ามาดูแลงานด้านเมียนมา เพราะแนวทางที่ใช้อยู่ล้มเหลว” ฐิตินันท์ กล่าวและว่า รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับเอ็นยูจี
“แนวทางปฏิบัติต่อเมียนมาของไทยทำลายจุดยืนของประเทศชาติในเวทีโลก สองประเทศมีพรมแดนยาวเหยียด เราไม่อยากเห็นกระบวนการทำให้เป็นบอลข่านของเมียนมา แต่ไม่ได้หมายความว่าไทยต้องคุกเข่าให้กับสภาบริหารแห่งรัฐ” ฐิตินันท์หมายถึงชื่อทางการของรัฐบาลทหารเมียนมา
“การยืนหยัดต้านรัฐประหารกำลังได้ผลมากขึ้น พวกเขามุ่งมั่นแข็งขัน เราควรทำงานกับพวกเขาด้วย และไทยควรจัดหาช่องทางช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเช่นกัน”
แซค อาบูซา อาจารย์วิทยาลัยสงครามแห่งชาติ ในวอชิงตัน ดี.ซี.กล่าวว่า ถ้าเพื่อไทยหาแนวร่วมตั้งรัฐบาลได้ จะมีจุดยืนดึงดันน้อยลงภายในกลุ่มอาเซียน
ตอนที่รัฐบาลมิน อ่อง หล่าย ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 4 คนเมื่อปีก่อน พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ย้ำถึง "การสนับสนุนสิทธิในการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตย และคุ้มครองหลักนิติธรรมอย่างไม่เสื่อมคลาย ซึ่งรวมถึงการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมและเปิดเผย ให้สิทธิการประกันตัวแก่พลเมืองทุกคนในทุกประเทศ รวมถึงในประเทศไทย”
ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ระบุ เอสเอซีสังหารประชาชนราว 3,146 คน จับกุมกว่า 20,700 คน ส่วนใหญ่ยังถูกคุมขัง
แต่อาบูซา ผู้เชี่ยวชาญการเมือง และความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลใหม่จะกล้าท้าทายความชื่นชอบเมียนมาของกองทัพไทยได้หรือไม่
“รัฐบาลใหม่จะก้าวเบาๆ และเลือกสู้รบอย่างระมัดระวัง พวกเขาจะไม่เล่นงานกองทัพไทยที่รู้กันดีว่าชอบรัฐบาลทหารพม่า”
รายงานข่าวระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่แสดงการสนับสนุนผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างเปิดเผยในเวทีโลก
เลทิเทีย แวน เดน อัสสัม อดีตเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย และเมียนมา ระบุ “มิน อ่องหล่าย และนายพลของเขามีความหวังในการเลือกตั้งจากตัวแบบของไทย แต่ช่วงหลังไทยถูกตำหนิมากทั้งจากอาเซียน และอื่นๆ เรื่องที่ไทยข้ามแผนของอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน”
อดีตทูตหมายถึงความพยายามของไทยในการจัดประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศเอสเอซี ทั้งๆ ที่อาเซียนไม่ให้เชิญนายพลหรือตัวแทนทางการเมืองระดับสูงของเมียนมามาร่วมประชุม
“มีนักการเมืองไทยหลายคนยึดมั่นหลักการเรื่องเมียนมา และผู้นำไทยควรตระหนักมากขึ้นว่าเมียนมาเป็นสาเหตุสร้างปัญหาให้ไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติดทะลัก อาชญากรรมเพิ่มสูง คลื่นผู้ลี้ภัย เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จีนควบคุมตามแนวพรมแดนเป็นแหล่งพักพิงอาชญากรรมข้ามชาติ” อาบูซา กล่าวพร้อมเสริมว่า คณะรัฐมนตรีประยุทธ์ “จงใจละเลยรากเหง้าของปัญหา”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์