อินโดฯเพิ่ม5แหล่งท่องเที่ยว หวังดึงทัวริสต์ต่างชาติ 7.4 ล้าน
อินโดฯเพิ่ม5แหล่งท่องเที่ยว หวังดึงทัวริสต์ต่างชาติ 7.4 ล้าน โดยแหล่งท่องเที่ยว 5 แห่งที่ถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญที่สุดคือ ลาบวน บาโจ, ทะเลสาบโตบา,ยอร์ค จาการ์ตาร์,มันดาลิกาและลิกูปัง
ในช่วงที่หลายประเทศแข่งกันสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยว อินโดนีเซียก็เร่งออกแบบสถานที่ที่สวยงาม 5 แห่ง ให้เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมด้านการท่องเที่ยว เพื่อลดพึ่งพารายได้จาก“บาหลี”โดยรัฐบาลอินโดฯจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในสถานที่ท่องเที่ยวทั้ง 5 แห่ง พร้อมเดินหน้าสนับสนุนแคมเปญต่าง ๆ ให้แก่แหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้น
การปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวทั้ง5แห่ง มีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มทางเลือกมากขึ้นแก่นักท่องเที่ยว และเพิ่มรายได้ให้กับการท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต
“โจโก วิโดโด” ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ทวีตข้อความเมื่อวันที่ 14 มี.ค. เมื่อตอนไปเยือนจุดชมวิวของจังหวัดนูซาเติงการาตะวันออกบนเกาะฟอเรสต์ ทางตะวันออกของบาหลี ว่า
“รัฐบาลจะใช้โอกาสจากการประชุมสุดยอดอาเซียน เป็นเวทีสนับสนุนเมือง ‘ลาบวน บาโจ’ หนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับนักท่องเที่ยว” วิโดโด กล่าว
เมืองท่าลาบวน บาโจ ขึ้นชื่อว่ามีภูเขาและหาดสวยงามมาก ทั้งยังเป็นทางผ่านสู่เกาะโคโมโด สถานที่ที่ “มังกรโคโมโด” สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อาศัยอยู่ แต่สนามบิน ถนน และโรงแรมมีคุณภาพด้อยกว่าเกาะบาหลีมาก
ทั้งนี้ อินโดนีเซียรับไม้ต่อเป็นประธานจัดการประชุมผู้นำอาเซียนในปีนี้ และวิโดโด พยายามผลักดันให้เมืองลาบวน บาโจเป็นสถานที่จัดประชุมในเดือน พ.ค. เพราะเมื่อได้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 เมื่อปีก่อน รัฐบาลต้องการให้เมืองลาบวน บาโจเป็นสถานที่จัดงาน แต่ต้องล้มเลิกไป เนื่องจากเหตุผลทางด้านความปลอดภัยและโครงสร้างพื้นฐาน
ตั้งแต่วิโดโดเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2557 ประธานาธิบดีบริหารจัดการให้การท่องเที่ยวเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจ และ 1 ปีต่อมา เขาได้เลือกจุดหมายปลายทางที่สำคัญ 10 แห่ง ซึ่งได้รับการพิจารณาแล้วว่า มีศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติจนเป็นที่นิยมเหมือนบาหลีได้
สถานที่ท่องเที่ยว 5 แห่งจากทั้ง 10 แห่งที่ถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญที่สุด และมีสิทธิ์ได้รับการปรับปรุงเป็นพิเศษ ได้แก่ ลาบวน บาโจ, ทะเลสาบโตบา, ยอร์ค จาการ์ตาร์, มันดาลิกาและลิกูปัง
รัฐบาลกำหนดงบประมาณ 18.9 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์ ในช่วงปี 2563-2567 เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสุนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ และฝึกแรงงานในสถานที่ท่องเที่ยวทั้ง 5 แห่ง เมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มลดลง การท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวมากขึ้นอีก รัฐบาลจะพิจารณาเพิ่มงบประมาณให้กับโครงการนี้ต่อไป
สถานที่ท่องเที่ยวทั้ง 5 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายกระจายความมั่งคั่งไม่ให้กระจุกตัวอยู่เฉพาะบนเกาะชวา ซึ่งเป็นเกาะที่มีเมืองหลวงจากาตาร์ตั้งอยู่ เพื่อพัฒนาประเทศให้เกิดความสมดุล
ทะเลสาบโตบา หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่รัฐบาลพยายามผลักดัน เกิดขึ้นจากการปะทุครั้งใหญ่ของภูเขาไฟเก่าแก่ และเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับแหล่งท่องเที่ยวนี้ รัฐบาลได้จัดประชุมร่วมกับบรรดาแขกผู้มีเกียรติจากต่างประเทศและเสนอจัดแข่งเรือเร็วนานาชาติในทะเลสาบแห่งนี้ด้วย
“มิโยชิ คาไซ” พนักงานที่ทำงานบริษัทญี่ปุ่นในอินโดนีเซีย มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวทะเลสาบโตบาในวันหยุดเดือน ก.พ. บอกว่า “ที่นี่เงียบกว่ารีสอร์ทบนชายหาดอื่น ๆ และมีความเป็นชนบทที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย อีกทั้งบรรดานักท่องเที่ยวยังสามารถนอนแช่น้ำพุร้อนที่นั่นได้ด้วย"
อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียยังคงประสบความล้มเหลวในการสร้างประโยชน์จากภูมิประเทศที่กว้างใหญ่และมีความหลากหลายอย่างเต็มที่ โดยพึ่งพาแต่รายได้จากการท่องเที่ยวบนเกาะบาหลีแห่งเดียวเท่านั้น
เมื่อปี 2562 อินโดนีเซียมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 16.1 ล้านคน ราว 40% เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเกาะบาหลี และรัฐบาลท้องถิ่นบนเกาะบาหลี ระบุว่า เกาะนี้มีรายได้ประมาณ 30%-40% ของรายได้โดยรวมที่ได้จากการท่องเที่ยว
ผลสำรวจจากสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก บ่งชี้ว่า ในปี 2562 ภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนอยู่ในจีดีพีประเทศประมาณ 5.9% แต่น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนสูงถึง 20.3% และเวียดนามมีสัดส่วน 7% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในอินโดนีเซียปี 2564 ลดลงมากกว่า 90% เมื่อเทียบกับจำนวนสูงสุดในปี 2562
อินโดนีเซียตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ 7.4 ล้านคน ในปี 2566 มากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เคยมีมาเกือบ 2 เท่า
“ซานเดียกา อูโน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว กล่าวว่า “อินโดนีเซียตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 ให้ได้ 3.5-7.4 ล้านคน และตั้งเป้าสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวระหว่าง 2.07-5.95 พันล้านดอลลาร์”
รัฐบาลอินโดนีเซีย รายงานว่า ปี 2565 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศในเดือน ต.ค. จำนวน 3.92 ล้านคน ถือว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเกินเป้าของปีที่แล้วที่ 3.6 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคน มีความเห็นว่า การท่องเที่ยวทั่วโลกไม่อาจฟื้นตัวเท่าระดับการท่องเที่ยวก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ แต่กระทรวงการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย คาดการณ์ว่า จะมีการจองตั๋วเดินทางจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างน้อย 123,000 ที่นั่งในปีนี้ โดยออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี จะเป็นตลาดท่องเที่ยว 5 อันดับแรก ไปจนถึงเดือน พ.ย.
ส่วนนักท่องเที่ยวยุโรปจะจองตั๋วเดินทางมายังอินโดนีเซียในสัดส่วน 41.73% รองลงมาเป็นนักท่องเที่ยวจากทวีปโอเชียเนีย 25.73% ส่วนทวีปเอเชียไม่รวมภูมิภาคอาเซียนอยู่ที่ 21.7% และภูมิภาคอาเซียน 2.43%
นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย ยังหวังว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จากออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดียและอังกฤษ