ทำอย่างไร ไทยจึงไม่มีคนจน? (2) | วิกรม กรมดิษฐ์ 

ทำอย่างไร ไทยจึงไม่มีคนจน? (2) | วิกรม กรมดิษฐ์ 

ในการวางนโยบาย และประกาศแผนผลักดันให้ คนจีนพ้นจากความยากจนของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จนประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย 

ผมเชื่อว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีการวางแผนกลยุทธ์มาจากการคำนวณ GDP ของประเทศ ซึ่งหากมีการนำมาเฉลี่ยสถิติ 30 ปีที่ผ่านมา GDP ของประเทศจีนมีการเติบโตมากกว่า 9 เปอร์เซ็นต์

ในโลกนี้ไม่มีประเทศใดที่มี GDP สูงเท่ากับประเทศจีน ด้วยตัวเลขการเติบโตของ GDP ที่เฉลี่ยมากกว่า 9 เปอร์เซ็นต์ของประเทศจีนนี้ ทำให้ประเทศจีนมีความมั่นคงทางด้านการเงิน 

ผมเข้าใจว่าขณะนี้ประเทศจีนอาจจะมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 3.4 - 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ หากมีการรวมฮ่องกงที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่อีกเกือบ 500,000 ล้านดอลลาร์เข้าไปด้วย ก็จะทำให้ประเทศจีนมีเงินทุนสำรองอยู่ประมาณเกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่ทั้งโลกมีเงินทุนสำรองอยู่ที่ 11.9 ล้านล้านดอลลาร์

ประเทศจีนคือโรงงานของโลก สังเกตได้จากหากใครต้องการซื้อสินค้าอะไรก็สามารถหาซื้อได้ที่ประเทศจีน

เมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เล็งเห็นช่องทางความยั่งยืนของเศรษฐกิจจีน ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาความยากจนจึงดำเนินการแบบผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนกับคนจนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย 

คือการหางานให้คนจนทำควบคู่กับความพยายามส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงปัจจัย 5 ตามที่เคยกล่าวไปแล้วคือ ที่พักอาศัย อาหาร เสื้อผ้า โรงเรียน และโรงพยาบาล

หลังจากที่มีนโยบายผลักดันคนจนให้เข้าถึงปัจจัย 5 ได้สำเร็จแล้ว ยังมีการวางแผนต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนด้วยการระดมทุนจากกลุ่มนักธุรกิจที่มีรายได้และทรัพย์สินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์

มาช่วยตั้งกองทุนช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนให้มีความรู้ เข้าถึงเทคนิค และเงินทุน สำหรับเป็นอาวุธต่อยอดสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศจีนมีคนกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์มากที่สุดในโลก

ทำอย่างไร ไทยจึงไม่มีคนจน? (2) | วิกรม กรมดิษฐ์ 

หนึ่งในตัวอย่างของคนจีนที่มีความร่ำรวยมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์และเข้าบริจาคเงินเข้ากองทุนดังกล่าวคือ แจ็ค หม่า (Jack Ma) โดยได้บริจาคเงินสูงถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ และยังมีผู้ที่ร่วมบริจาคอีกเป็นจำนวนมากจนสามารถตั้งกองทุนที่มีเงินหมุนเวียนอยู่หลายหมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับช่วยเหลือคนยากจน

 ทุนเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อให้การสนับสนุนด้านการศึกษา ให้คนมีความรู้และนำไปต่อยอดในการทำธุรกิจได้ รวมถึงการปล่อยเงินกู้สำหรับตั้งต้นทำธุรกิจสำหรับผู้ที่มีความรู้ขั้นพื้นฐานแล้วแต่ขาดเงินทุน

นอกจากนี้ เงินในกองทุนนี้ยังมีการจัดจ้างที่ปรึกษา สำหรับให้คำปรึกษาด้านการทำธุรกิจให้กับผู้ที่เริ่มต้นหรือประสบปัญหาอีกด้วย และที่สำคัญประเทศจีนมีการส่งเสริมบุคลากรที่มีความสามารถให้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ

เนื่องจากต้องการนำนวัตกรรมเหล่านี้มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มด้านเศรษฐกิจของประเทศให้มีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า ขณะนี้ประเทศจีนให้ความสำคัญกับการทุ่มงบประมาณไปกับการค้นคว้าและวิจัยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับควอนตัมคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก เรียกได้ว่ามีการใช้งบประมาณในการศึกษาเรื่องนี้ อาจจะเท่ากับหรือมากกว่าหลายๆ ประเทศในโลกนี้รวมกัน

เพราะหากประเทศจีนสามารถทำควอนตัมคอมพิวเตอร์ได้สำเร็จจะส่งผลให้คอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ล้าสมัยขึ้นมาทันที

 การที่รัฐบาลจีนลงทุนกับเรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว คือ

1. สามารถแก้ปัญหาคนจนได้แบบยั่งยืน

2. คนจนที่มีความสามารถเหล่านี้จะกลายเป็นคนเก่ง และ

3. ประเทศจีนจะมีเศรษฐกิจใหม่ที่เกิดขึ้นจากคนจนที่ไม่เคยมีโอกาสหรือได้รับการส่งเสริมให้เข้าถึงการศึกษาและเงินทุนได้

ทำอย่างไร ไทยจึงไม่มีคนจน? (2) | วิกรม กรมดิษฐ์ 

เรื่องราวของการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนในประเทศ ที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่มีเพียงแค่ประเทศจีนที่หลายคนอาจมองว่าประสบความสำเร็จได้ เพราะเป็นประเทศที่มีฐานะร่ำรวยและปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เพียงเท่านั้น 

แต่ยังมีประเทศที่เคยยากจนและปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ใกล้คียงกับประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จให้เห็นเช่นเดียวกัน อาทิ ไตหวัน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น

วันนี้จึงขอยกตัวอย่างประเทศอินโดนีเซีย ที่มีประชากรมากกว่าประเทศไทย 3-4 เท่า มีจำนวนคนจนมากกว่า ในขณะที่มีรายได้ต่อหัวน้อยกว่าประเทศไทย แต่ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียภายใต้การนำของนายโจโก วิโดโด้ ประธานาธิบดีคนใหม่ที่เข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 สามารถนำ GDP ของประเทศโตได้มากกว่า 6 เปอร์เซ็นต์และมีเศรษฐกิจที่ดี 

เนื่องจากนายวิโดโด เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ สิ่งแรกที่ทำหลังจากขึ้นรับตำแหน่งคือการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง การแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้ทำให้คนยากจนในประเทศอินโดนีเซียลดลง มีการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพียงแค่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในการบริหารงาน

เพราะฉะนั้นในการแก้ไขปัญหาความยากจน ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศที่บริหารด้วยระบอบคอมมิวนิสต์แบบประเทศจีนเท่านั้น ประเทศที่บริหารด้วยระบอบประชาธิปไตยก็สามารถแก้ไขปัญหาความยกจนได้ ผมเชื่อว่าหากประเทศไทยเราได้ศึกษาและมีโอกาสนำวิธีการนี้เข้ามาปรับใช้ ประเทศไทยของเราก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน.